เครื่องเงินวัวลาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพเครื่องเงินวัวลาย

เครื่องเงินวัวลาย ตำนานผลิตภัณฑ์เครื่องเงินในการทำเครื่องเงิน ของบ้านศรีสุพรรณนั้น ปรากฏหลักฐานตั้งแต่ครั้งพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสร้างความสัมพันธ์กับพุกาม และเจรจาขอช่างฝีมือ มายังเมืองเชียงใหม่ เพื่อฝึกเป็นอาชีพเสริมให้กับประชาชน ทำให้เชียงใหม่มีช่างหัตถกรรมพื้นบ้านที่ได้รับการฝึกฝนและมีการสืบทอดต่อเนื่องกันตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำเครื่องเงินของช่างบ้านศรีพรรณ ผู้ตีขันเงิน จะสลักลวดลายบนขันเงิน เป็นช่างในคุ้มหลวงเมืองเชียงใหม่ในอดีต และได้นำมาถ่ายทอดอย่างต่อเนื่องให้ลูกหลานจนสามารถเป็นช่างฝีมือ จนเป็นที่ยอมรับและได้ขยายแหล่งที่ผลิตเครื่องเงิน ไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ เช่นบ้านหารแก้ง อำเภอหางดง บ้านแม่หย้อย อำเภอสันทราย ซึ่งได้พัฒนารูปแบบลวดลายไปมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันเครื่องเงิน ได้พัฒนาไปมากรวมทั้งลวดลายก็ได้พัฒนาสู่วิถีชีวิตที่หลากหลายมากขึ้นเช่นกัน (ตำนานผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน-คัวเนียม และโลหะดุนลาย, 2549)

ในอดีตก่อนปี พ.ศ. 2500 ชาวบ้านวัวลายจะประกอบอาชีพทำนากันเป็นส่วนใหญ่ เมื่อว่างเว้นจากการทำนาก็จะเป็นช่างฝีมือประกอบชีพทำเครื่องเงินตามที่ไดรับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษโดยจะใช้แรงงานของสมาชิกในครอบครัว และเกือบทุกบ้านจะมีโรงงานขนาดเล็กประจำอยู่ที่บ้าน เรียกว่า “เตาเส่า”

สมาชิกในครอบครัวจะช่วยกันทำเครื่องเงินเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน และเพื่อการค้า โดยจะไปซื้อแร่เงินจากร้านคนจีนในตัวเมืองเชียงใหม่ จากนั้นจะนำแร่เงินมาตี-ขึ้นรูป ตามประเภทของผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำสลุง ขันล้างหน้า พาย ถาด โดยมากผู้ที่ทำหน้าที่เป็นช่างตีและขึ้นรูป จะใช้แรงงานชายได้แก่ พ่อ สามี ลูกชาย ส่วนผู้หญิงคือแม่ และลูกสาว จะรับหน้าที่เป็นช่างแกะลาย และนำเครื่องเงินไปขาย (วัวลาย หมื่นสาร ศรีสุพรรณ นันทาราม จากวัดศรีสุพรรณ, (ม.ป.ป.)

วัสดุในการผลิต[แก้]

