โลกิยานุวัติ
โลกิยานุวัติ[1] หรือ การทำให้เป็นฆราวาส (อังกฤษ: secularisation หรือ secularization) เป็นการเปลี่ยนผ่านของสังคม จากการแสดงตัวและผูกพันใกล้ชิดกับคตินิยมและสถาบันทางศาสนา ไปยังสถาบันที่เป็นฆราวาสและปราศจากคตินิยมทางศาสนา ทฤษฎีโลกิยานุวัติเป็นความเชื่อที่ว่า ยิ่งสังคมก้าวหน้าไป โดยเฉพาะด้วยการทำให้ทันสมัย (modernization) และการใช้เหตุผลเป็นหลัก (rationalization) ศาสนาก็ยิ่งสูญสิ้นอำนาจบารมีในทุกแง่มุมของการดำเนินชีวิตและการปกครองสังคม[2] คำนี้ยังใช้ในบริบทของการถอดสมาชิกคณะสงฆ์ให้พ้นจากข้อห้ามทางสงฆ์ก็ได้[3]
โลกิยานุวัตินั้นว่าด้วยกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่ทำศาสนาหมดสิ้นความสำคัญในสังคมและวัฒนธรรมลง เป็นผลให้ในสังคมสมัยใหม่ศาสนามีบทบาทจำกัดขึ้น ในสังคมที่เป็นฆราวาสแล้วนั้น ความศรัทธาไม่ขึ้นอยู่กับอำนาจครอบงำทางวัฒนธรรม ทั้งองค์การศาสนาก็มีอำนาจไม่มากในทางสังคม
โลกิยานุวัติมีความหมายหลายระดับ ทั้งในทางทฤษฎีและกระบวนการทางประวัติศาสตร์ นักทฤษฎีสังคมอย่างคาร์ล มากซ์, ซีคมุนท์ ฟร็อยท์, มัคส์ เวเบอร์ และเอมีล ดูร์กายม์ ตั้งสมมุติฐานว่า การทำให้สังคมทันสมัยอาจรวมถึงการลดลงของขีดความเลื่อมใสในศาสนา การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าวเป็นไปเพื่อนิยามลักษณะหรือขอบเขตที่ถือว่า ลัทธิ จารีต หรือสถาบันทางศาสนาสิ้นความสำคัญทางสังคมลง นักทฤษฎีบางคนก็แย้งว่า การทำให้อารยธรรมสมัยใหม่มีความเป็นโลกวิสัยนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการไม่สามารถปรับความต้องการในทางจริยธรรมและจิตวิญญาณของหมู่มนุษย์ให้เข้ากับความก้าวหน้าอันเร็วรวดของวิทยาศาสตร์กายภาพ[4]
นอกจากนี้ ในทางประวัติศาสตร์และศาสนา โลกิยานุวัติยังมีความหมายอื่นอีก[5] ถ้าใช้กับศาสนสมบัติ (church property) แล้ว ในทางประวัติศาสตร์จะหมายถึง การนำทรัพย์สินของศาสนจักรมาเป็นของทางโลก เช่น กรณีที่เฮนรีที่ 8 ทรงยุบเลิกอารามในอังกฤษ ตลอดจนกรณีที่เกิดขึ้นสมัยหลังในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส และการต่อต้านสงฆ์ของรัฐบาลยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 อันนำมาซึ่งการขับไล่และปราบปรามประชาคมทางศาสนาที่ถือครองทรัพย์สิน เหตุการณ์ทำนองเดียวกันในเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และที่อื่น ๆ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ถือเป็นตัวอย่างของความหมายนี้ได้[6]
โลกิยานุวัติยังสามารถหมายถึงการที่ผู้ควบตำแหน่งทางปกครองและทางศาสนา เช่น เจ้าชายมุขนายก ประกาศตนเป็นฆราวาสและไม่ขึ้นกับศาสนาอีก ดังกรณีของก็อทฮาร์ท ฟ็อน เค็ทเลอร์ ผู้นำคนสุดท้ายของคณะลิโวเนีย (Livonian Order)
ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกวิสัย การเปลี่ยนผ่านนี้เกี่ยวพันกับปัจจัยทางสังคมหลัก ๆ หลายปัจจัย เช่น ความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ การต่อต้านกฎระเบียบสังคมของคนรุ่นใหม่ การให้เสรีภาพแก่สตรี รวมถึงเทววิทยาและการเมืองแบบเปลี่ยนรากถอนโคน[7]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรมศัพท์มานุษยวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2561, หน้า 320.
- ↑ "The Secularization Debate", chapter 1 (pp. 3-32) of Norris, Pippa; Inglehart, Ronald (2004). Sacred and Secular. Religion and Politics Worldwide. Cambridge University Press. ISBN 0-521-83984-X; ISBN 978-05-2183-984-6.
- ↑ "secularization", The Free Dictionary, สืบค้นเมื่อ 2022-06-27
- ↑ See text เก็บถาวร 2010-06-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Casanova, Jose (1994). Public Religions in the Modern World. University of Chicago Press, pg. 13. ISBN 0-226-09535-5
- ↑ Gould, Andrew in: Origins of Liberal Dominance: State, Church, and Party in Nineteenth-century Europe, University of Michigan Press, 1999, p. 82, ISBN 978-0-472-11015-5
- ↑ Jeffrey Cox, "Secularization and other master narratives of religion in modern Europe." Kirchliche Zeitgeschichte (2001): 24-35.