ขี้ผึ้งห่ออาหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขี้ผึ้งห่ออาหาร 17.5 ซม. x 20 ซม

ขี้ผึ้งห่ออาหาร หรือ ไขผึ้งห่ออาหาร (อังกฤษ: Beeswax wrap) เป็นวัสดุห่ออาหารที่ทำจากผ้าเคลือบด้วยขี้ผึ้ง โดยส่วนใหญ่ทำจากผ้าฝ้าย[1] ที่เคลือบด้วยส่วนผสมของขี้ผึ้งเกรดอาหาร, ชันสน, น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันโฮโฮบา (โจโจบา) ขี้ผึ้งห่ออาหารสามารถจัดรูปทรงได้ง่าย ยึดตัวและแนบเข้ารูปพอดีกับภาชนะได้ สามารถห่อครอบภาชนะหรือห่อผนึกบรรจุภัณฑ์อาหาร ขี้ผึ้งห่ออาหารยังเป็นทางเลือกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากใช้ซ้ำได้ ยั่งยืนกว่าการใช้ฟิล์มพลาสติกห่อของหรือพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอื่น ๆ [2] ซึ่งช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น มลภาวะขยะพลาสติก และขยะอาหาร

การใช้งานหลักของขี้ผึ้งห่ออาหาร คือ การถนอมอาหาร เนื่องจากมีการระบายอากาศที่ดี ซึ่งช่วยให้อาหารคงความสดได้นานขึ้นและลดการสูญเสียอาหาร หลังจากใช้งานทุกครั้งสามารถล้างขี้ผึ้งห่ออาหาร ผึ่งลมให้แห้ง และนำกลับมาใช้ได้ โดยปกติขี้ผึ้งห่ออาหารมักจะสูญเสียประสิทธิภาพในการยึดเกาะเมื่อผ่านการใช้งานประมาณหนึ่งปี เมื่อแผ่นขี้ผึ้งห่ออาหารสูญเสียการยึดเกาะก็สามารถนำไปหมักทำเป็นปุ๋ยได้ ขี้ผึ้งห่ออาหารได้รับการวิจารณ์ว่ามีราคาสูงในเชิงพาณิชย์ และต้องมีการดูแลรักษาในระดับสูงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับทางเลือกพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว[3]

การใช้[แก้]

ใช้ขี้ผึ้งห่ออาหารผนึกปิดแทนฝาภาชนะ

ใช้ขี้ผึ้งห่ออาหารโดยจัดรูปทรง และห่อครอบบรรจุภัณฑ์อาหาร ปากภาชนะหรือถ้วยชาม และอาจต้องมีการนวดก่อนการใช้งาน ใช้ความร้อนจากอุ้งมือของเรากดให้ผ้าแรปแนบไปกับถ้วยชามและแนบไปตามรอยยับของผืนผ้ารอบ ๆ ภาชนะที่ห่อ ความอบอุ่นจากมือของคนจะช่วยทำให้ขี้ผึ้งอ่อนตัว และทำให้ขี้ผึ้งห่ออาหารอ่อนนิ่มพอที่จะผนึกรอบภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์อาหาร

ขี้ผึ้งห่ออาหารนี้อาจไม่เหมาะสำหรับห่ออาหารโดยตรง โดยเฉพาะอาหารเนื้อสด เช่น เนื้อดิบ ปลาดิบ หรืออาหารเปียกอื่น ๆ เช่น แตงโม อาหารสดเปียกเหล่านี้สามารถวางลงในชามหรือภาชนะแล้วห่อด้วยขี้ผึ้งห่ออาหารได้[4] ขี้ผึ้งห่ออาหารยังใช้ในทางเลือกอื่น ๆ ได้แก่ ในแจกันดอกไม้ หรือครอบแก้วน้ำ[5]

การดูแลรักษา[แก้]

