ข้ามไปเนื้อหา

ฮิโรโอะ โอโนดะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฮิโรโอะ โอโนดะ
ฮิโรโอะ โอโนดะ (ในระหว่างปี 1944 – 1945)
เกิด19 มีนาคม พ.ศ. 1922
ไคดัน จักรวรรดิญี่ปุ่น
เสียชีวิต16 มกราคม ค.ศ. 2014(2014-01-16) (91 ปี)
โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
รับใช้ ญี่ปุ่น
แผนก/สังกัด กองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่น
ประจำการค.ศ. 1941 – 1974
ชั้นยศร้อยตรี
การยุทธ์สงครามโลกครั้งที่ 2
ปฏิบัติการที่ฟิลิปปินส์ (ค.ศ. 1944-1945)

ร้อยตรี ฮิโรโอะ โอโนดะ (ญี่ปุ่น: 小野田 寛郎) เป็นนายทหารจักรวรรดิญี่ปุ่นผู้ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง และหลบซ่อนตัวอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์เป็นเวลากว่าสามสิบปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ยุติลงแล้ว เพราะไม่เชื่อว่าสงครามสิ้นสุดลง เขายอมมอบตัวในปี 1974[1]

การทหาร

[แก้]

โอโนดะได้รับการฝึกให้เป็นนายทหารข่าวกรองในชั้นเรียนปฏิบัติการพิเศษ เรียก "ฟูตามาตะ" (ญี่ปุ่น: 二俣分校) ที่โรงเรียนนางาโนะ ครั้นวันที่ 26 ธันวาคม 1944 กองทัพส่งเขาไปยังเกาะลูบัง ประเทศฟิลิปปินส์ โดยสั่งให้เขากระทำทุกวิถีทางเพื่อหน่วงมิให้ฝ่ายปัจจามิตรโจมตีเกาะนี้ รวมถึง ทำลายลานบินและท่าเรือ เขายังได้รับคำสั่งว่า ไม่ว่าในกรณีใด ห้ามมอบตัว และห้ามอัตวินิบาตกรรม

เมื่อโอโนดะถึงเกาะดังกล่าว เขาเข้าร่วมกับเหล่าทหารญี่ปุ่นที่ได้รับการส่งมาก่อนหน้านี้แล้ว ทหารกลุ่มนี้มียศสูงกว่าโอโนดะ และไม่ยอมให้เขาปฏิบัติหน้าที่ กองทัพประสมสหรัฐอเมริกาและเครือจักรภพฟิลิปปินส์จึงเข้ายึดเกาะได้โดยง่ายดายเมื่อเข้าสู่เกาะในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1945 ทหารญี่ปุ่นคนอื่น ๆ นอกจากโอโนดะไม่ตายก็ยอมมอบตัว ส่วนโอโนดะนั้นหนีไปยังภูเขาลูกหนึ่งพร้อมด้วยเพื่อนทหารอีกสามคน ประกอบด้วย พลทหารยูอิจิ อากัตสึ (Yūichi Akatsu), สิบโทโชอิจิ ชิมาดะ (Shōichi Shimada) และพลทหารชั้นเอกคินชิจิ โคซูกะ (Kinshichi Kozuka)

การซ่อนตัว

[แก้]

ณ ภูเขาแห่งนั้น โอโนดะและเพื่อนยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่รับมาต่อไป ทหารทั้งสี่คนนี้ได้พบใบปลิวมีเนื้อความว่า "สงครามจบแล้ว" ในเดือนตุลาคม 1945 อีกครั้งหนึ่ง พวกเขาพบใบปลิวซึ่งทิ้งไว้โดยชาวเกาะ มีเนื้อความว่า "สงครามจบไปตั้งแต่ 15 สิงหาคมแล้ว ลงมาจากเขาเสีย!" ทว่า พวกเขาเห็นว่าใบปลิวเหล่านี้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะพวกเขาถูกไล่ยิงเมื่อสองสามวันก่อน[1]

หลังจากหลบซ่อนตัวอยู่บนภูเขาลูกนั้นกว่าหนึ่งปี พลเอกโทโมยูกิ ยามาชิตะ แห่งกองทัพภาคที่ 14 สั่งให้โปรยใบปลิวพร้อมคำสั่งให้พวกเขามอบตัวเสียอีกครั้งหนึ่ง ทหารทั้งสี่ได้รับใบปลิวและเชื่อกันว่าเป็นเรื่องเท็จ

ในเดือนกันยายน 1949 พลทหารอากัตสึ ตัดสินใจละกลุ่ม หกเดือนถัดมา เขามอบตัวเองแก่กองทัพฟิลิปปินส์ ทหารสามคนที่เหลือเห็นว่าการกระทำของพลทหารอากัตสึนำปัญหาทางความมั่นคงมาให้แก่กลุ่ม และจัดการระแวดระวังมากขึ้น

ในปี 1952 มีการโปรยจดหมายและรูปถ่ายจากครอบครัวของทหารทั้งสามลงมารอบบริเวณภูเขาเพื่อขอให้มอบตัว ทว่า ทหารทั้งสามยังคงเชื่อว่า สงครามยุติแล้วนั้นเป็นเรื่องเท็จ ในเดือนมิถุนายน 1953 สิบโทชิมาดะถูกคนหาปลาท้องถิ่นยิงขา แต่โอโนดะช่วยพยาบาลจนหาย ครั้นวันที่ 7 พฤษภาคม 1954 สิบโทชิมาดะถูกคณะค้นหาคนหายิงตาย ในเดือนธันวาคม 1959 มีประกาศว่าโอโนดะตายแล้ว ทว่า เหตุการณ์ในวันที่ 19 ตุลาคม 1972 ซึ่งพลทหารโคซูกะถูกเจ้าพนักงานตำรวจท้องถิ่นยิงตาย ขณะที่เขาและโอโนดะปฏิบัติการตามคำสั่งที่ได้รับมอบมาด้วยการเผายุ้งฉาง เป็นหลักฐานว่าโอโนดะยังไม่ตาย จึงมีการตั้งคณะค้นหาเขา แต่ไม่พบ

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1974 โอโนดะพบโนริโอะ ซูซูกิ (Norio Suzuki) ซึ่งกำลังเดินทางรอบโลกเพื่อสืบหา "ร้อยโทโอโนดะ, หมีแพนด้า และปิศาจมนุษย์หิมะ ตามลำดับ"[2] ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนกัน ทว่า โอโนดะยังปฏิเสธที่จะมอบตัว เขากล่าวว่า เขายังรอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาอยู่

ซูซูกิจึงกลับญี่ปุ่นพร้อมภาพถ่ายเขาคู่กับโอโนดะเพื่อยืนยันว่าได้พบกัน รัฐบาลญี่ปุ่นจึงส่งพันตรีทานิงูจิ ผู้บังคับบัญชาของโอโนดะ ลงพื้นที่ พันตรีทานิงูจิถึงเกาะลูบัง และพบโอโนดะในวันที่ 9 มีนาคม 1974 เขาแจ้งเรื่องการพ่ายสงครามของญี่ปุ่นให้โอโนดะทราบ และสั่งให้โอโนดะวางอาวุธเสีย

หลังจากหลบซ่อนตัวในป่ามาเกือบสามสิบปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โอโนดะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ให้มอบตัว เขาได้แต่งเครื่องแบบ พร้อมดาบคู่กาย กับทั้งปืนอาริซากะไรเฟิลชนิด 99 ซึ่งยังใช้การได้ดี บรรจุกระสุนห้าร้อยนัดและระเบิดมืออีกจำนวนหนึ่ง ลงจากภูเขา

แม้ในระหว่างอยู่บนเกาะ เขาได้ฆ่าราษฎรฟิลิปปินส์ไปสามสิบคน และประมือกับตำรวจท้องถิ่นอีกหลายครั้ง แต่เมื่อพิเคราะห์แล้ว ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) อภัยโทษให้เขา

ชีวิตต่อมา

[แก้]

หลังจากกลับญี่ปุ่นแล้ว โอโนดะได้รับความนิยมเป็นอันมาก ถึงขนาดที่ชาวญี่ปุ่นบางคนอยากให้เขาเป็นสมาชิกรัฐสภา เขาได้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ "ไม่เคยยอมแพ้ สงครามสามสิบปีของข้าพเจ้า" ("No Surrender: My Thirty-Year War") บรรยายชีวิตของเขาในช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่กองโจรตามคำสั่งของกองทัพญี่ปุ่นแม้ว่าสงครามจะยุติไปนมนานแล้วก็ตาม หนังสือดังกล่าวยังระบุว่า โอโนดะเองไม่ชอบใจนักที่ตนเองเป็นจุดสนใจ และไม่ชอบใจวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เขามองว่าลดคุณค่าประเพณีญี่ปุ่น หนังสือเช่นว่าได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ให้ชื่อว่า "สู้สุดขีด" และตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1980 (พ.ศ. 2523)[3]

ในเดือนเมษายน 1975 เขาละญี่ปุ่นไปใช้ชีวิตเป็นชาวไร่ในบราซิล เขาแต่งงานกับสตรีญี่ปุ่นชื่อ มาจิเอะ (Machie) ในปีถัดมา ครั้นปี 1980 หลังจากได้อ่านข่าวเรื่องวัยรุ่นญี่ปุ่นที่ฆ่าบิดามารดาตนเอง เขาตัดสินใจกลับประเทศแม่ในอีกสี่ปีถัดมา แล้วจัดค่ายทางการศึกษาสำหรับเยาวชน เรียก "โรงเรียนธรรมชาติของโอโนดะ" (Onoda Shizen Juku) ต่อมา เขาได้เป็นผู้นำชุมชนด้วย[4]

ในปี 1996 โอโนดะเยือนเกาะลูบังอีกครั้ง เขาอุทิศเงินหนึ่งหมื่นดอลลาร์สหรัฐให้แก่โรงเรียนท้องถิ่น ในปี 2006 มาจิเอะ โอโนดะ ภริยาของเขา ได้เป็นนายิกาสมาคมสตรีญี่ปุ่น[5]

แต่ละปี เขาจะเดินทางกลับไปใช้ชีวิตสามเดือนในบราซิล เขายังได้รับเหรียญกล้าหาญ "ซาตูส-ดูมง" (Santos-Dumont) จากกองทัพอากาศบราซิลเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2004 ด้วย[6]

ฮิโรโอะ โอโนดะ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557 ที่กรุงโตเกียว ด้วยโรคปอดบวม[7]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Onoda, p. 75
  2. "2nd Lt. Hiroo Onoda". สืบค้นเมื่อ 2010-04-03.
  3. "สู้สุดขีด". Toulo.com. สืบค้นเมื่อ 30 พฤษภาคม 2011.
  4. Mercado, Stephen C. (2003). The Shadow Warriors of Nakano. Brassey's. pp. 246–247. ISBN 1574885383.
  5. "Wife of 'No Surrender' soldier becomes president of conservative women's group". Japan Probe. 29 November 2006.
  6. "Combatente da II Guerra ganha medalha da FAB". Brazilian Air Force Centro de Comunicação Social da Aeronáutica Center for Social Communication of the Air. December 8, 2004. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-11. สืบค้นเมื่อ May 7, 2009.
  7. ไทยรัฐออนไลน์สิ้น 'โอโนดะ' ทหารคนดังของญี่ปุ่นในวัย 91 ปี

อ้างอิง

[แก้]
ISBN 0-7394-0756-2
ISBN 0-233-96697-8
ISBN 0-87011-240-6
ISBN 1-55750-663-9

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]