โยฮันเนิส บรามส์
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
โยฮันเนิส บรามส์ | |
---|---|
บราห์มส์ในปีค.ศ. 1889 | |
เกิด | 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1833 ฮัมบวร์ค สมาพันธรัฐเยอรมัน (ปัจจุบันคือฮัมบวร์ค ประเทศเยอรมนี) |
เสียชีวิต | 3 เมษายน ค.ศ. 1897 เวียนนา จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (ปัจจุบันคือเวียนนา ประเทศออสเตรีย) |
สัญชาติ | เยอรมัน |
อาชีพ | คีตกวี |
โยฮันเนิส บรามส์ (เยอรมัน: Johannes Brahms; 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1833 - 3 เมษายน ค.ศ. 1897) เป็นคีตกวีและวาทยกรชาวเยอรมัน หลายคนยกย่องเขาในฐานะทายาททางดนตรีของลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน ซิมโฟนีบทแรกของเขาได้รับการยกย่องจาก ฮันส์ ฟ็อน บือโล ว่าเป็นซิมโฟนีบทที่ 10 ของเบทโฮเฟิน
ชีวประวัติและผลงาน
[แก้]บรามส์เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1833 ที่นครฮัมบวร์คประเทศเยอรมนี
บิดาของบรามส์เป็นนักเล่นดับเบิลเบสและยังเป็นครูดนตรีคนแรกของเขาอีกด้วย บรามส์ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถมากอันโดดเด่นเกินวัย สนใจเครื่องดนตรีทุกประเภท ครูดนตรีคนสำคัญของเขาได้แก่เอดูอาร์ท มาคส์เซิน ได้สอนเขาอย่างตั้งอกตั้งใจ ด้วยความหวังที่ว่าเขาจะกลายเป็นนักเปียโนเอกในอนาคต โดยได้สอนเทคนิคการเล่นของบัค โมทซาร์ท และเบทโฮเฟิน ซึ่งกลายเป็นที่จดจำของบรามส์ไปตลอด โดยมิได้ทำลายพรสวรรค์ทางการสร้างสรรค์ของศิษย์
ความสามารถทางการเล่นเปียโนของเขา ทำให้เขาได้เป็นนักดนตรีอาชีพครั้งแรกที่ผับแห่งหนึ่งในนครฮัมบวร์ค ตั้งแต่มีอายุเพียงสิบสามปี
ในปีค.ศ. 1853 บรามส์ออกตระเวนเปิดการแสดงกับเพื่อนนักไวโอลิน ชื่อแอแด แรเมญี ซึ่งทำให้เขามีโอกาสได้พบกับนักไวโอลินชื่อดังแห่งยุค โยเซ็ฟ โยอาคิม ผู้ซึ่งประทับใจฝีมือของบรามส์มาก และยังได้แนะนำให้เขาได้รู้จักกับฟรันทซ์ ลิสท์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชูมัน กับภรรยา คลารา ชูมัน ซึ่งเขาได้สนิทสนมด้วยเป็นอย่างดี อิทธิพลของชูมันที่มีต่องานของบรามส์นั้นใหญ่หลวงนัก
ระหว่างปี ค.ศ. 1857 ถึง ค.ศ. 1859 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะนักร้องประสานเสียงประจำวังของเจ้าชายแห่งเด็ทม็อลท์ ในช่วงเวลานี้เองที่เขาได้ประพันธ์เซเรเนดสำหรับวงดุริยางค์ขึ้นสองบท และคอนแชร์โตสำหรับเปียโนชื้นแรก
