คลองบางเชือกหนัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลองบางเชือกหนังบริเวณวัดทองบางเชือกหนัง
คลองบางเชือกหนังช่วงตัดกับคลองบางขุนศรี

คลองบางเชือกหนัง เป็นคลองในกรุงเทพมหานคร ผ่านเขตภาษีเจริญและเขตบางแค มีจุดเริ่มต้นอยู่จากวัดเกาะ ไปสิ้นสุดที่คลองทวีวัฒนา คลองมีความยาว 12 กิโลเมตร ความกว้างเฉลี่ยประมาณ 8–15 เมตร ระดับท้องคลองความลึกเฉลี่ย 2 เมตร คลองสายนี้อยู่ในการดูแลของสำนักการระบายน้ำกรุงเทพ

ประวัติ[แก้]

คำว่าบางเชือกหนัง บ้างว่า แต่เดิมชาวบ้านนิยมใช้เชือกที่ทำจากหนังวัวหนังควาย ขณะที่สุจิตต์ วงษ์เทศ ระบุว่ามาจากภาษาเขมรว่า บางฉนัง (ឆ្នាំង) หมายถึง "บางหม้อ" หรือ "บางปั้นหม้อ"[1]

ในอดีตคลองนี้น่าจะเป็นคลองธรรมชาติที่แยกย่อยมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม (คลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน) เนื่องจากคลองมีลักษณะคดเคี้ยวไปมาในช่วงต้นคลอง คลองบางเชือกหนังปรากฏชื่ออยู่ใน กำสรวลสมุทร ในชื่อชุมชนบางฉนัง[2] น่าเชื่อว่าชุมชนนี้มีอาชีพปั้นหม้อขาย[3]

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวจีนมาตั้งถิ่นฐานริมสองฝั่งคลองบางเชือกหนังตอนกลาง อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อใดไม่ทราบแน่ชัด แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏคริสตชนจีนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวน ปลูกหมาก พลู มะพร้าว ฯลฯ และค้าขาย ได้รวมกลุ่มกันและสร้างโรงสวดเล็ก ๆ ชื่อว่า วัดพระตรีเอกานุภาพ[4]

ปัจจุบันคลองบางเชือกหนังมีการเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำ โดยเฉพาะในวันหยุด จะมีเรือให้บริการและเชื่อมไปยังคลองลัดมะยมได้[5]

การใช้ที่ดินริมน้ำ[แก้]

การใช้ที่ดินริมน้ำในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น การใช้ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย การใช้ที่ดินเกษตรกรรม การใช้ที่ดินเพื่อการศึกษาและศาสนสถาน และการใช้ที่ดินเพื่อสันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ

จำนวนบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่อาศัยอยู่ริมคลองมีทั้งสิ้น 187 ครัวเรือน ในช่วงต้นคลองที่ต่อเนื่องจากคลองมอญมีประชาชนอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง เช่น บริเวณวัดปากน้ำฝั่งเหนือและวัดปากน้ำฝั่งใต้ไปจนถึงวัดพิกุล ถัดจากนั้นประชาชนอยู่อาศัยค่อนข้างเบาบาง ผู้ที่อยู่อาศัยริมคลองสืบเชื้อสายและการถือครองที่ดินจากบรรพบุรุษที่ประกอบอาชีพทำสวน ส่วนการประกอบอาชีพการทำสวนแม้จะน้อยลง แต่ก็ยังเห็นบ้าง ในอดีตพบว่ามีการปลูกขนุน ส้ม มะพร้าว มะม่วง หมาก พลู เป็นต้น ปัจจุบันชาวสวนส่วนใหญ่ปลูกกล้วยไม้ สวนผักและไม้ตัดดอก เช่น เตย ซ่อนกลิ่น กระดังงา ผักบุ้ง คะน้า และเป็นต้น[6]

วัดที่ตั้งอยู่ริมคลอง ได้แก่ วัดเกาะ วัดทองบางเชือกหนัง วัดกำแพง วัดพิกุล วัดตะล่อมและวัดมะพร้าวเตี้ย ในที่ธรณีสงฆ์ของแต่ละวัดมีโรงเรียน

อ้างอิง[แก้]

  1. "บางเชือกหนัง, บางจาก (ในคลองบางหลวง) กรุงเทพฯ เก่าสุด ก่อนเมืองบางกอก". มติชน.
  2. วราภรณ์ มนต์ไตรเวศย์. "เรือยาวคลองบางเชือกหนัง". วารสารภาษาและวัฒนธรรม.
  3. "กว่า 500 ปีก่อน ชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ อยู่ที่ไหนบ้าง ?". ศิลปวัฒนธรรม.
  4. "ยานตลิ่งชัน : ประวัติ ศาสตร์ พัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลง" (PDF).
  5. "การสำรวจคลองบางเชือกหนัง". สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-22. สืบค้นเมื่อ 2021-12-22.
  6. ธีระศักดิ์ ลอยศักดิ์. "การวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวและชุมชนคลองบางเชือกหนัง กรุงเทพมหานคร" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.