การจับ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพนักงานตำรวจในสหรัฐอเมริกากำลังแจ้งผู้ถูกจับว่า "ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้อยคำของผู้ถูกจับอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิจะพบและปรึกษาทนายความ"

จับ หรือในอดีตใช้ว่า เกาะ[1] (อังกฤษ: arrest) นั้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่า เป็นอาการที่ "เกาะกุมตัวไว้โดยเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย, จับกุม ก็ว่า"[2] กล่าวคือ เป็นการพรากไปซึ่งเสรีภาพของบุคคล เพื่อประโยชน์แห่งการสอบสวนความผิดอาญาหรือการปราบปรามการกระทำความผิดอาญา โดยในภาษาอังกฤษ คำว่า "arrest" นั้น มาจากคำในภาษาฝรั่งเศส "arrêt" หมายความว่า "หยุดยั้ง" ส่วนในภาษาไทย คำว่า "เกาะ" นั้น หมายความว่า "ไปเอาตัวมาโดยอำนาจศาลเป็นต้น เช่น ไปเกาะตัวมา"[2]

ในความหมายทั่วไป คำว่า "จับ" นั้น หมายถึง การกุมหรือกักตัวบุคคลหนึ่ง ๆ และตามความหมายนี้ หากจะถามว่าบุคคลถูกจับแล้วหรือยัง คำตอบมิได้ขึ้นอยู่กับว่า การนั้นชื่อว่าเป็นการจับโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือยัง แต่ต้องพิจารณาว่า บุคคลนั้น ๆ ถูกพรากเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของเขาไปแล้วหรือยัง ทว่า ในความหมายของกฎหมาย การจับ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในวิธีพิจารณาความอาญานั้น เป็นการที่บุคคลหนึ่งซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย เอาอีกบุคคลหนึ่งควบคุมไว้ กักไว้ หรือขังไว้ เพื่อเอาคำให้การของเขา หรือเพื่อป้องกันการกระทำความผิดอาญาเพิ่มเติม ตามความหมายนี้ องค์ประกอบอันสำคัญแห่งการจับ จักต้องประกอบด้วย เจตนาที่จะจับโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ และประกอบด้วยการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลไว้โดยประการที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งในลักษณะนี้ เป็นที่รับรู้กันว่า บุคคลนั้น ๆ ถูกจับ

โดยปรกติ เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าพนักงานอื่น ๆ มีอำนาจจับ แต่ในบางสถานการณ์ ราษฎรก็มีอำนาจจับ[3]

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 9 ว่า "ซึ่งจะจับ กักขัง หรือเนรเทศบุคคลใดตามอำเภอใจนั้น หากระทำได้ไม่"

วิธีจับ[แก้]

สหรัฐอเมริกา[แก้]

เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่า บุคคลใดได้กระทำความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ เจ้าพนักงานตำรวจจะจับบุคคลนั้น โดยปรกติ มักใส่กุญแจมือเขา แล้วพาเขาไปยังสถานีตำรวจหรือศาลระหว่างการสอบสวนความผิดอาญา

อังกฤษและเวลส์[แก้]

ตามกฎหมายอังกฤษ ปัญหาที่ว่าบุคคลใดได้ถูกจับแล้วหรือไม่นั้น มิได้พิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของบุคคลผู้จับ แต่จะพิจารณาว่าบุคคลผู้ถูกจับถูกพรากไปซึ่งเสรีภาพในการเคลื่อนไหวหรือยัง[4] ส่วนปัญหาที่ว่าการจับนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงจะพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของบุคคลผู้จับ

เมื่อจับแล้ว ผู้ถูกจับจะถูกพาไปยังสถานีตำรวจทันทีที่กระทำได้[5] และอาจได้รับการปล่อยชั่วคราว

ไทย[แก้]

ตัวอย่างหมายจับในประเทศไทย

การจับโดยเจ้าพนักงาน[แก้]

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่า ในกรณีทั่วไป เจ้าพนักงานต้องจับโดยมีหมายของศาล หรือมีคำสั่งของศาล ให้จับ[6] แต่มีบางกรณีที่เจ้าพนักงานสามารถจับโดยปราศจากหมายจับได้

วิธีจับ ให้เจ้าพนักงานแจ้งบุคคลนั้น ๆ ว่า "คุณต้องถูกจับ" จากนั้น ให้สั่งให้เขาเดินทางไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนั้นหรือผู้มีอำนาจในท้องที่นั้นพร้อมด้วยเจ้าพนักงานผู้จับ[7] ในการนี้ เจ้าพนักงานต้องแจ้งเขาด้วยว่า[8]

"ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ ถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ"

และให้เจ้าพนักงานแจ้งให้เขาทราบถึงสิทธิอื่น ๆ ตามกฎหมาย ทั้งต้องอำนวยความสะดวกให้เขาใช้สิทธิเหล่านั้นด้วย นอกจากนี้ เจ้าพนักงานยังต้องทำบันทึกการจับ[8] ถ้าเจ้าพนักงานไม่แจ้งสิทธิดังกล่าวนี้ ไม่ทำให้การจับกลายเป็นมิชอบด้วยกฎหมายไป เพียงแต่ถ้อยคำใด ๆ ที่เขาให้ไว้ จะใช้ไม่ได้โดยสิ้นเชิง[9] อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแจ้งสิทธิครบถ้วนแล้ว คำรับสารภาพในชั้นจับกุมนั้นรับฟังไม่ได้เลยโดยไม่มีข้อยกเว้น คงรับฟังได้แต่ถ้อยคำประกอบเท่านั้น

ในการจับ ห้ามเจ้าพนักงานฉุดคร่าผู้ถูกจับไป เพียงให้บอกข้างต้นแล้วสั่งให้เขาไปหรือพาเขาไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนเท่านั้น แต่ถ้าเขาขัดขวางหรือหลบหนี หรือจะทำเช่นนั้น เจ้าพนักงานมีอำนาจใช้มาตรการต่าง ๆ เท่าที่จำเป็นตามสถานการณ์[7] [10] เมื่อไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนแล้ว เจ้าพนักงานผู้จับจะแจ้งข้อกล่าวหา แลเหตุผลที่จับ ให้ผู้ถูกจับทราบ ถ้ามีหมายจับ เจ้าพนักงานต้องอ่านให้เขาฟัง และส่งให้เขาดู แล้วมอบสำเนาบันทึกการจับกุมให้เขาด้วย[11]

หลังจากจับแล้ว พนักงานสอบสวนจะถามปากคำผู้ถูกจับเพื่อประโยชน์แห่งการสอบสวนความผิดอาญา ในระหว่างนี้ พนักงานสอบสวนมีอำนาจปล่อยเขาไปชั่วคราว หรือจะขังเขาไว้ก่อนก็ได้ โดยถ้าจะขัง ให้พนักงานสอบสวนพาเขาไปยังศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เขามาถึงที่ทำการของตน แล้วชี้แจงต่อศาลถึงความจำเป็นที่ต้องขังเขาไว้ เพื่อขอให้ศาลออกหมายขัง[7] [12]

การจับโดยราษฎร[แก้]

ราษฎรที่พบเห็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า ซึ่งเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สามารถจับผู้กระทำความผิดนั้นได้[13] หรือราษฎรอาจช่วยเหลือเจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายจับร้องขอให้ช่วยจับ หรือเป็นนายประกันจับตัวผู้หลบหนีประกัน วิธีจับ ให้ราษฎรผู้จับแจ้งบุคคลนั้น ๆ ว่า "คุณต้องถูกจับ" จากนั้น ให้สั่งให้เขาเดินทางไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนั้นหรือผู้มีอำนาจในท้องที่นั้นพร้อมด้วยราษฎรผู้จับ โดยราษฎรไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาหรือแจ้งสิทธิให้ผู้ถูกจับ [7]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ดู พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความมีโทษสำหรับใช้ไปพลางก่อน รัตนโกสินทรศก 115 มาตรา 1
  2. 2.0 2.1 ราชบัณฑิตยสถาน (2550). "พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-03. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2011.
  3. section 24a, Police and Criminal Evidence Act 1984
  4. แม่แบบ:Cite BAILII
  5. Police and Criminal Evidence Act 1984, section 30.
  6. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 วรรคหนึ่ง

    "พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้..."

  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคหนึ่ง

    "ในการจับนั้น เจ้าพนักงานหรือราษฎรซึ่งทำการจับต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่าเขาต้องถูกจับ แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อมด้วยผู้จับ เว้นแต่สามารถนำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ในขณะนั้น ให้นำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดังกล่าว แต่ถ้าจำเป็น ก็ให้จับตัวไป"

  8. 8.0 8.1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสอง

    "ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับ ให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ ถ้าผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุม ที่สามารถดำเนินการได้โดยสะดวก และไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับ หรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี ในการนี้ ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นบันทึกการจับดังกล่าวไว้ด้วย"

  9. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคสี่

    "ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือตามมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี"

  10. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสาม

    "ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับขัดขวางหรือจะขัดขวางการจับ หรือหลบหนี หรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือการป้องกันทั้งหลาย เท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับนั้น"

  11. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคหนึ่ง

    "เจ้าพนักงานหรือราษฎรผู้ทำการจับต้องเอาตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา 83 โดยทันที และเมื่อถึงที่นั้นแล้ว ให้ส่งตัวผู้ถูกจับแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจของที่ทำการของพนักงานสอบสวนดังกล่าว เพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้

    "(1) ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ ถ้ามีหมายจับ ให้แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบ และอ่านให้ฟัง และมอบสำเนาบันทึกการจับแก่ผู้ถูกจับนั้น

    "(2) ..."

  12. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคสาม

    "ในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนหรือการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา 83 เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ โดยให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล ขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้"

  13. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 79

    "ราษฎรจะจับผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าอยู่ในเกณฑ์แห่งมาตรา 82 หรือเมื่อผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และความผิดนั้นได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ด้วย"

หนังสืออ่านเพิ่ม[แก้]

  • Lim, Samson. Siam’s New Detectives: Visualizing Crime and Conspiracy in Modern Thailand. Honolulu, HI: University of Hawaiʻi Press, 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Arrests