ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าหญิงลัลลา ลาติฟะฮ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหญิงลัลลา ลาติฟะฮ์
พระราชชนนี
ประสูติพ.ศ. 2488–2489
ใกล้เมืองเคนีฟรา ประเทศโมร็อกโก
สิ้นพระชนม์29 มิถุนายน พ.ศ. 2567 (78 ปี)
กรุงราบัต ประเทศโมร็อกโก
พระภัสดาสมเด็จพระราชาธิบดีฮะซันที่ 2 (พ.ศ. 2504–2542)
มุฮัมมัด เมดีอูรี (พ.ศ. 2543–2567)
พระบุตรเจ้าหญิงลัลลา มัรยัม
สมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6
เจ้าหญิงลัลลา อัสมา
เจ้าหญิงลัลลา ฮัสนา
เจ้าชายมูลัย รอชิด
ราชวงศ์อะลาวีย์ (เสกสมรส)

เจ้าหญิงฮัจญะ ลัลลา ลาติฟะฮ์ สกุลเดิม อะมะฮ์ซูน[1] (อาหรับ: لالة لطيفة أمحزون‎; เบอร์เบอร์: ⵍⴰⵍⵍⴰ ⵍⴰⵟⵉⴼⴰ ⴰⵎⵃⵣⵓⵏ; พ.ศ. 2489 – 29 มิถุนายน พ.ศ. 2567) อดีตพระราชชายาในสมเด็จพระราชาธิบดีฮะซันที่ 2 และเป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 แห่งโมร็อกโก โดยพระองค์ถูกเรียกขานว่า "พระชนนีแห่งมวลเจ้าฟ้า" (mother of the royal children)[2]

ทั้งนี้พระองค์ได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิส่วนบุคคลสูงยิ่งโดยเฉพาะในประเทศโมร็อกโก หนังสือพิมพ์โมร็อกโกฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่าอัลอะยัม (Al Ayam) เคยพยายามที่จะเผยแพร่พระรูปของพระองค์อันขัดต่อกฎหมายโมร็อกโก (สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ พ.ศ. 2499 ที่ระบุว่าห้ามมิให้เผยแพร่พระฉายาลักษณ์หรือพระรูปของเชื้อพระวงศ์โดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต)[3]

พระประวัติ[แก้]

เจ้าหญิงลัลลา ลาติฟะฮ์ มีพระนามเดิมว่า ฟาฏิมะฮ์ อะมะฮ์ซูน เป็นธิดาของผู้นำชาวเบอร์เบอร์เผ่าซาเยน (Zayane)[4] พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชาธิบดีฮะซันที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2504[5] และได้รับการเฉลิมพระนามเป็น เจ้าหญิงลัลลา ลาติฟะฮ์ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการสับสนกับเจ้าหญิงลัลลา ฟาฏิมะฮ์ พระชายาพระองค์แรกในสมเด็จพระราชาธิบดีฮะซันที่ 2 และเป็นพระญาติของเจ้าหญิงลัลลา ลาติฟะฮ์เอง

สมเด็จพระราชาธิบดีฮะซันที่ 2 และเจ้าหญิงลัลลา ลาติฟะฮ์ มีพระราชโอรส-ธิดาด้วยกัน 5 พระองค์ ได้แก่[6][7]

  1. เจ้าหญิงลัลลา มัรยัม (26 สิงหาคม พ.ศ. 2505) เสกสมรสและหย่ากับฟุอาด ฟีลาลี มีพระบุตรด้วยกัน 2 คน
  2. สมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 (21 สิงหาคม พ.ศ. 2506) อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงลัลลา ซัลมา มีพระราชบุตรด้วยกัน 2 พระองค์
  3. เจ้าหญิงลัลลา อัสมา (29 กันยายน พ.ศ. 2508) เสกสมรสกับคาลิด บูเชนตูฟ มีพระบุตรด้วยกัน 2 คน
  4. เจ้าหญิงลัลลา ฮัสนา (19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510) เสกสมรสกับคาลิด เบนฮัรบิต มีพระบุตรด้วยกัน 2 คน
  5. เจ้าชายมูลัย รอชิด (27 มิถุนายน พ.ศ. 2513) เสกสมรสกับอูม กัลทูม บูฟาแร็ส

