อากาศยานไอพ่น
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
อากาศยานไอพ่น (อังกฤษ: jet aircraft) คือ อากาศยานที่ใช้เครื่องยนต์ไอพ่นเป็นพลังงานขับเคลื่อน การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงภายในเครื่องยนต์จะเกิดก๊าซร้อนมาก ซึ่งเมื่อพ่นออกมานั้นจะเกิดแรงดันไปในทิศทางตรงกันข้ามอย่างมหาศาล สามารถผลักดันให้อากาศยานเคลื่อนที่ไปได้อย่างรวดเร็วอากาศในท้องฟ้าระยะสูงจะมีความหนาแน่นน้อยลง แรงปะทะต้านทานก็น้อยลงไปด้วย แต่กำลังดันจากภายในเครื่องยนต์มิได้ลดน้อยลงเลย ดังนั้นอากาศยานไอพ่นจึงบินได้เร็วขึ้นในระยะสูงขึ้นตามลำดับ เพดานบินของอากาศยานไอพ่นจึงสูงกว่าอากาศยานธรรมดา ตามปกติเสียงวิ่งผ่านอากาศด้วยความเร็ว 1250 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือ 1 มัค (mach) ถ้าเร็วกว่านั้นเป็นสองเท่าหรือสามเท่าของเสียงก็เรียกว่า มัค 2 หรือ มัค 3 ตามลำดับ เครื่องบินไอพ่นเท่านั้นที่สามารถทำความเร็วได้สูงเช่นนี้ ในขณะที่บินด้วยความเร็วเหนือเสียงเราจะเรียกว่า โซนิค บูม (sonic boom)เป็นเหตุให้บานกระจก ประตูหน้าต่างแตกไปได้ เครื่องบินไอพ่นสมัยเริ่มแรกมิได้ศึกษาเรื่องนี้พอ จึงสร้างไว้ให้มีความแข็งแรงอย่างธรรมดา เมื่อบินเร็วมาก ๆถึงขั้นเจาะข้ามเขตกำแพงเสียง เครื่องบินไอพ่นก็จะเกิดระเบิดพังทลายเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตกลงมา มีลักษณะเหมือนปาขวดแก้วให้แตกละเอียดที่กำแพงหิน ดังนั้นเครื่องบินไอพ่นสมัยใหม่ที่มีความเร็วตั้งแต่หนึ่งเท่าของเสียงขึ้นไป จึงต้องมีโครงสร้างเป็นโลหะที่แข็งแรงเป็นพิเศษ ยังมีเครื่องบินอีกประเภทหนึ่ง เป็นเครื่องบินไอพ่นซึ่งสามารถขึ้นและลงตรง ๆ ในทางดิ่งได้ คุณลักษณะอันนี้เกิดจากการใช้เครื่องยนต์ไอพ่นพุ่งลงมาข้างล่าง ต่อเมื่อเครื่องพุ่งขึ้นได้ระยะสูงปลอดภัยแล้ว นักบินจึงบังคับให้ท่อไอพ่นหมุนเพื่อพ่นไอเสียไปข้างหลัง จะได้ผลักให้ตัวเครื่องบินเคลื่อนที่ไปข้างหน้า เครื่องบินไอพ่นแบบนี้ ไม่ต้องมีทางวิ่ง จึงใช้ประโยชน์ได้ดีมากบนเรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งมีดาดฟ้าที่คับแคบอยู่แล้ว ข้อเสียเปรียบก็มีอยู่ว่า ยังไม่สามารถสร้างเครื่องบินไอพ่นแบบนี้ให้บินได้นาน ๆ และไกล ๆ เท่าเครื่องบินไอพ่นธรรมดา