กอริลลาภูเขา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กอริลลาภูเขา[1]
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Primates
วงศ์: Hominidae
สกุล: Gorilla
สปีชีส์: G.  beringei
สปีชีส์ย่อย: G.  b. beringei
Trinomial name
Gorilla beringei beringei
Matschie, 1903
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของกอริลลาชนิดต่าง ๆ (เฉพาะกอริลลาภูเขาคือส่วนที่เป็นสีน้ำเงิน)
ชื่อพ้อง[1]

กอริลลาภูเขา (อังกฤษ: Mountain gorilla[1]; ชื่อวิทยาศาสตร์: Gorilla beringei beringei) เป็นชนิดย่อยของกอริลลาตะวันออก (G. ฺberingei) ชนิดหนึ่ง

กอริลลาภูเขาเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นพบกระจายพันธุ์อยู่ในเขตเทือกเขาวีรูงกาในเขตแดน 3 ประเทศเท่านั้น คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, รวันดา และอูกันดา โดยแบ่งออกได้เป็นฝูงทั้งหมด 3 ฝูง ฝูงแรกมีชื่อเรียกว่า "วีรูงกา" มีจำนวนประมาณ 480 ตัว อาศัยอยู่ในเทือกเขาวีรูงกาและภูเขาไฟในอุทยานแห่งชาติทางตอนเหนือของรวันดา ในป่ามงตาน ซึ่งเป็นป่าไผ่ ในระดับความสูงจากน้ำทะเล 2,500–4,000 เมตร, ฝูงที่สองมีชื่อเรียกว่า "มจาฮิงจา" พบทางตอนใต้ของอูกันดา และ "บวินดี" พบในอุทยานแห่งชาติบวินดี ในอูกันดา อาศัยอยู่ในเทือกเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,500–2,300 เมตร มีประมาณ 400 ตัว[3] โดยถือเป็นสถานที่ ๆ มีชื่อเสียงที่พบได้มากที่สุดอีกด้วย[4] โดยจำนวนกอริลลาภูเขาในปัจจุบันในธรรมชาติมีประมาณ 880 ตัว[3]

กอริลลาภูเขา มีพฤติกรรมเหมือนกับกอริลลาชนิดอื่น ๆ คือ อาศัยอยู่เป็นครอบครัว ประกอบด้วยตัวผู้จ่าฝูงที่มีหลังขนหลังสีหงอกเทาหรือสีเงิน หรือที่เรียกว่า "หลังเงิน" (Silverback) ตัวเมียและลูก ๆ จัดเป็นกอริลลาที่มีขนาดใหญ่มากอีกชนิดหนึ่ง โดยเป็นกอริลลาที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากกอริลลาที่ลุ่มตะวันออก (G. b. graueri) ซึ่งถือเป็นกอรริลาตะวันออกอีกชนิดหนึ่งเท่านั้น[5] ตัวผู้ที่โตเต็มที่หนักได้ถึง 195 กิโลกรัม (430 ปอนด์) และสูงเมื่อยืนด้วยสองขาหลังประมาณ 150 เซนติเมตร (59 นิ้ว) และน้ำหนักในตัวเมีย 100 กิโลกรัม (220 ปอนด์) และสูงประมาณ 130 เซนติเมตร (51 นิ้ว)[6]ช่วงแขนที่วัดจากปลายนิ้วข้างหนึ่งถึงอีกข้างหนึ่งอาจยาวถึง 2 เมตร[7] อาศัยอยู่ในป่าดิบทึบและป่าเมฆที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,200–4,300 เมตร (7,200–14,100 ฟุต[8] [9]) ในพื้นที่ ๆ อุณหภูมิมีความหนาวเย็นประมาณ 10 องศาเซลเซียสและชื้นแฉะ[4]

กอริลลาภูเขา เป็นสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหารหลัก โดยมีชนิดพืชที่กินได้หลากหลาย เมื่อกินแล้วจะถ่ายมูลซึ่งมีลักษณะคล้ายกับอุจจาระของมนุษย์ตามสุมทุมพุ่มไม้ต่าง ๆ หรีอบางครั้งอาจถ่ายทิ้งไว้ที่ระหว่างทาง มีพฤติกรรมย้ายที่หากินไปเรื่อย ๆ ไม่มีหลักแหล่งที่แน่นอน ตัวผู้ในวัยโตเต็มที่จะกินอาหารมากถึงวันละ 30 กิโลกรัม ขณะที่ในตัวเมีย 18 กิโลกรัม[4] ในฝูง ๆ หนึ่งประกอบไปด้วยตัวผู้ที่เป็นจ่าฝูง โดยมีตัวเมียประมาณ 3 ตัว และมีกอริลลาที่ยังไม่โตเต็มวัยซึ่งเป็นลูก ๆ อีกราว 3 ตัว ซึ่งแต่ละฝูงจะมีอาณาเขตเป็นของตัวเองชัดเจน โดยตัวผู้จ่าฝูงจะทำหน้าที่ปกป้องดูแลอาณาเขตของตัวเอง อีกทั้งยังมีพฤติกรรมคล้ายกับมนุษย์มาก กล่าวคือ จับคู่เพียงตัวเดียวตลอดชีวิต, มีการแข่งขันกันเองในหมู่พี่น้อง, ลูกตัวผู้มีการต่อสู้กับพ่อ หรือการที่จ่าฝูงที่อายุมากแล้วส่งมอบการเป็นจ่าฝูงให้แก่ตัวที่แข็งแรงกว่าตัวใหม่ขึ้นเป็นจ่าฝูงแทน เป็นต้น[3]