การผลิตเครื่องเงินนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้ปริมาณแร่เงินจำนวนมาก ซึ่งแร่เงินที่ผลิตได้ในประเทศไทยนั้นได้มาจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งจะพบควบคู่กันกับแร่เงิน แต่ปริมาณที่ได้ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงต้องหาช่องทางที่จะนำเข้าหรือเสาะหาแร่เงินมาเพื่อการผลิต ซึ่งแร่เงินที่ได้มาจะมีความบริสุทธิ์แตกต่างกันไปแต่ความบริสุทธิ์ที่สามารถมีได้ในแร่เงินมากที่สุดคือ 99.999% อันเนื่องมาจากการคงรูปของเนื้อเงินที่ต้องมีส่วนผสมของแร่อื่นๆจึงไม่สามารถทำให้เป็น100% เต็มได้โดยการเสาะหาแร่เงินเพื่อใช้ผลิตเครื่องเงินนั้นมีอยู่สามวิธีดังนี้ (1) การนำเข้าแร่เงิน จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นแร่เงินที่ขุดขึ้นมาใหม่จากระบบเหมืองแร่ มีทั้ง แบบเป็นแท่ง และแบบเป็นเม็ดเงิน นำเข้ามาจากประเทศ เกาหลี จีน และแถบยุโรป ราคาจะขึ้นลงตามราคาของทองคำ และเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ราคาแร่เงิน วันที่16 กุมภาพันธ์ 2558 ขายออกราคาบาทละ 285 บาทกิโลกรัมละ 18,696บาท) (2) การนำเหรียญกษาปณ์ต่างๆ ที่ทำมาจากแร่เงินมีทั้งเหรียญของไทย และเหรียญของต่างประเทศ เช่น เงินเจียง เงินกำไล เงินดอกไม้ เงินท้อก เงินพดด้วง เงินปลิง เหรียญรูปี ฯลฯซึ่งในอดีตจะหาได้จากแถบชนบททางภาคเหนือของประเทศไทยที่มีชาวบ้านใช้เป็นเงินตราแลกเปลี่ยนและจะทยอยออกมาขายให้แก่พ่อค้าที่รับซื้อเครื่องเงินเก่า และนำมาใช้หล่อเครื่องเงินจนถึงปัจจุบัน (3) การหลอมเครื่องเงินเช่น คันน้ำ พานรอง ฝักมีด ถาด ชิ้นเก่าซึ่งชำรุดเสียหาย โดยจะมีพ่อค้ามาติดต่อรับซื้อและรวบรวมมาขายให้กับช่างที่ผลิตเครื่องเงินอีกทอดหนึ่ง เนื้อของแร่เงินชนิดนี้จะมีคุณภาพที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัย

(สิทธิเดช สุทธิ 16 กุมภาพันธ์ 2558)

อุปกรณ์และเครื่องมือในการผลิต[แก้]

อุปกรณ์ในการใช้ทุบตี
  1. ค้อนเหล็ก มีหลายขนาดหลายชนิด
  2. แท่นเหล็ก หรือแผ่นไม้ใช้รองตี
อุปกรณ์ในการขัด
  1. แปรงทองเหลือง และฝอยขัดหม้อ
  2. มะขามเปียก
  3. หินขัด หรือกีวีสำหรับขัดมัน
  4. น้ำ, สีสำหรับอุดรอยรั่วของชิ้นงาน
อุปกรณ์ในการแกะลาย
  1. แท่นที่สลักลายทำด้วยชันผสมด้วยน้ำมันหมู
  2. ค้อน
  3. ลิ่ม หรือสิ่ว เป็นอุปกรณ์ในกรทำลวดลาย

วิธีทำแท่น[แก้]

เคี่ยวชันน้ำมันหมูจนเป็นเนื้อเดียวกันเทลงไปในแท่นไม้ หรือแผ่นอะลูมิเนียม แผ่นโลหะ ที่จะทำชิ้นงาน เพื่อให้เป็นรูป และขนาดตามความต้องการ จากนั้นนำมาตีหรือแกะสลักเป็นรูปต่าง ๆ (ตำนานผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน-คัวเนียม และโลหะดุนลาย, 2549)

ขี้หย้า หรือ ขี้ชัน มีส่วนผสมตาม สูตรคือ ดินผง น้ำมันหมูหรือน้ำมันเครื่องเก่า ขี้ชันดิบ สูตร ขี้หย้าโต๋ง (ขี้ชันที่ต้องการความอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ เพื่อขึ้นรูปในขั้นตอนแรกๆ) จะมีอัตราส่วนคือ ดิน ๑ ชันดิบ ๓ น้ำมันครึ่งส่วน สูตร ขี้หย้ามาบ (ขี้ชันสำหรับรองชิ้นงานเพื่อตกแต่งเก็บลายละเอียด) จะมีลักษณะแข็งกว่าขี้หย้าโต๋ง แต่ไม่กระด้างจนเกินไปยังสามารถอ่อนตัวและคืนรูปได้ดี มีอัตราส่วนคือ ดิน ๑ ชันดิบ ๒.๕ น้ำมัน ครึ่งส่วน

ขี้หย้าหรือขี้ชัน ใช้ทำฐานรองแผ่นโลหะที่ต้องการจะตอกดุนเพราะมีความหยืดยุ่นและรับแรงกระแทกที่เหมาะสม การจะผสมขี้ชันให้ได้ดีนั้นต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ เพราะขี้ชันที่ผสมไม่ดีจะทำให้ชิ้นงานเกิดความเสียหายได้

โดยส่วนมากจะใช้ขี้ชันในกระบวนการทำเครื่องเงิน และดุนลายโลหะ ทั้งใส่ในแท่นกระบะสี่เหลี่ยมหรือวงกลมแล้วจะประยุกต์ตามท้องถิ่นนั้นๆ ถ้าชิ้นงานมีขนาดใหญ่มากๆจะเทราดไปกับพื้นแล้วโดนนำแผ่นพลาสติกมารองทั้งสองด้านเพื่อไม่ให้ติดกับพื้นผิว จึงจะนำแผ่นโลหะที่ต้องการจะตอกดุนลายวางซ้อนไป และหาวัสดมากดทับหรือจะใช้น้ำหนักตัวของช่างผู้ทำนั่งทับไว้ก็ได้

(สิทธิเดช สุทธิ 2 กุมภาพันธ์ 2558)

ขั้นตอนในการทำเครื่องเงิน[แก้]

  1. นำเงินมาหลอมในเบ้า ซึ่งทำด้วยดินเผามีลักษณะกลม แล้วนำไปเผ่าในเตาเผาที่ เรียกว่า " เตาเผ่า "มีลักษณะแบบสูบลมเข้า
  2. ให้เติมดินประสิวและข้าวสารตอกในขณะที่เครื่องเงินค่อย ๆละลาย เพื่อให้เนื้อเงินมีลักษณะเนียนเรียบและอ่อน
  3. ให้เติมผงถ่านลงไปในเงินที่กำลังละลาย เพื่อไม่ให้เนื้อเงินติดกับเบ้า แล้วนำเงินนั้นเทลงในเบิ้งที่ใส่น้ำมันก๊าดลงไปในเนื้อเบิ้งแล้ว ประมาณ 3-4 ของเบิ้ง จะทำให้เกิดการลุกไหม้ เพื่อให้เนื้อเงินจับตัวกันแน่น ไม่มีฟองอากาศ ลักษณะของเบิ้งนั้นทำจากดินเหนียว มีลักษณะเป็นหลุมไม่ลึก
  4. ใช้อุปกรณ์เกลี่ยหน้าเงอนให้เรียบ ทิ้งไว้ 5 นาที แล้วขุดนำผงถ่านออกมา
  5. คว่ำเบิ้งลง เพื่อให้แผ่นเงินหลุดออกมา
  6. นำแผ่นเงินที่หลอมเสร็จแล้วไปชุบกำมะถันผสมน้ำ ในอัตราส่วน 2ขวด:6 ถัง น้ำจะเปลี่ยนสีเป็น สีฟ้าอมเขียว เพื่อให้กรดเข้าไปแทนที่ฟองอากาศที่อยู่ในเนื้อเงิน จากนั้นนำไปแช่ในน้ำมะขามเปียก เพื่อล้างคราบสกปรกและกรดออก โดยใช้แปรงทองเหลืองขัดจะทำให้เนื้อเงินประกายสวยมากขึ้น
  7. นำแผ่นไปขึ้นรูปตามลักษณะที่ต้องการ โดยการทุบหรือตี ขณะนั้นเนื้อเงินก็จะเย็นตัว ทำให้ยากแก่การขึ้นรูป จึงต้องนำไปเผาไฟให้ร้อนอีกรอบ เพื่อให้เนื้อเงินอ่อนตัวลง แล้วนำไปขึ้นรูปต่อ
  8. นำเงินไปขัดด้วยแปรงทองเหลือง ในน้ำมะขามเปียกผสมผงหินขัด เนื้อเงินจะได้เป็นเงามากขึ้น (สรรพช่าง: ภูมิปัญญาท้องถิ่นเชียงใหม่.เชียงใหม่ สถาบัน, 2539.)

