กล้องไร้กระจก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กล้องไร้กระจกเลนส์เดี่ยวตัวแรกของโลก พานาโซนิค ลูมิกซ์ DMC-G1

กล้องไร้กระจก หรือ กล้องมิเรอร์เลส (mirrorless camera) เป็นหนึ่งในประเภทของ กล้องดิจิทัล เป็นคำทั่วไปที่ใช้เรียกกล้องดิจิทัลแบบเปลี่ยนเลนส์ได้ที่สามารถดูภาพผ่านช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ หรือ จอภาพผลึกเหลว แทนการใช้ช่องมองภาพแบบดั้งเดิมเหมือนอย่างกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว หรือกล้องดีเอสแอลอาร์

ชื่อ "กล้องไร้กระจก" มาจากการที่กล้องชนิดนี้ไม่มีกระจกสะท้อนแสงสำหรับนำทางแสงที่ตกกระทบบนเลนส์ถ่ายภาพไปยังช่องมองภาพ ซึ่งแตกต่างจากกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวทั่วไป

ภาพรวม[แก้]

แม้ว่าจะไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจน แต่ในปี 2013 ได้ถูกระบุไว้ว่าเป็น "กล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวแบบดิจิทัลขนาดกะทัดรัดน้ำหนักเบาพร้อมเลนส์แบบเปลี่ยนได้ที่ถอดโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับช่องมองภาพ"[1][2] บางรุ่นมีช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ในตัวแทนช่องมองภาพแบบดั้งเดิม บางรุ่นใช้จอภาพผลึกเหลวเป็นช่องมองภาพ และบางรุ่นมีช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์แบบถอดได้ กล้องชนิดนี้ที่มีวางขายอาจมีเซนเซอร์รูปภาพหลายขนาด ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต โดยมีให้เลือกตั้งแต่ 1/2.3 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดเดียวกับ กล้องดิจิทัลคอมแพค ไปจนถึงขนาด 4/3 นิ้ว หรือ ขนาด APS-C โครงสร้างนี้อาจถือได้ว่าเป็น "กล้องดิจิทัลคอมแพคที่เปลี่ยนเลนส์ได้"

กล้องไร้กระจกขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบาพร้อมเซนเซอร์ APS-C

เดิมทีกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อจับคู่ภาพที่ถ่ายกับภาพที่ช่องมองภาพ แสงที่ผ่านเลนส์ถ่ายภาพจะสะท้อนโดยกระจกที่วางอยู่ด้านหน้าของฟิล์ม และแสงจะเข้าไปสู่ช่องมองภาพ กลไกนี้ซับซ้อนและมีราคาแพงในสมัยของกล้องฟิล์ม แต่ในกล้องดิจิทัล สามารถทำแบบเดียวกันนี้ได้ง่าย ๆ โดยการแสดงภาพที่ถ่ายโดยเซนเซอร์รูปภาพบนช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยเหตุนี้ กล้องดิจิทัลชนิดใหม่ที่มีเลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้จึงได้รับการพัฒนาและวางจำหน่ายโดยมีการออกแบบที่กะทัดรัดและน้ำหนักเบาโดยไม่ต้องใช้ช่องมองภาพดั้งเดิม กล้องรุ่นนี้ได้รับการยอมรับจากลูกค้าจำนวนมากที่ไม่ต้องการพกกล้องหนักเทอะทะติดตัวแต่อยากถ่ายรูปสวย