อายุการใช้งานของขี้ผึ้งห่ออาหารขึ้นอยู่กับความถี่ในการใช้ การล้างให้สะอาด และการดูแลรักษาที่ดีพอ ซึ่งอาจมีอายุใช้งานได้ถึง 1–3 ปีหรือนำไปชุบเคลือบขี้ผึ้งซ้ำใหม่ได้

โดยปกติสามารถเช็ดล้างขี้ผึ้งห่ออาหารด้วยน้ำและผึ่งลมให้แห้งหลังจากใช้แต่ละครั้ง หากผ้าห่อตัวต้องการการทำความสะอาดอย่างละเอียดมากขึ้นสามารถใช้สบู่ น้ำเย็นล้าง อาจใช้ฟองน้ำทำความสะอาดเบา ๆ ได้ และแขวนผึ่งลมให้แห้ง รอยแตกในขี้ผึ้งห่ออาหารสามารถแก้ไขได้โดยวางบนถาดอบกลางแดดหรือในเตาอบและอุ่นโดยใช้ไดร์เป่าผม กระบวนการนี้เรียกว่า 'การอุ่น' และปล่อยให้ขี้ผึ้งละลายและปั้นกลับเข้าด้วยกัน นี่เป็นการปิดผนึกรอยแตกที่เริ่มก่อตัว

การกำจัด[แก้]

เมื่อห่อหุ้มขี้ผึ้งสูญเสียการยึดเกาะและไม่สามารถใช้ผนึกภาชนะได้อีกต่อไป ก็สามารถนำไปหมักเพื่อย่อยสลายทางชีวภาพได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ เช่น ใช้ในเป็นเชื้อไฟที่มีประสิทธิภาพ[4]

การผลิต[แก้]

ขี้ผึ้งห่ออาหารทำจากผ้าฝ้ายบางที่เคลืิอบด้วยส่วนผสมของ ขี้ผึ้งเกรดอาหาร, ชันสน (rosin), น้ำมันมะพร้าว, และน้ำมันโฮโฮบา (jojobar oil) ผ้าทำหน้าเป็นเส้นใยเสริมแรงช่วยการคงรูปและรับแรงดึงไม่ให้ขี้ผึ้งแตกหรือฉีกขาดได้ง่าย การชุบหรือเคลือบขี้ผึ้งช่วยให้ผ้ากันน้ำแต่ระบายอากาศได้ ขี้ผึ้งนี้เป็นขี้ผึ้งธรรมชาติโดยเป็นส่วนที่เหลือของรังผึ้งหลังสกัดน้ำผึ้งออกแล้ว ทำความสะอาดในหม้อนึ่งเพื่อขจัดเศษปฏิกูลของผึ้ง และเทลงในแม่พิมพ์หล่อเป็นแท่งเพื่อใช้ในภายหลัง สำหรับการผลิตน้ำผึ้งทุกๆ 100 กรัมจะได้ขี้ผึ้งประมาณ 1 หรือ 2 กรัม[6] น้ำมันเป็นตัวช่วยลดการแข็งตัวของขี้ผึ้งไม่แห้งแข็งเกินไป ชันสนเพื่อให้เกิดความเหนียวในการยึดเกาะภาชนะ

การผลิตแบบครัวเรือน[แก้]

ขี้ผึ้งห่ออาหารสามารถทำในแบบพื้นบ้าน (ทำใช้เองภายในบ้าน) ได้ด้วยแผ่นผ้าฝ้ายและส่วนผสมของขี้ผึ้ง ชันสน และน้ำมัน โดยตัดผ้าฝ้ายเป็นรูปทรงและขนาดที่ต้องการ และขลิบขอบของผ้าให้เรียบร้อยไม่รุ่ย หลอมขี้ผึ้งและชันสน ผสมกับน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันโฮโฮบา[5] จากนั้นทาเคลือบทั้งสองด้านของผ้าฝ้ายด้วยส่วยผสมที่หลอมนั้นเป็นชั้นบาง ๆ ด้วยแปรง และตรวจการกระจายอย่างสม่ำเสมอตัวของขี้ผึ้งผสม ให้ปกคลุมทั้งผืนตลอดถึงขอบของผ้าฝ้าย จากนั้นนำผ้าฝ้ายที่เคลือบแล้วปิดด้วยกระดาษไขแล้วรีด (ด้วยเตารีดผ้า) หรือวางผ้าไว้บนถาดอบและอบในเตาอบด้วยความร้อนประมาณ 93˚ซ[7] เพื่อให้ขี้ผึ้งผสมหลอมซึมซาบไปทั่วในทุกอณูของเนื้อผ้า แล้วนำไปผึ่งให้แห้ง