การแกะลายนูนสูง[แก้]

ในสมัยโบราณการทำลายนูนสูง ช่าง หรือที่เรียกว่าสล่า จะทำเป็นลายนูนสูงชั้นเดียว โดยดุนลายด้านในเพียงชั้นเดียว จากนั้นก็ประกอบลายด้านหลัง ต่อมาช่างก็คิดลายสองชั้น โดยการดุนลายด้านในสองชั้น จนถึงสามชั้น ช่างจะทาลายนูนสูงโดยสังเกตจากธรรมชาติ สิ่งที่อยู่รอบตัวทุกอย่าง โดยช่างพยายามที่จะให้เหมือนจริงทุกอย่าง การทำลายนูนสูงเป็นลานที่มีความสลับซับซ้อนมาก การทำงานของช่างใช้ทั้งสมาธิ ความใจเย็น ความอดทน และใช้เวลานานมากกว่าจะได้ชิ่นงานหนึ่ง ( ลายนูนสูง, ม.ป.ป.)

ขั้นตอนในการสลักลวดลายบนขันเงิน[แก้]

  1. นำเงินที่จะสลักลวดลายใส่ไปในแท่นพิมพ์ที่ทำด้วยชัน
  2. ตอกลายจากข้างในขันเงินให้นูนออกมา
  3. ใส่ชันลงไปในขันเงินนั้นให้เต็ม และคว่ำขันเงินนั้น เพื่อแต่งลวดลายภายนอกให้สวยงามด้วยเครื่องมือชนิดต่างๆให้เหมาะสมกับลายนั้น
  4. เอาชันออกจากขันเงินโดยการลนไฟ เมื่อชันละลายก็จะหลุดออกมาจากแบบพิมพ์
  5. ผิวที่ขรุขระใช้ขัดด้วยกระดาษทรายให้ผิวเนื้อเรียบ
  6. นำขันเงินที่เสร็จแล้วนั้นไปต้มด้วยน้ำกรดผสมกำมะถัน ต้มนานประมาณ 30 นาที ให้อุณหภูมิที่สูงมาก ถ้าอุณหภูมิไม่สูง วัตถุที่ต้มจะไม่ขาว
  7. ขัดขันเงินในน้ำสะอาดด้วยแปรงทองเหลือง จะใช้ผงซักฟอกกับน้ำมะขามเปียก หรือผงหินขัดก็ได้ ขันเงินนั้นจะขาวเป็นเงางาม(สรรพช่าง: ภูมิปัญญาท้องถิ่นเชียงใหม่ : 2539, หน้า )

อ้างอิง[แก้]

  • สถาบันราชภัฏเชียงใหม่. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่. สรรพช่าง: ภูมิปัญญาท้องถิ่นเชียงใหม่. เชียงใหม่ สถาบัน, 2539.
  • ตำนานผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน-คัวเนียม และโลหะดุนลาย. (ม.ป.ป.). [เอกสารอัดสำเนา]. เชียงใหม่: วัดศรีสุพรรณ.
  • วัวลาย หมื่นสาร ศรีสุพรรณ นันทาราม. (2549). [เอกสารอัดสำเนา]. เชียงใหม่: วัดศรีสุพรรณ.
  • ลายนูนสูง. (ม.ป.ป.). [เอกสารอัดสำเนา]. เชียงใหม่: วัดศรีสุพรรณ.