ครูบาอภิชัยขาวปี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ครูบาเจ้าอภิชัย

(จำปี อภิชโย)
ชื่ออื่นครูบาขาวปี
ส่วนบุคคล
เกิด17 เมษายน พ.ศ. 2432
มรณภาพ3 มีนาคม พ.ศ. 2520 (87 ปี)
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดพระพุทธบาทผาหนาม จังหวัดลำพูน

ครูบาอภิชัย นามเดิม จำปี เป็นพระภิกษุสัทธิวิหาริกของครูบาศรีวิชัย ภายหลังถูกบังคับให้ลาสิกขาบท จึงเปลี่ยนมาครองจีวรสีขาว ประชาชนจึงเรียกว่า ครูบาขาวปี[1]

ประวัติ[แก้]

ชาติกำเนิด[แก้]

ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี เดิมชื่อ "จำปี" เกิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2432 เป็นบุตรของพ่อเม่า และแม่จันตา ท่านกำพร้าบิดาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ต่อมาเมื่ออายุได้ 16 ปี มารดาได้นำไปฝากให้เป็นศิษย์ของครูบาศรีวิชัย[2] ณ วัดบ้านปาง ท่านจึงได้เริ่มเรียนหนังสือ โดยท่านเป็นผู้มีนิสัยขยัน เล่าเรียนอย่างจริงจัง อ่อนโยน ว่านอนสอนง่าย นอบน้อม ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงมักใช้เวลาที่ท่านรับใช้ใกล้ชิดอบรมกล่อมเกลา ถ่ายทอดความรู้ให้ด้วยความเมตตา จนท่านครูบาอภิชัยมีความรู้เป็นลำดับ สามารถอ่านออกเขียนได้ และมีทักษะในการสวดมนต์ได้ดี

นอกจากนี้ในงานก่อสร้าง ท่านก็มิได้นิ่งดูดาย ได้หมั่นสังเกตพิจารณาในการช่างและเข้าไปช่วยทำงานนั้นๆ อย่างตั้งอกตั้งใจ จนมีความรู้ ความชำนาญในการช่าง

เมื่อถึงเวลาอันสมควร ท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุได้ 22 ปี ได้รับฉายาว่า "อภิชโย"

ต้องอธิกรณ์[แก้]

เมื่อถึงพรรษาที่ 13 ท่านถูกกลั่นแกล้ง และถูกจับดำเนินคดีในข้อหาหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร จนต้องถูกบังคับให้สึกและครองผ้าขาวเป็นครั้งแรก ในขณะที่ท่านติดคุกท่านได้ริเริ่มสร้างโรงพยาบาลลำพูนจนแล้วเสร็จ เมื่อออกจากคุกแล้ว ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ทำการอุปสมบทให้แก่ท่านเป็นครั้งที่สอง เมื่อบวชแล้วท่านได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ไปบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ ต่อมาท่านได้ถูกกลั่นแกล้งกล่าวหาว่าเรี่ยไรเงินสร้างโบสถ์ จนถูกจับสึกนุ่งผ้าขาวอีกเป็นครั้งที่สอง

ช่วยครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ[แก้]

เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ท่านได้พาชาวกะเหรี่ยง 500 คน ไปช่วยทำถนนจนแล้วเสร็จ และได้กลับมาพำนักกับครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ วัดพระสิงห์ ต่อมาได้มีผู้ขอร้องให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยทำการอุปสมบทให้แก่ท่านเพื่อเป็นภิกษุอีกครั้งหนึ่ง ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงยินยอมอุปสมบทให้ ณ วัดศรีโสดา ซึ่งในการอุปสมบทครั้งนี้เป็นเหตุให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องอธิกรณ์อีกครั้ง ครูบาเจ้าอภิชัยจึงต้องสึกนุ่งผ้าขาวอีกครั้ง และได้กลับไปที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะ ถึงแม้ครูบาเจ้าอภิชัยจะนุ่งผ้าขาว แต่ท่านก็มีวัตรปฏิบัติและถือศีลเหมือนพระภิกษุทุกประการ วัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดของท่านทำให้มีศรัทธาสาธุชนเลื่อมใส เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพแล้ว ท่านจึงเปรียบเสมือนทายาทธรรมที่มีผู้มาขอความเมตตาไปเป็นประธานในการบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ

ต่อมาครูบาเจ้าอภิชัยได้ไปบูรณะวัดพระพุทธบาทผาหนาม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และได้จำพรรษาอยู่ที่นั่นมาโดยตลอด ขณะเดียวกันท่านก็ได้เป็นประธานในการบูรณะวัดวาอารามสร้างโรงเรียน และโรงพยาบาล อีกหลายแห่ง อาทิเช่น โรงเรียนบ้านสามหลัง(อภิชัยบูรณะ) อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่

มรณภาพ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2514 คณะศรัทธาวัดสันทุ่งแฮ่ม จังหวัดลำปาง ได้มานิมนต์ท่านไปนั่งเป็นประธานในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ต่อมาคณะศรัทธาวัดต้นธงชัย จังหวัดสุโขทัย มานิมนต์ท่านเพื่อขอความเมตตาไปเป็นประธานในการสร้างพระวิหาร ท่านเดินทางไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2520 และเมื่อไปถึงวัดท่าต้นธงชัยได้เพียงวันเดียว ท่านก็ได้มรณภาพในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2520 โดยอาการสงบ

รูปภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
บรรณานุกรม
  • สมาคมชาวลำพูน. ครูบาเจ้าศรีวิชัย เล่ม ๑ : สิริชีวประวัติ วัตรปฏิบัติ หลักธรรมคำสอน และมงคลบารมี. กรุงเทพฯ : พี.พี.เค.การพิมพ์, 2561. 470 หน้า. ISBN 978-616-93082-0-1
  • สุธานี จันทร์รัตนสิริ. ชีวประวัติครูบาเจ้าอภิชัย (ขาวปี). พิมพ์ครั้งที่ 5, ลำพูน : ณัฐพลการพิมพ์, 2552. 35 หน้า.