ความพยายามที่จะแปลงกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวให้เป็นดิจิทัลได้เริ่มขึ้นในราวปี 1986 ในเวลานั้น มีการเสนอให้เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวประเภทฟิล์มที่มีอยู่ ซึ่งมีเซนเซอร์ภาพติดอยู่ที่ด้านหลังฟิล์ม[3] จากนั้นในปี 1991 กล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวแบบดิจิทัลตัวแรกของโลก Kodak Professional Digital Camera System DCS100 ได้ถูกวางขาย มีการติดตั้ง เซนเซอร์ CCD ความละเอียดภาพ 1.3 ล้านพิกเซล โดยยืนพื้นจากกล้องสะท้อนเลนส์เดี่ยวประเภทฟิล์ม Nikon F3[4] หลังจากนั้น เมื่อกล้องฟิล์มถูกขับออกจากตลาด และกล้องดิจิทัลได้กลายเป็นกระแสหลักของตลาดกล้อง ราคาของกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวแบบดิจิทัลจึงลดลงอย่างต่อเนื่อง และอัตราส่วนของกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวในตลาดกล้องดิจิทัลกลายเป็น 10% ต่อหน่วย และ 30% ตามมูลค่า (มีนาคม 2010 ตลาดญี่ปุ่น)[5] อย่างไรก็ตาม ในแง่ของรูปลักษณ์และโครงสร้าง ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวในยุคฟิล์ม

ประวัติศาสตร์[แก้]

ในจำนวนนั้น กล้องแบบสัดส่วนสี่ต่อสามซึ่งเคยมีจำนวนมากกว่าในตลาดกล้องสะท้อนเลนส์เดี่ยวแบบดิจิทัล ได้พยายามชดเชยด้วยการกำหนดมาตรฐานใหม่ "Micro Four Thirds System" ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2008[6] แม้ว่าจะเป็นชนิดเปลี่ยนเลนส์ได้ แต่ก็มีโครงสร้างที่ไม่มีกล่องกระจก ทำให้ความยาวตัวกล้องลดลงไปได้ประมาณครึ่งหนึ่ง[7] ตัวเครื่องแบบนี้เป็นรูปแบบใหม่ของกล้องที่เปลี่ยนเลนส์ได้ที่แตกต่างจากกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวหลายประการ หนึ่งเดือนต่อมา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2008 พานาโซนิค ได้ประกาศเปิดตัวกล้องแบบเปลี่ยนเลนส์ได้แบบไร้กระจกตัวแรกของโลก LUMIX DMC-G1 ซึ่งวางจำหน่ายในวันที่ 31 ตุลาคม[8] ตัวเครื่องแบบไร้กระจกต้องให้เซนเซอร์รูปภาพทำงานตลอดเวลา ดังนั้นการสร้างความร้อนและการใช้พลังงานจึงเป็นปัญหา

เซนเซอร์รูปภาพที่ใช้พลังงานต่ำซึ่งมีไลฟ์วิวหรือโฟกัสอัตโนมัติตรวจจับความเปรียบต่างได้ถูกนำไปใช้จริงแล้วตั้งแต่ในปี 2006 นี่ถือได้ว่าเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของตัวเครื่องแบบไร้กระจก[9][10]

หลังจากนั้นยอดขายกล้องไร้กระจกของทั้งสองบริษัทก็เพิ่มขึ้น โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2010 กล้องไร้กระจกมีสัดส่วนประมาณ 20% ของกล้องแบบเปลี่ยนเลนส์ได้ในตลาดญี่ปุ่น[11] จากนั้นบริษัทอื่น ๆ ก็ได้เข้าสู่ตลาดกล้องไร้กระจกเช่นกัน เริ่มจากซัมซุงได้เปิดตัวเครื่องไร้กระจก APS-C รุ่น NX10 ในตลาดต่าง ๆ เช่น ในเกาหลีใต้และยุโรปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2010[12] และ โซนี่ ก็เปิดตัว APS-C ด้วยการเปิดตัวกล้องไร้กระจก NEX-5 และ NEX-3 ในเดือนมิถุนายน 2010[13] กล้องไร้กระจกคิดเป็นสัดส่วนถึง 32.5% ของกล้องแบบเปลี่ยนเลนส์ได้ในตลาดญี่ปุ่น[11]