ตัวผู้หลังเงิน
ตัวเมียและลูก

กอริลลาภูเขาถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1902 จากคณะนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าไปสำรวจป่าแอฟริกา[3] ในช่วงทศวรรษที่ 1960–1970 ถูกล่าอย่างรุนแรง เพราะถูกคุกคามในเรื่องถิ่นอยู่อาศัยจากมนุษย์ อีกทั้งยังมีปัจจัยอย่างอื่น เช่น สงคราม, โรคระบาด ตลอดจนถูกจับไปขายในตลาดมืด[3] ทำให้มีปริมาณลดลงเหลือประมาณ 250 ตัวเท่านั้น จากเดิม 400–500 ตัว แต่ได้รับการศึกษาและกลายมาเป็นการอนุรักษ์จาก ไดแอน ฟอสซีย์ นักวานรวิทยาหญิงชาวอเมริกัน ซึ่งฟอสซีย์ได้เริ่มต้นศึกษากอริลลาภูเขาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 เป็นระยะเวลานานถึง 18 ปี จนในที่สุดกอริลลาภูเขาตัวหนึ่งได้ยื่นนิ้วมาแตะมือของเธอระหว่างเคี้ยวอาหารอยู่ นับเป็นครั้งแรกที่กอริลลาซึ่งเป็นสัตว์ป่าได้ยินยอมที่สัมผัสกับตัวมนุษย์ และฟอสซีย์ก็ได้เป็นผู้ตั้งต้นในการตั้งโครงการอนุรักษ์กอริลลาภูเขาขึ้นมา ซึ่งยังดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน[7] [10] สถานะของกอริลลาภูเขาในปัจจุบัน ถือว่าจัดอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤต [2] ในระยะเวลาอีก 40–50 ปี อาจสูญพันธุ์ไปจากโลกก็เป็นได้ [4]

ปัจจุบัน การเที่ยวชมกอริลลาภูเขาค่อนข้างทำได้ลำบาก อันเนื่องจากสถานที่อยู่อาศัยที่เข้าไปถึงได้ลำบาก โดยมีกฎข้อห้ามที่เข้มงวดหลายประการในการชม คือ ห้ามสวมใส่เสื้อสีสันฉูดฉาด, ห้ามรับประทานอาหารหรือสูบบุหรี่ที่จะรบกวนความเป็นอยู่ของกอริลลาภูเขาโดยเด็ดขาด รวมทั้งห้ามส่งเสียงดัง, ห้ามจ้องตา โดยเฉพาะกับตัวผู้จ่าฝูง เพราะกอริลลาภูเขาจะถือเป็นการท้าทาย และห้ามเข้าใกล้กอริลลาภูเขาเกินกว่า 7 เมตร ยกเว้นกอริลลาภูเขาจะเป็นฝ่ายเข้ามาหาเอง และมีเวลาในการเยี่ยมชมในแต่ละคณะไม่เกิน 2 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งการมีกฎที่เข้มงวดเหล่านี้ถือเป็นการคัดกรองคุณภาพและปริมาณนักท่องเที่ยวไปในตัว และการเที่ยวชมกอริลลาภูเขานั้นมิได้จะพบเจอทุกครั้งไป ในบางครั้งอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง หรือไม่เจอเลยก็มี แต่ในบางครั้งอาจใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็เจอแล้ว โดยมัคคุเทศน์ผู้นำทางจะเป็นชาวพื้นเมือง ใช้วิธีการตามรอยจากกองมูล และสืบหาพืชที่กอริลลาภูเขาชอบกิน[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Groves, C. (2005-11-16). Wilson, D. E.; Reeder, D. M. (บ.ก.). Mammal Species of the World (3rd ed.). Johns Hopkins University Press. pp. 181–182. ISBN 0-801-88221-4.
  2. 2.0 2.1 Robbins, M., Gray, M., Kümpel, N., Lanjouw, A., Maisels, F., Mugisha, A., Spelman, L. & Williamson, L. (2008). Gorilla beringei ssp. beringei. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 4 January 2009.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 หน้า 7 จุดประกาย, Mountain Gorilla ออกเดินทางตามหากอริลลาภูเขา. กรุงเทพธุรกิจปีที่ 29 ฉบับที่ 10156: วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "ลุยป่าดูกอริลลาภูเขา". now26. 7 June 2014. สืบค้นเมื่อ 20 December 2014.
  5. "Eastern lowland gorilla". worldwildlife.org. สืบค้นเมื่อ 20 December 2014.
  6. Knight, Tim (June 2008). "Gorilla Natural History". Gorillas Online. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-14. สืบค้นเมื่อ 2008-10-07.
  7. 7.0 7.1 "Dian Fossey ความรักเธอเปลี่ยนโลกให้กอริลลาภูเขา". ผู้จัดการออนไลน์. 13 September 2013. สืบค้นเมื่อ 20 December 2014.[ลิงก์เสีย]
  8. "Mountain Gorillas". Exploring the Environment - Modules and Activities. 2003-05-21.
  9. "The Life of Mountain Gorillas". The Dian Fossey Gorilla Fund International. 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1999-05-08. สืบค้นเมื่อ 2014-12-20.
  10. มิเชล สลัง, เกษรินทร์ หวังวงศ์วิโรจน์ แปล ตำนานผจญภัย ดอกไม้เหล็ก, เนชั่นแนล จีโอกราฟิก, 2546, ISBN 974-90859-1-4

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Gorilla beringei beringei ที่วิกิสปีชีส์