การผลิตเชิงพาณิชย์[แก้]

การผลิตขี้ผึ้งห่ออาหารจำนวนมากในโรงงานเชิงพาณิชย์ ยังไม่มีการพัฒนาถึงระดับอุตสาหกรรมเนื่องจากวิสัยทัศน์ของบริษัทขี้ผึ้งห่ออาหารหลายแห่ง ยังต้องการเป็นเพียงการผลิตและใช้ในระดับชุมชน [8] บางบริษัทได้เริ่มใช้เครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อเพิ่มสเกลการผลิต

ในปี 2018 บริษัทเคมบริดจ์คอนซัลแทนซ์ (Cambridge Consultants) ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของสหราชอาณาจักร ร่วมมือกับบีบีแรปส์ (BeeBee Wraps) ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพในสหราชอาณาจักร ได้ออกแบบกระบวนการผลิตที่ช่วยให้การผลิตเพิ่มขึ้นในขณะที่ยังคงรักษาแนวทางในการดำเนินธุรกิจซึ่งเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ[8]

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม[แก้]

มลภาวะจากพลาสติก[แก้]

พลาสติกห่ออาหาร และวัสดุห่ออาหารรที่ใช้ครั้งเดียวอื่น ๆ (ที่รีไซเคิลไม่ได้) จะไปสิ้นสุดลงในหลุมฝังกลบขยะ (บ่อขยะ) หรือลงสู่ทะเลและมหาสมุทร ห่อพลาสติกจะใช้เวลาหลายปีในการย่อยสลายและละลายสารเคมีบางส่วนลงในทะเล และบางส่วนระเหยสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสัตว์ในธรรมชาติจากการติดรัด (เช่นแมวน้ำ หรือเต่าที่มีเชือกหรือถุงพลาสติกพันติดรอบคอ) การทับถม หรือกินเข้าไป [9]

ขี้ผึ้งห่ออาหาร จึงอาจเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับการช่วยลดขยะที่ย่อยสลายยาก และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ดีกว่าการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงซิปล็อค และฟิล์มพลาสติกห่ออาหาร ขี้ผึ้งห่ออาหารมีศักยภาพในการช่วยลดขยะที่ย่อยสลายยาก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากปัญหามลภาวะจากขยะพลาสติก [10]

การผลิตและการบริโภคพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของ มูลนิธิเอลเลน แมคอาเธอร์ (Ellen McArthur Foundation) ระบุว่ามีการผลิตพลาสติก 78 ล้านตันในปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปี 2555 และร้อยละ 40 ของจำนวนนี้ถูกฝังกลบ พลาสติกมากกว่า 8 ล้านตันระบายออกสู่มหาสมุทรต่าง ๆ ในแต่ละปี[11] ที่สำคัญคือ แสงแดดและการเคลื่อนไหวของน้ำทะเลอาจทำให้พลาสติกแตกตัวเป็น ไมโครพลาสติก ซึ่งการกระจายตัวของพลาสติกเหล่านี้ในมหาสมุทรส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและชีวิตมนุษย์เองด้วย [12]

นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา แนวโน้มสู่ความยั่งยืนได้นำไปสู่การตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และการปฏิบัติที่ไม่ยั่งยืนอื่น ๆ ที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อม [10] บริษัทต่าง ๆ เริ่มตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และได้จัดสรรทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น บริษัท อื่น ๆ ได้เกิดขึ้นที่มุ่งเน้นการลดการใช้พลาสติกเป็นศูนย์ ขณะเดียวจัดหาทางเลือกที่ยั่งยืนแทนการใช้พลาสติก

การทิ้งอาหาร[แก้]

ประมาณร้อยละ 33-50 ของอาหารทั้งหมดที่ผลิตทั่วโลกถูกทิ้งโดยไม่ได้กิน (เช่น การจัดการทิ้งของหมดอายุตามคำแนะนำ การปอกส่วนที่ดูไม่น่ากินทิ้ง การกินเหลือ การประกอบอาหารและการจัดเลี้ยงอาหารมากเกินจำเป็น) [13] ความสูญเปล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (30 ล้านล้านบาท) ต่อปี เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหารต้องใช้ทรัพยากรมาก ที่มาพร้อมกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า (ขยายพื้นที่ในการผลิตวัตถุดิบอาหาร) มลพิษทางน้ำและอากาศ (จากการใช้น้ำในการผลิตการใช้เครื่องจักร และเคมีที่มากเกิน) และการปล่อยแก๊สเรือนกระจก [14] ในห่วงโซ่การผลิตและการบริโภคอาหาร "ครัวเรือน" เป็นส่วนที่สร้างขยะอาหารที่ใหญ่ที่สุด ในโลกตะวันตกขยะอาหารกว่าร้อยละ 50 เกิดขึ้นภายในบ้าน ในปี 2018 ชาเนส, โดเบอร์นิก และเกอเซท (Schanes, Dobernig และ Gözet) ได้ทำการทบทวนแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับขยะอาหารในครัวเรือนอย่างเป็นระบบและได้ข้อสรุปว่าครัวเรือนต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างความตั้งใจที่ดีในการป้องกันไม่ให้ขยะอาหารและความชอบในเรื่องรสชาติความสดความสะอาดและความปลอดภัยของอาหาร มีการทิ้งอาหารหรืออาหารเหลือทิ้งจึงมาพร้อมกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ

การใช้งานหลักของขี้ผึ้งห่ออาหารคือ การถนอมอาหารภายในครัวเรือน ประมาณว่าอาหารประมาณ 1.3 พันล้านตันต่อปี ถูกทิ้ง ซึ่งสร้างทั้งความสูญเสียทางการเงิน และก่อให้เกิดอันตรายอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ[15] ขี้ผึ้งห่ออาหารอาจเป็นส่วนหนึ่งในการลดขยะอาหารได้ เนื่องจากทำจากวัสดุที่ระบายอากาศได้ซึ่งช่วยให้อาหารคงความสดได้นานขึ้น ขี้ผึ้งห่ออาหารมีศักยภาพในการลดขยะอาหาร จากคุณสมบัติในการต่อต้านจุลินทรีย์ที่อาจป้องกันการเน่าเสียของผลิตภัณฑ์อาหาร[1]

ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ของขี้ผึ้งห่ออาหาร[แก้]

การเน่าเสียของผลิตภัณฑ์อาหารที่เกิดจากจุลินทรีย์เป็นปัญหาสำหรับหลายภาคส่วนในอุตสาหกรรมอาหาร[1] อาหารประมาณร้อยละ 25 ของโลกสูญเสียไปเนื่องจากกิจกรรมของจุลินทรีย์ การเน่าเสียของอาหารดังกล่าวส่งผลให้สูญเสียอาหาร เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะสมสำหรับการบริโภค ทำให้เกิดความสูญเสียทางการเงินจำนวนมาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีล่าสุดนำไปสู่การพัฒนาเทคนิคที่กำหนดเป้าหมายเพื่อป้องกันกิจกรร มและการเติบโตของจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในอาหาร

คุณสมบัติในการต่อต้านจุลินทรีย์ของห่ออาหารที่มีขี้ผึ้งเป็นผลมาจากกาวชันผึ้ง (porpolis) [1] กาวชันผึ้งเป็นวัสดุคล้ายเรซินที่ทำจากผึ้งจากตาต้นไม้