หลังจากการกำเนิดของเครื่องแบบไร้กระจก ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนแบ่งการตลาดตามผู้ผลิต ในตลาดกล้องแบบเปลี่ยนเลนส์ได้ในญี่ปุ่น ในปี 2009 แคนนอน มีส่วนแบ่ง 39.1% และ นิคอน มีส่วนแบ่ง 31.3% โดยผู้ผลิตกล้องแบบดั้งเดิมยังคงรักษาส่วนแบ่งที่สูง[14] ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2011 เพนแท็กซ์ และ นิคอน ได้เข้าสู่ตลาด และตามด้วยแคนนอนซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดเข้าสู่ตลาดทีละราย ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2012 จากนั้นในปี 2013 โซนี่ ได้เปิดตัวรุ่น α7 ซึ่งใช้เซนเซอร์ภาพขนาดเต็มขนาดใหญ่ 35 มม. ยิ่งรุ่นต่อ ๆ มามีการปรับปรุงสมรรถภาพและมีการพัฒนาเลนส์แบบเปลี่ยนได้ ส่วนแบ่งการตลาดก็เพิ่มขึ้น[15] ในปี 2018 แคนนอนและนิคอนต่างพัฒนาโมเดลใหม่พร้อมฐานสวนเลนส์ใหม่สำหรับกล้องฟูลเฟรม พานาโซนิคเองก็ได้ร่วมมือกับไลก้าเพื่อเปิดตัวกล้องรุ่นที่รองรับฟูลเฟรม บริษัทผลิตกล้องสำหรับการใช้งานระดับมืออาชีพได้ค่อย ๆ เปลี่ยนจากกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวมาเป็นกล้องไร้กระจก

การจัดส่งขายกล้องไร้กระจกประจำปีแซงหน้ากล้องสะท้อนเลนส์เดี่ยวในตลาดญี่ปุ่นในปี 2018[16] และในตลาดโลกในปี 2020[17]

ข้อดี[แก้]

  • เนื่องจากไม่มีกระจก จึงมีขนาดเล็กและเบากว่ากล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว
  • โครงสร้างของระบบเชิงแสงนั้นเรียบง่าย และมีข้อผิดพลาดเล็กน้อย
  • เสียงการทำงานเบาเพราะไม่มีกระจก มีเพียงเสียงเล็ก ๆ เนื่องจาก ชัตเตอร์ระนาบโฟกัส สามารถทำการถ่ายภาพโดยเงียบสนิทได้โดยติดตั้งชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์[15]
    • สามารถปิดชัตเตอร์ได้เมื่อไม่ต้องการเสียง[15]
  • ไม่มีความพร่ามัวเนื่องจากการกระแทกของกระจก[18]
  • เข้ากันได้ดีกับฟังก์ชันบันทึกวิดีโอ
  • เนื่องจากเซนเซอร์รูปภาพทำงานตลอดเวลา จึงสามารถใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ ที่ใช้การรู้จำแบบ (การจดจำใบหน้า การติดตามวัตถุ ฯลฯ) ได้ [15]
    • ฟังก์ชันการจดจำภาพช่วยให้หมดปัญหาในการโฟกัส จึงสามารถตั้งสมาธิกับองค์ประกอบภาพ[15]
  • สามารถแสดงข้อมูลการถ่ายภาพมากมายในช่องมองภาพ
  • สามารถทำช่องมองภาพที่มีขอบเขตการมองเห็น 100% ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งทำได้ยากถ้าใช้ช่องมองภาพแบบดั้งเดิม
  • มีข้อได้เปรียบในด้านต้นทุนเนื่องจากมีชิ้นส่วนกลไกและชิ้นส่วนเชิงแสงน้อยกว่า[19]
  • อัตราขยายของช่องมองภาพสามารถเพิ่มได้แม้กับตัวกล้องขนาดเล็ก ในขณะที่ถ้าเป็นกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวโดยทั่วไปแล้ว ยิ่งตัวกล้องมีขนาดเล็กและเบาเท่าใด อัตราขยายของช่องมองภาพก็จะยิ่งต่ำลงเท่านั้น
  • ภาพตัวอย่างช่วยให้ตรวจสอบระดับความเบลอ (ระยะชัดลึก) ก่อนถ่ายภาพได้ การแสดงตัวอย่างสามารถทำได้ด้วยระบบเชิงแสง อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างในระดับของการเบลอจากภาพที่ถ่ายจริง ภาพในช่องมองภาพจะมืดลงระหว่างตรวจดู
  • รุ่นที่มีความยาวลำกล้องสั้นจะมีฐานสวมเลนส์หลายประเภทที่สามารถใช้กับอะแดปเตอร์ฐานสวมเลนส์ได้
  • เนื่องจากสามารถย่อโฟกัสด้านหลังให้สั้นลงเมื่อเทียบกับกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว การออกแบบเชิงแสงของเลนส์เฉพาะจึงง่ายขึ้น และเป็นไปได้ที่จะปรับปรุงความสว่าง (ค่า F) ของเลนส์ (โดยเฉพาะเลนส์มาตรฐานไปจนถึงมุมกว้าง) ลดขนาดและน้ำหนักและลดราคา
  • เนื่องจากภาพตัวอย่างในช่องมองภาพสามารถปรับแก้ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย จึงเป็นไปได้ที่จะออกแบบเลนส์ที่ใช้การปรับแก้แบบอิเล็กทรอนิกส์ และระดับความอิสระในการแก้ไขความคลาดในการออกแบบเลนส์จึงได้รับการปรับปรุงอย่างมาก ผลที่ได้คือสามารถแก้ไขความคลาดต่าง ๆ ได้ดี เช่น ความคลาดเอียง ซึ่งยากต่อการแก้ไขทางอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังลดขนาดและน้ำหนักของเลนส์
  • สามารถตรวจสอบการถ่ายด้วยเอฟเฟกต์พิเศษ เช่น สไตล์กล้องของเล่น และสไตล์ไดโอรามา แบบเวลาจริง

