คลองเรือก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่เมือลพบุรีราวศตวรรษที่ 17 แสดงให้เห็นโครงสร้างเมืองเก่าที่มีลักษณะเป็นรูปคล้ายวงรี คลองเรือกจะอยู่บริเวณขวามือ
ภาพวาดวัดสันเปาโล

คลองเรือก, คลองท่อ หรือ คลองบางปี่ เป็นแนวคลองโบราณสายหนึ่งในย่านเขตตำบลทะเลชุบศร เทศบาลเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เดิมคลองมีขนาดกว้างขวาง เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญเพราะเชื่อมกับแม่น้ำลพบุรี แต่ปัจจุบันไม่สามารถใช้สำหรับสัญจรได้อีกต่อไป เพราะคลองแคบลง เนื่องจากการถมคลองเพื่อสร้างสนามม้าบริเวณข้างค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[1]

ประวัติ[แก้]

คลองเรือกเป็นส่วนหนึ่งของคูเมืองและกำแพงเมืองชั้นในของเมืองลพบุรี[2] ถือเป็นคลองสายสำคัญของเมืองลพบุรีเพราะเดิมเป็นที่ตั้งของตลาด มีด่านเก็บภาษีเรือสินค้าซึ่งมีลักษณะเป็นสะพานข้ามคลองสามแห่ง ปัจจุบันเหลือร่องรอยอยู่บริเวณชุมชนราชมนูฝั่งตะวันออกของโรงเรียนพิบูลวิทยาลัยตรงข้ามกับค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[3]

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้มีการสร้างป้อมปราการตามแนวคลองเรือกโดยเดอ ลา มาร์ วิศวกรฝรั่งเศส ได้แก่ ป้อมชัยชนะสงคราม และป้อมท่าโพธิ์ นอกจากนี้ยังมีการสร้างป้อมเล็กปลายแหลม ใช้หินเรียงเป็นชั้น ๆ จำนวนสามป้อม แห่งหนึ่งคือป้อมหินริมคลองเรือก หลังวัดพระยาออกในโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย และอีกป้อมหนึ่งที่ยังเหลือร่องรอยคือป้อมทางทิศใต้ของประตูชัย[3] และโปรดให้ขุดดินจากคูเมืองขึ้นมาถมเป็นกำแพงในลักษณะคูเมืองอยู่ด้านนอก กำแพงเมืองอยู่ชั้นใน โดยทางทิศตะวันออกได้ถมกำแพงเมืองไว้สามชั้น ขณะที่ทำแพงเมืองทางทิศเหนือและทิศใต้มีเพียงกำแพงชั้นเดียว[2] นอกจากนี้คลองเรือกยังได้รับการวางระบบชลประทานอย่างดี ดังจะเห็นได้จากคูเมืองนี้มีการสร้างประตูช่องกุดและประตูท่อ ซึ่งเป็นประตูน้ำ ทำหน้าที่กั้นน้ำและระบายน้ำระหว่างแม่น้ำลพบุรีกับคลองเรือก เพื่อมิให้ระดับน้ำในคลองต่ำหรือสูงเกินไปจนสร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎร โดยเฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลาก[4]

ในอดีตหากพ้นแนวคลองเรือกไปก็จะเป็นพื้นที่เรือกสวนไร่นา[3] ต่อมายุคหลังประชาชนได้เข้ามาเพาะปลูกสวนละมุดริมคลองเรือกเพราะให้ผลดก และปลูกลามไปถึงข้างพระนารายณ์ราชนิเวศน์ แต่พอมาถึงยุคจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้มีการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างค่ายทหาร พื้นที่เรือกสวนจึงหายไป คลองที่เคยกว้างก็ถูกถมเพื่อสร้างสนามม้าบริเวณข้างค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชาวบ้านจึงเลิกใช้คลองเรือกสำหรับสัญจรในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา[1]

กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนให้คลองเรือกเป็นโบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 24 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479[2]

ลักษณะ[แก้]

คลองเรือกมีจุดเริ่มต้นที่ประตูน้ำช่องกุดใกล้ป้อมชัยชนะสงครามไหลเลาะออกไปทางทิศเหนือระหว่างโรงเรียนพิบูลวิทยาลัยกับค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ออกทางด้านข้างวัดตองปุ แล้วไหลไปทางตะวันตกผ่านหน้าวัดป่าธรรมโสภณ ทะลุออกไปยังแม่น้ำลพบุรีบริเวณป้อมท่าโพธิ์และวัดมณีชลขัณฑ์[1] คลองนี้มีชื่ออื่น ๆ คือ หากไหลผ่านบริเวณป้อมชัยชนะสงครามจะเรียกว่า "คลองท่อ" และบริเวณที่ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำลพบุรีจะเรียกว่า "คลองบางปี่"[2] โดยทั่วไปเรียก "คลองเรือก"

แนวคลองเรือกเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหรือโบราณสถานต่าง ๆ ได้แก่ ป้อมชัยชนะสงคราม, ประตูช่องกุด, วัดสันเปาโล. วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี, โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย, ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, วัดตองปุ, วัดป่าธรรมโสภณ, ประตูท่อ, ป้อมท่าโพธิ์ และวัดมณีชลขัณฑ์ ตามลำดับ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 สุดารา สุจฉายา (บรรณาธิการ). ลพบุรี. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2542, หน้า 268-270
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "คลองท่อ". การพัฒนาจัดการความรู้โบราณสถานจังหวัดลพบุรี. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 3.2 ปรีดี พิศภูมิวิถี. "เมกกะโปรเจกต์ (Mega Project) ของวิศวกรฝรั่งเศสที่ลพบุรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช". สรรพศาสตร์ สรรพศิลป์ ถิ่นลพบุรี. ลพบุรี : คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีและภาคี. 2559, หน้า 160
  4. "ประตูท่อ". การพัฒนาจัดการความรู้โบราณสถานจังหวัดลพบุรี. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)