การศึกษาในปี 2560 ที่จัดทำโดย Pinto, Pankowski และ Nano ใน วารสารจุลชีววิทยาเทคโนโลยีชีวภาพและวิทยาศาสตร์การอาหาร พบว่า การห่อด้วยขี้ผึ้งสามารถป้องกันการทำงานของจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในอาหารได้ โดยการยับยั้งจำนวนเซลล์ที่ทำงานได้ของแบคทีเรีย ซึ่งหมายความว่าการห่อด้วยขี้ผึ้งสามารถจำกัดการแพร่กระจายของเชื้อโรคแบคทีเรียที่มากับอาหารและมีส่วนช่วยในการป้องกันการเน่าเสียของอาหาร Pinto และคณะ ได้ทำการตรวจสอบฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ของขี้ผึ้งห่ออาหารต่อแบคทีเรียเชื้อราและไวรัส ที่เป็นเชื้อที่เกิดจากอาหารพบได้ในแต่ละกลุ่มเหล่านี้ [1]

ในการตรวจจับฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของขี้ผึ้งห่ออาหาร โดยการบ่มขี้ผึ้งห่ออาหารด้วยเซลล์แบคทีเรียในของเหลว พวกเขาใช้เชื้อ Salmonella enteritidis ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบและ Staphylococcus aureus ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมบวก และเป็นสาเหตุทั่วไปของการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร แบคทีเรียทั้งสองได้สัมผัสกับขี้ผึ้งห่อ พบว่าการฟักไข่ด้วยขี้ผึ้งห่ออาหารทำให้จำนวนเซลล์และการทำงานของแบคทีเรียลดลง [1]

ในการตรวจจับฤทธิ์ต้านยีสต์ของขี้ผึ้งห่ออาหาร ด้วย Saccharomyces cerevsiae สองสายพันธุ์ โดยรับการบ่มขี้ผึ้งห่ออาหารโดยใช้ของเหลว ในขั้นตอนการบ่มของเหลวจำนวนเซลล์ลดลงเล็กน้อย การลดลงนี้ไม่มากพอที่จะสรุปได้ว่าการห่อด้วยขี้ผึ้งช่วยลดการทำงานของยีสต์ [1]

เพื่อตรวจสอบความสามารถในการต่อต้านไวรัสของ Bacteriophages ขี้ผึ้งห่ออาหาร M13 และ P1 ได้รับการบ่มในขั้นตอนของเหลว ผลการศึกษาพบว่าจำนวนอนุภาค phage ที่ใช้งานลดลง การลดลงนี้ไม่มากพอที่จะสรุปได้ว่าการห่อหุ้มขี้ผึ้งมีความสามารถในการยับยั้งอนุภาคของไวรัส [1]

ปินโต, พานโควสกี และนาโน (Pinto, Pankowski และ Nano) สรุปได้ว่าการห่อด้วยขี้ผึ้งมีคุณสมบัติในการต่อต้านแบคทีเรีย แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่ามีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อรา ยีสต์ หรือการต้านไวรัส [1]

การวิจารณ์ต่อขี้ผึ้งห่ออาหาร[แก้]

ขี้ผึ้งห่ออาหารได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบผู้บริโภค การแก้ไขปัญหาพลาสติกนี้ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล การวัดบุคคลในแง่ของความรับผิดชอบ จะไม่สนใจว่าใครและอะไรที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดและใครที่เสี่ยงต่ออันตรายต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตมากที่สุด[3] ห่อหุ้มขี้ผึ้งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีราคาสูงเมื่อขายในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเช่น ฟิล์มห่ออาหาร และถุงสแน็ปล็อค เมื่อเปรียบเทียบกับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวการห่อด้วยขี้ผึ้งจำเป็นต้องได้รับการบำรุงรักษามากขึ้น (เพื่อให้แน่ใจว่ายังคงสะอาดและปลอดภัยในการใช้งานและอยู่ได้นานขึ้น)[4] ขี้ผึ้งห่ออาหารอาจไม่ยืดหยุ่นได้เพียงพอที่จะได้รับการประกันคุณภาพที่สมบูรณ์ในการถนอมอาหารให้สดเสมอ[16]