ข้อเสีย[แก้]

  • บางคนรู้สึกว่าประสิทธิภาพของช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ไม่เพียงพอ
    • มีความล่าช้าเล็กน้อยในการแสดงผล
    • เนื่องจากความเปรียบต่างต่ำ จึงเกิดแสงจ้าที่สว่างจ้าและเงาที่บดบัง การยืนยันวัตถุที่ถ่ายจึงอาจกลายเป็นเรื่องยากในบางสถานการณ์
    • แม้ว่าจะขึ้นอยู่กับประเภทของช่องมองภาพ แต่การโฟกัสแบบแมนนวลที่แม่นยำ นั้นทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความละเอียดภาพต่ำและกำลังขยายของช่องมองภาพต่ำ
    • เมื่ออยู่กลางแจ้งขณะที่ฟ้าโปร่ง แสงพื้นหลังของจอภาพจะมืดกว่าแสงธรรมชาติโดยรอบ เพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้ บางรุ่นมีช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ในตัวซึ่งสามารถใช้กับเลนส์ใกล้ตาหรือติดตั้งเป็นตัวเลือกก็ได้
  • เนื่องจากจำเป็นต้องเปลี่ยนฐานสวมเลนส์เพื่อลดขนาด จึงอาจยากที่ใช้เลนส์รุ่นเก่า อาจต้องใช้ตัวแปลงฐานสวมเลนส์สำหรับการใช้งาน หรือมีข้อจำกัดในการใช้งาน เช่น AF และ AE
  • เนื่องจากเซนเซอร์รูปภาพและช่องมองภาพทำงานตลอดเวลา การใช้พลังงานจึงสูง และผู้ใช้ไม่สามารถหาทางยื้อแบตเตอรี่ได้ ส่งผลให้ สัญญาณรบกวน จากความร้อนที่เซนเซอร์เพิ่มขึ้น ในขณะที่เมื่อใช้กล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว การปิดหน้าจอ LCD สามารถลดการใช้แบตเตอรี่ และเสียงรบกวนจากความร้อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
    • อย่างไรก็ตาม อาจสามารถใช้กับพลังงานที่จ่ายมาจากยูเอสบี และด้วยการใช้ แบตเตอรี่มือถือที่มีความจุสูง อาจเป็นไปได้ที่จะถ่ายภาพเป็นเวลานาน ยกเว้นบางรุ่น
  • เมื่อเปรียบเทียบกับกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว ภาพจะไม่สะท้อนในช่องมองภาพเป็นเวลานาน ทำให้ติดตามวัตถุได้ยาก เนื่องจาก
    • จำเป็นต้องเปิดและปิดชัตเตอร์เพิ่มเติมเมื่อถ่ายภาพ เพื่อที่จะแก้ปัญหานี บางรุ่นได้นำม่านชัตเตอร์ด้านหน้าแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่อลดการเปิดและปิดกลไก ทำให้เวลาที่ภาพไม่สะท้อนในช่องมองภาพและเวลาหน่วงของการเปิดชัตเตอร์สั้นลง
    • เนื่องจากใช้เซนเซอร์ตัวเดียวกันในการถ่ายภาพและแสดงช่องมองภาพ จึงไม่สามารถแสดงภาพในช่องมองภาพได้ในขณะที่กำลังอ่านภาพที่ถ่ายจากเซนเซอร์ภาพ ในปี 2017 Sony α9 ได้ติดตั้งเซนเซอร์ภาพพร้อมหน่วยความจำในตัวทำให้สามารถถ่ายภาพโดยมีเวลามืดเป็นศูนย์ในบางกรณี[20]

