เจมส์ ฟิกก์
เจมส์ ฟิกก์ (อังกฤษ: James Figg) เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1695 ในมณฑลออกซฟอร์ดเชอร์[1] ประเทศอังกฤษ เจมส์ ฟิกก์ เป็นบุคคลที่ชื่นชอบในศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ในยุคนั้นการชกมวยยังไม่มีกฎกติกาที่ชัดเจน จึงคิดจะเปลี่ยนแปลงจากการต่อสู้เหล่านั้นให้กลายเป็นเกมกีฬาที่เป็นที่ยอมรับ
เจมส์ ฟิกก์ ประกาศตัวเองว่าเป็นนักมวยจากอังกฤษ ท้าชกกับทุกคนที่คิดว่าตัวเองแน่ โดยมีเงินเดิมพัน 100 ปอนด์ ในปี ค.ศ. 1715 และก็สามารถปราบทุกคนที่ขึ้นประฝีมือได้ทั้งหมด
การชกมวยในสมัยนั้น การกำหนดยกแต่ละยกใช้จอกเหล้าทองเหลืองขนาดบรรจุ 4 ออนซ์ เจาะรูขนาด 2 มิลลิเมตรที่ก้นจอก ลอยน้ำในถังไม้ เมื่อจอกเหล้าจมลงสู่ก้นกั้นเมื่อใด ให้เรียกว่าหนึ่งยก กติกาโดยทั่วไปได้แก่ ห้ามชกต่ำกว่าสะดือ ห้ามกอดรัดฟัดเหวี่ยง ห้ามกัด ห้ามซ้ำคู่ต้อสู้เมื่อล้ม เป็นต้น โดยที่กำหดยกไม่มี ไม่มีการสวมนวม
ในปี ค.ศ. 1719 ก็ไม่มีใครสู้เขาได้ เจมส์ ฟิกก์จึงประกาศตัวเองว่าเป็น "แชมเปี้ยนโลกคนแรกของโลก" (The First Bare-Knuckle Boxing Champion) และฟิกก์ก็ยังชกมวยต่อไปนานถึง 15 ปี ซึ่งการชกของฟิกก์นับเป็นการต่อสู้ที่นับว่าใหม่มากในยุคนั้น โดยดัดแปลงการชกด้วยหมัดเพียงอย่างเดียว ให้มีการเต้นฟุตเวิร์ก มีการโยกหัวหลบหมัดของคู่ต่อสู้ หมัดแย็บ หมัดฮุก เป็นต้น และนอกจากนี้ เจมส์ ฟิกก์ ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาดาบด้วยอีกต่างหาก และก็เป็นบุคคลแรกของอังกฤษที่ให้มีการเสียค่าบัตรเข้าชมการต่อสู้ของเขา ซึ่งกลายมาเป็นการซื้อตั๋วเข้าชมกีฬาอย่างในปัจจุบัน
เจมส์ ฟิกก์ ยังตั้งค่ายมวยขึ้นมา โดยนับเป็นค่ายมวยแห่งแรกของโลกอีกด้วย ชื่อ "แอมฟิเตอร์" (Amphiter) ขึ้นมาเพื่อฝึกสอนทั้งมวยและดาบ และก็ไม่มีใครเอาชนะได้ จึงยุติการชกไป และยกตำแหน่งแชมป์ให้แก่ จอร์จ เทเลอร์ ลูกศิษย์คนแรกของเขาเป็นแชมป์สืบต่อ
นอกจากนี้แล้ว เจมส์ ฟิกก์ ยังเป็นบุคคลแรกที่คิดค้นเวทีสำหรับชกมวยอีกด้วย โดยใช้ไม้กระดานยกเป็นพื้น และเอาไม้แผ่นทรงจตุรัสมากั้นเป็นการตีกรอบสำหรับการชก
หลังจากยุติการชกไปแล้วไม่นาน แจ๊ค ปรัฟตัน ก็ได้คิดค้นนวมสำหรับชกมวยขึ้น โดยนวมในยุคแรกเป็นถุงมือหนา ๆ แต่ยังไม่เป็นที่นิยมนักในช่วงต้น
เจมส์ ฟิกก์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1734 ที่กรุงลอนดอน เมื่ออายุได้เพียง 39 ปี เท่านั้น และศพของเขาถูกฝังอย่างสมเกียรติที่วิหารเวสต์มินเตอร์เช่นเดียวกับศพของบรรดาบุคคลสำคัญทั้งหลายของอังกฤษ
หลายสิ่งที่เจมส์ ฟิกก์ ได้คิดค้นและฝึกสอนนั้น กลายมาเป็นแนวทางซึ่งพัฒนามาเป็นมวยสากลอย่างในปัจจุบัน จนได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งมวยสากลสมัยใหม่" (Father of Modern Boxing)[2] [3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Miles, Henry Downes (1906). Pugilistica: the history of British boxing containing lives of the most celebrated pugilists. Vol. 1. Edinburgh: J. Grant. pp. 8–12.
- ↑ "Oxfordshire Blue Plaques (อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-17. สืบค้นเมื่อ 2012-01-16.
- ↑ Derek Birley (1993). Sport and the Making of Britain. Manchester University Press. p. 118. ISBN 071903759X.