ประโยชน์อื่น[แก้]

นอกจากการใช้ห่อภาชนะเพื่อถนอมอาหาร ยังอาจใช้ห่อมีดหรือของมีคมในกรณีการเดินทางหรือการส่งพัสดุ, ห่อสบู่ก้อน, ใช้ปิดฝาแก้วน้ำป้องกันฝุ่นและสิ่งสกปรก, พับมุมทั้งสี่แล้วใช้เป็นถ้วยอาหารขบเคี้ยว หรือแม้แต่ใช้ความหนึบของขี้ผึ้งช่วยในการเปิดฝาขวดโหลที่เปิดด้วยมือเปล่าไม่ออก[17]

ข้อจำกัด[แก้]

มีข้อจำกัดคือไม่สามารถห่อของร้อนได้ในทันที และต้องเก็บให้ห่างจากแสงแดดโดยตรง

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 Pinto, Crystal T.; Pankowski, Jarosław A.; Nano, Francis E. (2017-10-01). "The Anti-Microbial Effect of Food Wrap Containing Beeswax Products". Journal of Microbiology, Biotechnology and Food Sciences. 7 (2): 145–148. doi:10.15414/jmbfs.2017.7.2.145-148. ISSN 1338-5178.
  2. "Keeping plastic waste under wraps". @GI_weltweit. สืบค้นเมื่อ 2019-05-07.
  3. 3.0 3.1 Pouton, Ella Plumanns (2018-08-14). "Buying reusable coffee cups won't solve our environmental problems". Crikey. สืบค้นเมื่อ 2019-05-07.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Use Beeswax Wraps to Reduce your Single Use Plastic Consumption". Upcycle Studio. 2018-01-08. สืบค้นเมื่อ 2019-05-07.
  5. 5.0 5.1 ABC News. "Beeswax Wraps". www.facebook.com. สืบค้นเมื่อ 2019-05-07.
  6. "How to Harvest Beeswax". dummies. สืบค้นเมื่อ 2019-05-07.
  7. Zimmerman, Edith (2017-04-25). "How To Make Your Own Reusable Food Wrap". Apartment Therapy. สืบค้นเมื่อ 2019-05-07.
  8. 8.0 8.1 "Cambridge Consultants catapults production of reusable beeswax food wrap". Cambridge Consultants. 2018-09-14. สืบค้นเมื่อ 2019-05-07.
  9. Lucy (2016-07-15). "Why and how to ditch Cling Film". The Waste Management & Recycling Blog. สืบค้นเมื่อ 2019-05-07.
  10. 10.0 10.1 Lee, Jan (2017-08-18). "The Industrious Bee: Replacing Plastic Products with Beeswax". TriplePundit. สืบค้นเมื่อ 2019-05-07.
  11. Le Guern, Clair (March 2018). "When the Mermaids Cry: The Great Plastic Tide". Coastal Care. สืบค้นเมื่อ 2019-05-07.
  12. Healey, Justin, บ.ก. (2019). Plastic pollution. ISBN 9781925339819. OCLC 1083522573.
  13. "The problem of food waste". OLIO. สืบค้นเมื่อ 2019-05-22.
  14. Schanes, Karin; Dobernig, Karin; Gözet, Burcu (May 2018). "Food waste matters - A systematic review of household food waste practices and their policy implications". Journal of Cleaner Production. 182: 978–991. doi:10.1016/j.jclepro.2018.02.030. ISSN 0959-6526.
  15. "Food Waste Facts". OzHarvest. สืบค้นเมื่อ 2019-05-07.
  16. "Go Fully Natural in Your Kitchen With Beeswax Wraps". Nxt Modern. 2019-04-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-08. สืบค้นเมื่อ 2019-05-08.
  17. A Day แรปห่ออาหารใช้ซ้ำได้ที่น่ารักพอๆ กับน่าใช้ 19 ธันวาคม 2561.