ในค.ศ. 1862 เขาได้เดินทางกลับสู่นครเวียนนา ชื่อเสียงในฐานะนักดนตรีของเขาเพิ่มขึ้น และได้รับการยกย่องให้เป็น ทายาทดนตรีของเบทโฮเฟิน เพลงสวดเรเควียมของเขาเป็นเครื่องพิสูจน์คำกล่าวนั้นได้เป็นอย่างดี
ในปีค.ศ. 1870 เขาได้พบกับวาทยกรฮันส์ ฟ็อน บือโล ผู้ซึ่งมีอุปการคุณต่องานดนตรีของบรามส์เป็นอย่างมากในภายหลัง
ในปีค.ศ. 1876 บรามส์แต่งซิมโฟนีบทแรกสำเร็จ ได้รับการขนานนามว่าเป็น ซิมโฟนีบทที่ 10 ของเบทโฮเฟิน ตามคำกล่าวของบือโล จากนั้นก็มีงานประพันธ์สำหรับวงดุริยางค์ตามมาจำนวนมาก ซิมโฟนีอีกสามบท คอนแชร์โตสำหรับไวโอลิน คอนแชร์โตหมายเลขสองสำหรับเปียโน จนกระทั่งถึงผลงานเอกในช่วงบั้นปลายชีวิต นั่นก็คือบทเพลงสำหรับแคลริเน็ต
งานของบรามส์ได้รับอิทธิพลหลากหลาย โดดเด่นด้วยศาสตร์แห่งเคานเตอร์พ็อยนต์และพอลิโฟนี ความงดงามของบทเพลงที่เขาประพันธ์อยู่ที่รูปแบบคลาสสิกที่ถูกแต่งแต้มด้วยความถวิลหาของยุคโรแมนติก แต่ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สีสันทางดนตรีอันบรรเจิด ท่วงทำนองที่สร้างสรรค์ และจังหวะทำให้ประหลาดใจด้วยการสอดประสานกัน
เป็นผลงานส่วนตัวของบรามส์ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ ซึ่งเราอาจนึกว่าจะเข้าใจยากเมื่อแรกได้ยิน แต่เราก็จะเข้าถึงได้และขาดไม่ได้ในที่สุด
นับเป็นหนึ่งในคีตกวีคนสำคัญของประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตก ศพของโยฮันเนิส บรามส์ถูกฝังไว้ที่สุสานกลางแห่งนครเวียนนา ในส่วนของนักดนตรีคนสำคัญผู้ล่วงลับ
ผลงานหลักๆ
[แก้]สำหรับวงดุริยางค์
[แก้]- เซเรเนด โอปุส 11 และโอปุส 16
- ซิมโฟนีหมายเลข 1 ในบันไดเสียง เอไมเนอร์ โอปุส 68
- ซิมโฟนีหมายเลข 2 ในบันไดเสียง ดีเมเจอร์ โอปุส 75
- ซิมโฟนีหมายเลข 3 ในบันไดเสียง เอเมเจอร์ โอปุส 90
- ซิมโฟนีหมายเลข 4 ในบันไดเสียง อีไมเนอร์ โอปุส 98
- เพลงโหมโรง "อะคาเดมิก เฟสติวัล" โอปุส 81
- เพลงโหมโรง "ทราจิก" โอปุส 81
- วาริเอชั่นจากทำนองของไฮเดิน โอปุส 56
- ฮังกาเรียน แดนซ์
คอนแชร์โต
[แก้]- คอนแชร์โตสำหรับเปียโน หมายเลข 1 โอปุส 15
- คอนแชร์โตสำหรับเปียโน หมายเลข 2 โอปุส 83
- คอนแชร์โตสำหรับไวโอลิน โอปุส 77
- ดัลเบิ้ลคอนแชร์โตสำหรับไวโอลิน และเชลโล่ โอปุส 102
เชมเบอร์มิวสิก
[แก้]- ควินเต็ต สำหรับแคลริเน็ตและเครื่องสาย โอปุส 115
- ทริโอ สำหรับ แคลริเน็ต เชลโล่ และเปียโน โอปุส 114
- เซ็กเต็ตสำหรับเครื่องสาย หมายเลข 1 โอปุส 18
- เซ็กเต็ตสำหรับเครื่องสาย หมายเลข 2 โอปุส 36
- โซนาต้าสำหรับแคลริเน็ตและเปียโน โอปุส 120
- โซนาต้าสำหรับไวโอลินและเปียโน โอปุสที่ 100 โอปุส 108
- โซนาต้าสำหรับเชลโล่และเปียโน หมายเลข 2 โอปุส 99
- ควินเต็ตสำหรับเครื่องสาย หมายเลข 1 โอปุส 88
- ควินเต็ตสำหรับเครื่องสาย หมายเลข 2 โอปุส 111
- ควอร์เต็ตสำหรับเครื่องสาย หมายเลข 1 และหมายเลข 2 โอปุส 51
- ควอร์เต็ตสำหรับเครื่องสาย หมายเลข 3 โอปุส 67
- ควอร์เต็ตสำหรับเปียโนและเครื่องสาย หมายเลข 1 โอปุส 25 หมายเลข 2 โอปุส 26 และหมายเลข 3 โอปุส 60
ดนตรีขับร้อง
[แก้]- "เยอรมัน" เรเควียม โอปุส 45
- Magelone Romanzen (เพลงโรแมนซ์สิบห้าบท) โอปุส 33 ; Zigeurnerlieder (เพลงร้องยิปซี) , Volskieder (เพลงพื้นบ้าน)
- Rinaldo โอปุส 50
- เพลงขับร้องสี่บท โอปุส 121
- แรพโซดี้สำหรับ นักร้องเสียงอัลโต้ และวงดุริยางค์ โอปุส 53
- เพลงอื่น ๆ อีกมากมาย
ดนตรีสำหรับเปียโน
[แก้]บรามส์ ได้แต่งเพลงบรรเลงเปียโนไว้เพียง 12 ชิ้น จากแคตตาล็อกผลงานทั้งหมดรวมกว่า 122 ชิ้น
- โซนาต้าสำหรับเปียโน หมายเลข 1 โอปุส 1
- โซนาต้าสำหรับเปียโน หมายเลข 3 ในบันไดเสียง เอฟไมเนอร์ โอปุส 5
- บัลลาร์ดสำหรับเปียโน โอปุส 10
- วาริเอชั่น กับ ฟิวก์ จากทำนองเพลงของไฮเดิ้น โอปุส 24
- วาริเอชั่น กับ ฟิวก์ จากทำนองเพลงของปากานีนี โอปุส 35
- วอลซ์ 16 บท โอปุส 39
- แรพโซดี้ โอปุส 76
- แรพโซดี้สำหรับเปียโน โอปุส 79
- บทเพลงสำหรับเปียโน โอปุส 116 และโอปุส 117
- บทเพลงหกชิ้นสำหรับเปียโน โอปุส 118 และ 119
บรามส์ยังได้ประพันธ์เพลงจำนวนหนึ่งไว้สำหรับบรรเลงด้วยเปียโนสี่มือ :
ผู้ถ่ายทอดผลงานของบรามส์ที่มีชื่อเสียง
[แก้]- วาทยากร : Carl Schuricht, Bruno Walter, Karel Ančerl, Wilhelm Furtwängler, Arturo Toscanini, Claudio Abbado, Herbert von Karajan
- นักเปียโน : Wilhelm Backhaus, Julius Katchen, Claudio Arrau, Rudolf Serkin, Maurizio Pollini, Radu Lupu
- นักไวโอลิน : Ginette Neveu, Nathan Milstein, Christian Ferras, Josef Suk, Itzhak Perlman
- เชมเบอร์มิวสิก : วงควอร์เต็ต แห่ง Wienerkonzerthaus, วงบุชส์ควอร์เต็ต วงบูดาเปสต์ควอร์เต็ต วงอมาดิอุส ควอร์เต็ต, วงอัลบัน แบร์กควอร์เต็ต
- นักร้องเดี่ยว : Kathleen Ferrier, Hans Hotter, Dietrich Fischer-Dieskau, Jorge Chaminé, Thomas Quastoff, Alexander Kipnis
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เกี่ยวกับบรามส์ (ภาษาอังกฤษ) เก็บถาวร 2004-04-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แคตตาล็อกผลงานของบรามส์ฉบับสมบูรณ์ (ภาษาฝรั่งเศส) เก็บถาวร 2005-03-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Classic Cat - Brahms mp3s เก็บถาวร 2010-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน