ขั้วโลก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ขั้วโลก (อังกฤษ: geographical pole หรือ geographic pole) หมายถึงจุดสองจุด—ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้—บนพื้นผิวของดาวเคราะห์หรือวัตถุหมุนอื่น อันเป็นที่ซึ่งแกนหมุนบรรจบกับพื้นผิวของวัตถุนั้น ขั้วโลกเหนือจะทำมุม 90° และอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ในขณะที่ขั้วโลกใต้จะทำมุม 90° และอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร

ขั้วโลกอาจมีความเป็นไปได้ที่จะคาดเคลื่อนเล็กน้อยเนื่องจากการหมุนของวัตถุนั้นเอง ขั้วโลกเหนือและใต้ทางกายภาพที่แท้จริงของโลกนั้นจะอาจเปลี่ยนตำแหน่งไปได้ในระยะทางไม่กี่เมตรเมื่อเวลาผ่านไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความชัดเจนจากการหมุนควงของวิษุวัติของโลก ซึ่งองศาของดาวเคราะห์ (ทั้งแกนหมุนและพื้นผิวต่างก็เคลื่อนที่ไปพร้อมกัน) อาจเปลี่ยนแปลงตำแหน่งได้อย่างช้า ๆ เมื่อเวลาผ่านไปนับหมื่นปี

อย่างไรก็ตาม วิชาการเขียนแผนที่ต้องการพิกัดของขั้วโลกที่เที่ยงตรงและไม่เปลี่ยนตำแหน่ง ขั้วโลกในการแผนที่ (cartographical poles หรือ cartographic poles) จึงเป็นตำแหน่งคงที่บนโลกหรือวัตถุหมุนอื่นที่ตำแหน่งโดยประมาณที่เป็นไปได้ของขั้วโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น

สภาพอากาศ[แก้]

ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ มีอากาศหนาวจัด เนื่องจากการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ รังสีมีความเข้มข้นต่ำ บริเวณขั้วโลกทั้ง 2 ข้าง ในช่วงฤดูหนาวมีอากาศหนาวจัด และน้ำก็จับจนแข็ง และยังมีลมพายุที่พัดพาหิมะมาตกอย่างหนัก เรียกกันว่า พายุหิมะ (Blizzards)

พืช[แก้]

เนื่องจากมีอากาศหนาวเย็น จึงมีพันธุ์พืชไม่มากนัก พืชบางชนิดมีความทนทานสูง บางครั้งอาจจมใต้หิมะเป็นเวลานานนับปี กว่าจะมีโอกาสเจริญเติบโตได้อีกเมื่อฤดูร้อนมาถึง หญ้าและพืชที่ทนทาน เช่น มอส ไลเคน ตะไคร่น้ำ มักมีพุ่มเตี้ย

สัตว์[แก้]

สัตว์ในขั้วโลกเหนือ

ในอาร์กติกมีสัตว์จำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ตลอดปี แต่บางชนิดก็อยู่ในฤดูที่อบอุ่น สัตว์ขั้วโลกเหนือส่วนใหญ่ มีขนหนา เพื่อความอบอุ่น เช่น วอลรัส วัวมัสก์ หมีขั้วโลก

สัตว์ในขั้วโลกใต้

มหาสมุทรที่ล้อมรอบแอนตาร์กติก คือถิ่นที่อยู่ของสัตว์หลายชนิด แต่ไม่กี่ชนิดที่อาศัยที่แอนตาร์กติกตลอดทั้งปี เช่น วาฬ แมวน้ำ กุ้งฝอย (krill)

นก[แก้]

นกเพนกวิน มีอาศัยเฉพาะขั้วโลกใต้ ไม่เคยปรากฏในขั้วโลกเหนือ ส่วนนกอื่น ๆ ส่วนมากอาศัยอยู่ในขั้วโลกเฉพาะช่วงหน้าร้อน เช่น นกเค้าแมวสีขาว

ดูเพิ่ม[แก้]