หนึ่งในพระพี่น้องของพระองค์ คือ นายพลเมดบูฮ์ ฮัมมู อะมะฮ์ซูน (Medbouh Hammou Amahzoune) ถูกประหารพร้อมกับนายทหารระดับสูงอีก 9 นาย เนื่องจากมีส่วนร่วมในความพยายามก่อรัฐประหารสมเด็จพระราชาธิบดีฮะซันที่ 2 ในห้วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 42 ปี ณ พระราชวังฤดูร้อน[8][9] การประหารดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2514[9]

หลังสมเด็จพระราชาธิบดีฮะซันที่ 2 เสด็จสวรรคต พระองค์ได้เสกสมรสกับมุฮัมมัด เมดีอูรี (Mohamed Mediouri) อดีตราชองครักษ์ของอดีตพระราชสวามี[10][11]

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 เจ้าหญิงลัลลา ลาติฟะฮ์ มีพระอาการพระประชวรและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในประเทศฝรั่งเศส จากนั้นสมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพระราชชนนี[12]

สิ้นพระชนม์[แก้]

เจ้าหญิงลัลลา ลาติฟะฮ์ สิ้นพระชนม์ในกรุงราบัต ประเทศโมร็อกโก เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2567[13][a] พระราชพิธีพระศพจัดขึ้นเป็นการส่วนพระองค์ในวันเดียวกันนั้นเอง ณ อาคารโถงประดิษฐานพระศพมูเลย์ เอล-ฮัซซัน ตั้งอยู่ภายในพื้นที่พระราชวังหลวงกรุงราบัต[14] สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลสหราชอาณาจักรในโมร็อกโกลดธงครึ่งเสาแสดงความอาลัยต่อการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงพระราชชนนี[15] โดยสองประเทศแรกที่ได้ส่งสาส์นแสดงความอาลัยมายังสมเด็จพระราชาธิบดีคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแอลจีเรีย[16][17]

อ้างอิง[แก้]

  1. Aissa Amourag (17 October 2008). "Une escroquerie presque parfaite". MarocHebdo. สืบค้นเมื่อ 1 October 2012.
  2. Hughes, Stephen. (17 November 1975).With Thousands on the Road from Morocco, King Hassan Encourages a Sahara March-in, People (magazine)
  3. (15 February 2009). Prohibido publicar fotos de la madre de Mohamed VI (Forbidden to publish photographs of Mohamed VI's mother), El País (in Spanish)
  4. (10 February 1967). The King of Morocco, Hassan II, The New York Times ("daughter of Kaid Amaroq, a mountain chieftain")
  5. Royal Ark
  6. (24 July 1999).Morocco's King Hassan dies, aged 70, Independent Online (South Africa)
  7. (27 March 1989). Royal Treat for Maggie, Evening Times
  8. "1971: Death for Moroccan rebel leaders". BBC. สืบค้นเมื่อ 19 July 2015.
  9. 9.0 9.1 "شاهد على العصر - أحمد المرزوقي - الجزء الثالث" (ภาษาอาหรับ). Al Jazeera. สืบค้นเมื่อ 12 March 2014.
  10. Mahjoub Tobji (2006-09-13). Les officiers de Sa Majesté:Les dérives des généraux marocains 1956-2006. Fayard. ISBN 978-2-213-64072-3.
  11. Ali Amar (2009-04-29). Mohammed VI, le grand malentendu. Calman-Levy. ISBN 978-2-702-14857-0.
  12. https://www.jeuneafrique.com/1366857/politique/maroc-mohammed-vi-a-nouveau-en-france-au-chevet-de-sa-mere/
  13. National, The (29 June 2024). "Tributes paid as King of Morocco's mother dies". The National (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 June 2024. สืบค้นเมื่อ 29 June 2024.
  14. "Maroc : mort de la princesse Lalla Latifa, mère de Mohammed VI - Jeune Afrique.com". JeuneAfrique.com (ภาษาฝรั่งเศส). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 June 2024. สืบค้นเมื่อ 29 June 2024.
  15. "World Leaders Extend Condolences to King Mohammed VI on Death of Princess Lalla Latifa". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 June 2024. สืบค้นเมื่อ 30 June 2024.
  16. "UAE leaders offer condolences to King of Morocco". gulfnews.com (ภาษาอังกฤษ). 29 June 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 June 2024. สืบค้นเมื่อ 30 June 2024.
  17. "Algérie – Maroc : Tebboune présente ses condoléances à Mohamed VI suite au décès de sa mère". TSA (ภาษาฝรั่งเศส). 29 June 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 June 2024. สืบค้นเมื่อ 30 June 2024.


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน