ข้ามไปเนื้อหา

เรือนไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรือนไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำลองลักษณะเรือนไทยภาคกลาง
เรือนไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเรือนเครื่องสับภาคกลางผสมกับการตกแต่งด้วยเครื่องลำยอง
เรือนไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเรือนเครื่องสับภาคกลางผสมกับการตกแต่งด้วยเครื่องลำยอง
เรือนไทยที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อำเภอองครักษ์
เรือนหมู่ภาคกลาง ในเมืองโบราณ

เรือนไทย ที่แต่เดิมที่นิยมใช้วัสดุจำพวกไม้ ไปจนถึงเครื่องก่ออิฐถือปูน โดยมีลักษณะร่วมที่เหมือนหรือแตกต่างกันไปตามแต่ละที่ ได้แก่ เรือนไทยภาคเหนือ เรือนไทยภาคกลาง เรือนไทยภาคอีสาน และ เรือนไทยภาคใต้ ซึ่งล้วนสอดคล้องกับการดำรงชีวิตของคนไทยในสมัยก่อนและแสดงออกถึงภูมิปัญญาไทย ทั้งนี้องค์ประกอบที่มีผลต่อรูปแบบเรือนไทยมีทั้งเรื่องสภาพแวดล้อม ภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ อาชีพ ฐานะความเป็นอยู่ คติความเชื่อและศาสนาในแต่ละภูมิภาค

ลักษณะทั่วไปของเรือนไทย

[แก้]

เรือนไทยสามารถจำออกเป็นหลายประเภทซึ่งแต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะตัว ได้แก่ เรือนเครื่องสับ, เรือนเครื่องผูก, เรือนเครื่องก่อ ในที่นี้เราจะอนุมานถึงเรือนไทยเครื่องสับเนื่องจากเป็นเรือนไทยที่ได้รับความนิยมสูงสุดโดยมากใช้เป็นเรือนสำหรับอยู่อาศัยตั้งแต่สามัญชน คนธรรมดาตลอดจนผู้มีฐานานุศักดิ์ชั้นสูงในสังคม เรือนไทยเครื่องสับทำด้วยไม้เนื้อแข็ง

  • ส่วนใหญ่จะสร้างด้วยไม้หรือวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติตามท้องถิ่นนั้น ๆ
  • มักสร้างด้วยวิธีประกอบสำเร็จรูปทั้งในเรือนเครื่องสับและเรือนเครื่องผูก สามารถรื้อถอนขนย้ายไปปลูกสร้างที่อื่นได้
  • มีหลังคาทรงสูง ทรงสูงจะทำให้การระบายน้ำออกจากหลังคารวดเร็ว และช่วยลดความเสี่ยงจากการรั่วซึมของหลังคาอีกด้วย เมื่อสังเกตที่ชายหลังคาจะเห็นว่า มีกันสาด ยาวตลอดเพื่อป้องกันแสงแดดจัด ที่ปลายทั้งสองด้านของหลังคาจะมียอดแหลมเรียกว่า “เหงา” เนื่องจากความเชื่อในสมัยก่อนที่ชาวบ้านนิยมนำเขาสัตว์มาแขวน บริเวณเชิงหลังคาเพื่อป้องกันและขับไล่ทูตผีปีศาจและวิญญาณชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในบ้าน
  • มีพื้นที่โล่งใต้เรือนไทยเรียกว่าบริเวณใต้ถุน โดยแต่เดิมบริเวณใต้ถุน บ้านจะถูกปล่อยไว้มิได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่อาจเป็นที่สำหรับเก็บอุปกรณ์การกสิกรรม หรือเป็นที่ทำหัตถกรรมนอกฤดูเก็บเกี่ยว แต่โดยมากมัก จะถูกทิ้งร้างมิได้ใช้ประโยชน์เนื่องจากในฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมบริเวณใต้ถุนบ้านทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้การเลือกบริเวณที่อยู่อาศัย ให้มีน้ำท่วมถึงเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อคนไทยในสมัยโบราณเป็นอย่างมากเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ทั้งนี้การยกเรือนไทยสูงจากพื้นยังช่วยป้องกันสัตว์ร้ายที่อาจมากับน้ำ เช่น งู หรือ ตะขาบ ได้อีกด้วย
  • เรือนไทยมีลักษณะเป็นเรือนขยายคือจะมีการขยายโดยสร้างเรือนไทยใหม่ที่อยู่ในบริเวณเรือนเก่า โดยจะเชื่อมต่อโดยใช้ “นอกชาน” เชื่อม เรือนไทยแต่ละเรือนไว้ด้วยกัน ตัวอย่างเช่นเมื่อครอบครัวมีสมาชิกใหม่ก็จะสร้างเรือนใหม่ไว้ใกล้เรือนเก่าของพ่อแม่โดยจะรวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน
  • การยึดเรือนไว้ด้วยกันจะไม่ใช้ตะปู แต่จะใช้เทคนิคการเข้าเดือยไม้ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะของเรือนเครื่องสับ

โครงสร้าง

[แก้]

เรือนไทยมีโครงสร้างแบบเสาและคานซึ่งถ่ายน้ำหนักมาจากหลังคาลงพื้น โดยผ่านเสาลงสู่ฐานราก เสาบ้านมีลักษณะสอบเข้า และเป็นเสากลม โคนโต ปลายสอบ ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงของเรือนไทยไม่ให้ทรุดตัวได้ง่าย เนื่องจากฤดูน้ำหลาก พื้นดินจะ เป็นโคลนตม และตัวเรือนอาจเกิดการทรุดตัวได้ง่ายหากไม่มีการล้มสอบของเสาเรือน

เรือนไทยที่มีชื่อเสียง

[แก้]