อ้างอิง[แก้]

  1. 価格.comマガジン ミラーレス一眼カメラ 徹底比較特集 เก็บถาวร 2011-10-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน価格.com 2010年6月18日
  2. さらば、一眼レフ 「ミラーレス機」の秘密 เก็บถาวร 2010-04-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน日本経済新聞 2010年4月9日
  3. DCS StoryNikon and Kodak DSLR history
  4. Kodakの歴史 1990~1999Kodak
  5. デジカメの回復顕著 画素数アップが需要を喚起週刊BCN 2010年04月26日
  6. オリンパスイメージングと松下電器 フォーサーズシステム規格の拡張規格「マイクロフォーサーズシステム規格」を策定オリンパスイメージング株式会社 2008年8月5日
  7. マイクロフォーサーズ|規格説明フォーサーズウェブサイト
  8. 初のマイクロフォーサーズ搭載機「LUMIX DMC-G1」発表ASCII.jp 2008年9月12日
  9. Olympus E-330 DSLR has live LCD and new sensor technology เก็บถาวร 2010-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนdpnow.com 2006年1月26日
  10. 【インタビュー】オリンパスに聞く“マイクロフォーサーズ”の狙いデジカメWatch 2008年8月11日
  11. 11.0 11.1 2010年上半期、デジタル一眼1位はニコン、ミラーレス好調で変化の兆しも BCNランキング 2010年7月8日
  12. サムスン、「NX10」を韓国で23日に先行発売デジカメWatch 2010年1月28日
  13. 世界最小・最軽量ボディを実現 レンズ交換式デジタルカメラなど 2機種発売 ソニー株式会社 2010年5月11日
  14. 2009年1月~12月までの実売データ เก็บถาวร 2010-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนBCN Award 2010
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 "五輪のカメラに異変 ミラーレスに脚光、「新興勢力」が存在感:朝日新聞デジタル". 朝日新聞デジタル (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2021-08-08.
  16. 2018年デジタルカメラ生産出荷実績表カメラ映像機器工業会
  17. 2020年デジタルカメラ生産出荷実績表カメラ映像機器工業会
  18. 一眼レフが抱えるブレ問題、その深刻さが明らかに 電通大らが開発。1/60秒シャッターで実質解像度は1/4以下日経エレクトロニクス2009年5月4日号
  19. ミラーレスカメラの特徴と仕組み เก็บถาวร 2016-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนミラーレス一眼.jp
  20. 月刊アサヒカメラ2017年10月号186ページ