อิหร่านราชธรรม
นิทานอิหร่านราชธรรม เป็นนิทานซึ่งมุสลิมในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เข้าไปเล่าถวายต่อพระเจ้าแผ่นดิน และเนื่องด้วยนิทานเหล่านี้เป็นคติธรรมสำหรับกษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดินอย่างสูง จึงได้เป็นที่นิยมของคนไทยตลอดมา
เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น มีการทำนุบ้านเมืองให้คืนคงเป็นปกติ ได้มีการเขียนหนังสืออิหร่านราชธรรมขึ้นอีก จากความทรงจำของบรรดาผู้สูงอายุ เพื่อเก็บไว้ในหอพระสมุดหลวง หรือหอสมุดข้างที่ เป็นเรื่องที่พระเจ้าแผ่นดินจะเอามาอ่านได้ทุกเวลา
ชื่อบุคคลต่าง ๆ ในหนังสือนี้ มีเพี้ยนไปจากชื่อเดิมของอิสลามและเปอร์เซียเป็นอย่างมาก เช่นว่า "พระเจ้าญัมชีด" ในหนังสืออิหร่านราชธรรมก็เรียกเสียเป็นอย่างไทย ๆ "พระเจ้ายมสิทธิ์" หรือ "พระเจ้าสุลัยมาน" ก็เรียกว่า "พระเจ้าสุราไลมาน" ให้ฟุ่มเฟือยไป เมือง "แบกแดด" ก็เรียกว่าเมือง "ปัทดาษ" เมือง "มะดาอิน" ก็เรียกว่า "มะดาวิน" "พระเจ้านูชิเรวารุดดีน" ก็เรียกว่า "พระเจ้าเนาวเสนวารวาดิน" ให้ฟังดูเพราะ