จกันตียา

พิกัด: 36°02′50″N 14°16′09″E / 36.04722°N 14.26917°E / 36.04722; 14.26917
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จกันตียา
ภาพถ่ายทางอากาศของจกันตียา
จกันตียาตั้งอยู่ในประเทศมอลตา
จกันตียา
ที่ตั้งจกันตียาในประเทศมอลตา
ที่ตั้งอิชชารา มอลตา
พิกัด36°02′50″N 14°16′09″E / 36.04722°N 14.26917°E / 36.04722; 14.26917
ประเภทวิหาร
ความเป็นมา
วัสดุหินปูน
สร้างประมาณ 3,600 ปีก่อน ค.ศ.
สมัยระยะจกันตียา
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ขุดค้นค.ศ. 1827 และ ค.ศ. 1933–1959
สภาพซากปรักหักพังที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี
ผู้ถือกรรมสิทธิ์รัฐบาลมอลตา
ผู้บริหารจัดการเฮริทิจมอลตา
การเปิดให้เข้าชมเปิด
เว็บไซต์เฮริทิจมอลตา
วิหารหินใหญ่แห่งมอลตา
(จกันตียา) *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
กำแพงรอบหมู่วิหาร มองจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ประเทศ มอลตา
ภูมิภาค **ยุโรปและอเมริกาเหนือ
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(iv)
อ้างอิง132
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน1980 (คณะกรรมการสมัยที่ 4)
เพิ่มเติม1992, 2015
พื้นที่0.715 เฮกตาร์ (1.77 เอเคอร์)
พื้นที่กันชน33 เฮกตาร์ (82 เอเคอร์)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

จกันตียา (มอลตา: Ġgantija; แปลว่า ยักขินี) คือหมู่วิหารหินใหญ่ 2 วิหารจากยุคหินใหม่ (ประมาณ 3,600–2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช) บนเกาะโกโซในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หมู่วิหารนี้เป็นมีความเก่าแก่ที่สุดในบรรดาวิหารหินใหญ่มอลตาและมีความเก่าแก่กว่าพีระมิดอียิปต์ นอกจากนี้ยังเป็นศาสนสถานที่มนุษย์สร้างขึ้นที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากเกอเบ็กลีเทแพในตุรกี ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนจกันตียาและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันเป็นแหล่งมรดกโลกโดยใช้ชื่อว่า "วิหารหินใหญ่แห่งมอลตา"

หมู่วิหารจกันตียาเคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ นักวิจัยพบว่าตุ๊กตาและรูปปั้นจำนวนมากที่พบในแหล่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับลัทธิความเชื่อดังกล่าว ตามตำนานพื้นบ้านของชาวเกาะโกโซ นางยักษ์ตนหนึ่งที่ไม่กินอะไรเลยนอกจากถั่วปากอ้าและน้ำผึ้งมีลูกกับชายคนหนึ่ง เธอแบกลูกไว้บนบ่าแล้วสร้างวิหารทั้งสองและใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสักการบูชา[1][2]

การออกแบบ[แก้]

หมู่วิหารจกันตียาตั้งอยู่ริมที่ราบสูงอิชชาราและหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โบราณสถานหินใหญ่แห่งนี้ครอบคลุมวิหาร 2 หลัง กับวิหารหลังที่ 3 ที่สร้างไม่เสร็จ มีเพียงส่วนหน้าอาคารเท่านั้นที่สร้างขึ้นก่อนจะถูกทิ้งร้างไป เช่นเดียวกับวิหารล่างในหมู่วิหารลิมนัยดราที่เกาะมอลตา จกันตียาหันหน้ารับแสงอาทิตย์ขึ้นในวันวิษุวัต ประกอบด้วยวิหารที่สร้างเคียงกัน และมีกำแพงล้อมอาณาเขต วิหารใต้มีขนาดใหญ่กว่าและเก่าแก่กว่า (มีอายุย้อนไปถึงประมาณ 3,600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) นอกจากนี้ยังได้รับการอนุรักษ์ไว้ดีกว่าวิหารเหนือ[3]

ผังของวิหารใต้ประกอบด้วยมุขโค้งขนาดใหญ่ 5 มุข จึงมีลักษณะเป็นรูปดอกจิกตามแบบฉบับ บล็อกหินที่หันหน้าเข้าด้านในเป็นตัวกำหนดรูปร่างของมุขโค้งแต่ละมุขโดยมีร่องรอยปูนปลาสเตอร์ที่ครั้งหนึ่งเคยเคลือบผนังที่ไม่เรียบไว้ให้เห็นระหว่างบล็อก[4] ส่วนช่องว่างระหว่างกำแพงมุขโค้งถูกถมด้วยเศษหินเศษปูน มุขโค้งต่าง ๆ เชื่อมถึงกันด้วยทางเดินตรงกลาง นักโบราณคดีเชื่อว่ามุขโค้งเหล่านี้เดิมทีมีหลังคาคลุม

ผลของความพยายามก่อสร้างจกันตียาถือเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าโบราณสถานแห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการประดิษฐ์ล้อและยังไม่มีเครื่องมือโลหะสำหรับชาวเกาะ บริเวณวิหารมีการค้นพบหินทรงกลมขนาดเล็กที่ใช้ในการขับเคลื่อนพาหนะขนบล็อกหินขนาดใหญ่มาสร้างวิหาร[ต้องการอ้างอิง]

จกันตียาหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกับแหล่งหินใหญ่อื่น ๆ ในมอลตา วิหารใต้มีความสูง 6 เมตร ที่ทางเข้าวิหารมีบล็อกหินขนาดใหญ่ที่ถูกเจาะเป็นหลุมเว้าเข้าไป นำไปสู่ข้อสมมุติฐานที่ว่าบริเวณนี้เป็นจุดประกอบพิธีชำระล้างก่อนที่ผู้มาสักการะจะเข้าไปในตัวอาคาร[5] ภายในมุขโค้งทั้งห้ามีแท่นบูชาจำนวนมากและนักวิจัยได้ค้นพบกระดูกสัตว์ในบริเวณดังกล่าว บ่งชี้ว่าพื้นที่นี้เคยใช้ในการประกอบพิธีบูชายัญสัตว์

การขุดค้นและการรับรอง[แก้]

คนในท้องถิ่นและนักเดินทางรับรู้ถึงการมีอยู่ของจกันตียามาช้านาน ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก่อนที่จะมีการขุดค้นใด ๆ เกิดขึ้น ฌ็อง-ปีแยร์ แวล ได้วาดแผนผังหมู่วิหารขึ้นจากความรู้ดังกล่าวซึ่งปรากฏว่ามีความแม่นยำสูง[6][7] หลังจากการขุดค้นทางโบราณคดีใน ค.ศ. 1827 ซากปรักหักพังจกันตียาก็ทรุดโทรมลง ต่อมาจกันตียามีชื่อรวมอยู่ในรายการโบราณวัตถุสถานมอลตา ค.ศ. 1925[8] ที่ดินบริเวณซากปรักหักพังเป็นของเอกชนจนกระทั่ง ค.ศ. 1933 เมื่อรัฐบาลมอลตาเวนคืนที่ดินเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ กรมพิพิธภัณฑ์ดำเนินงานทางโบราณคดีอย่างกว้างขวางใน ค.ศ. 1933, 1936, 1949, 1956–1957 และ 1958–1959 โดยมีเป้าหมายคือการเก็บกวาด การอนุรักษ์ และการวิจัยซากปรักหักพังและพื้นที่แวดล้อม[ต้องการอ้างอิง]

จกันตียาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกยูเนสโกใน ค.ศ. 1980 ต่อมาใน ค.ศ. 1992 คณะกรรมการแหล่งมรดกโลกตัดสินใจขยายพื้นที่แหล่งมรดกโลกให้ครอบคลุมหมู่วิหารหินขนาดใหญ่อีก 5 แห่งที่ตั้งอยู่ทางเกาะมอลตา และเปลี่ยนชื่อแหล่งมรดกโลก "จกันตียา" เป็น "วิหารหินใหญ่แห่งมอลตา"[9]

จกันตียาและบริเวณโดยรอบได้รับการบูรณะหรือฟื้นฟูในคริสต์ทศวรรษ 2000[10] มีการติดตั้งทางเดินที่มีน้ำหนักเบาภายในวิหารเมื่อ ค.ศ. 2011 เพื่อปกป้องพื้นดั้งเดิม[11] อุทยานมรดกได้รับการพัฒนาและเปิดให้เข้าชมใน ค.ศ. 2013[12]

การตีความร่วมสมัย[แก้]

แคทริน ราวน์ทรี นักมานุษยวิทยา ได้สำรวจว่า "วิหารยุคหินใหม่ของมอลตา" ซึ่งรวมถึงจกันตียา "ได้รับการตีความ โต้แย้ง และใช้ประโยชน์จากกลุ่มผลประโยชน์ท้องถิ่นและต่างถิ่นต่าง ๆ อย่างไร ได้แก่ ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปัญญาชน และนักชาตินิยมชาวมอลตา นักล่า นักโบราณคดี ศิลปิน และผู้มีส่วนร่วมในขบวนการบูชาเทวสตรีทั่วโลก"[13]

มีรายงานว่ามัคคุเทศก์เฉพาะทาง (เน้นชมสถานที่บูชาเทวสตรี) บางคนเรียกวิหาร 2 หลังที่จกันตียานี้ว่า "วิหารแม่ลูก"[14]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. De Soldanis, Gozo, Ancient and Modern, Religious and Profane, Book I, pp. 86–88
  2. "3600BC Ggantija Temples on Gozo – Millennium before the Pyramids or Stonehenge". Carnaval.com. สืบค้นเมื่อ 25 September 2014.
  3. Trump, Malta: An Archaeological Guide, p. 159
  4. Żammit, Mayrhofer, The Prehistoric Temples of Malta and Gozo, p. 152
  5. Żammit, Mayrhofer, The Prehistoric Temples of Malta and Gozo, p. 150
  6. Trump, Malta: An Archaeological Guide, p. 156
  7. "'Women in 18th Century Malta' to be launched at Ġgantija Temples". www.independent.com.mt.
  8. "Protection of Antiquities Regulations 21st November, 1932 Government Notice 402 of 1932, as Amended by Government Notices 127 of 1935 and 338 of 1939". Malta Environment and Planning Authority. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 April 2016.
  9. "World Heritage Centre – World Heritage List". สืบค้นเมื่อ 19 September 2008.
  10. Meilaq, Charles (7 November 2007). "Extensive works at Ggantija Temples". Times of Malta. สืบค้นเมื่อ 25 September 2014.
  11. "Enhanced visitor experience at Ggantija". Times of Malta. 23 September 2011. สืบค้นเมื่อ 25 September 2014.
  12. "Ġgantija Heritage Park project inaugurated". Times of Malta. 24 October 2013. สืบค้นเมื่อ 25 September 2014.
  13. Rountree, Kathryn (2002). "Re-inventing Malta's neolithic temples: Contemporary interpretations and agendas". History and Anthropology. 13: 31–51. doi:10.1080/02757200290002879. S2CID 154790343 – โดยทาง ResearchGate.
  14. "Goddess History by Marija Gimbutas". www.carnaval.com. สืบค้นเมื่อ 2021-03-28.