ห้องสมุดที่ว่างเปล่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ห้องสมุดที่ว่างเปล่า ที่เบเบลพลัทซ์ เบอร์ลิน

ห้องสมุดที่ว่างเปล่า (อังกฤษ: The Empty Library, 1995) หรือรู้จักในชื่อ บีบลิโอเทค (เยอรมัน: Bibliothek; ห้องสมุด) เป็นอนุสรณ์สาธารณะโดยประติมากรชาวอิสราอล มีชา อุลล์มัน เพื่อระลึกถึงการเผาหนังสือโดยนาซีที่มีขึ้นที่เบเบลพลัทซ์ในเบอร์ลิน เมื่อ 10 พฤษภาคม 1933 อนุสรณ์นี้ตั้งอยู่ลึกลงไปใต้ดินในจัตุรัสเบเบลพลัทซ์ ภายในเป็นตู้หนังสือว่างเปล่า เหตุการณ์การเผาหนังสือนั้นเกิดขึ้นโดยหนังสือ 20,000 เล่มเล่มจากนักเขียนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวยิว, นักคอมมิวนิสต์, เสรีนิยม และวิจารณ์สังคม ถูกเผาโดยยุวชนนาซีต่อหน้าผู้ชมจำนวนมาก บริเวณด้านหน้าหอสมุดใหญ่ของมหาวิทยาลัย[1]

ห้องสมุดที่ว่างเปล่า มีลักษณะเป็นห้องใต้ดินชนาด 530 โดย 706 โดย 706 เซนติเมตร (17.39 โดย 23.16 โดย 23.16 ฟุต) ผนังเป็นตู้หนังสือที่ว่างเปล่า และมีแผ่นกระจกปิดทับด้านบน ตัวประติมากรรมนี้ฝังอยู่ใต้ดินท่ามกลางทางเดินเท้าของจัตุรัส[2] อนุสรณ์นี้เป็นตัวอย่างของ "รูปติดลบ" (negative form) ดังที่เจมส์ อี ยัง (James E. Young) เรียก บุ๋มลงไปในพื้นหินของบาเบลพลัทซ์เป็นหลุม[3] การจัดวางอนุสรณ์ชิ้นนี้ให้อยู่ใต้ดินทำให้ผู้ชมต้องยื่นคอและก้มหน้าเพื่อมองเข้าไปภายในห้อง[2] พื้นที่ภายในห้องมีติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อให้ไม่เกิดไอน้ำเกาะกระจก และภายในห้องเปิดไฟสว่างอยู่ตลอดเวลา[4] ซึ่งเห็นชัดเป็นพิเศษในยามค่ำคืน

ในวโรกาสครบรอบ 60 ปีของเหตุการณ์การเผาหนังสือที่เบเบลพลัทซ์ ในปี 1993 คณะกรรมาธิการสิ่งก่อสร้างและบ้านเรือนเบอร์ลิน (Berlin Senat for Building and Housing) ได้ส่งคำเชิญไปยังศิลปินสามสิบคนเข้าร่วมการแข่งขันออกแบบอนุสรณ์[4] โดยผลงานของศิลปินชาวอิสราเอล มีชา อูลล์มัน ได้รับเลือก[5] โดยศิลปินเสนอให้ขุดลงไปในเบเบลพลัทซ์เพื่อสร้าง "หลุมว่างเปล่า"[3] อนุสรณ์เปิดเมื่อ 20 พฤษภาคม 1995[6]

หลายปีหลังเปิดอนุสรณ์ได้มีการติดตั้งแผ่นป้ายทองสัมฤทธิ์ห่างไปไม่กี่ฟุต[5] ซึ่งระบุเนื้อความจากบทละคร Almansor (1820) ผลงานประพันธ์ของนักเขียนชาวยยิวเยอรมัน ไฮน์ริช ไฮเนอ แปลได้ว่า "มันเป็นบทนำแน่นอน[ว่า]เมื่อใดที่พวกเขาเผาหนังสือ ท้ายที่สุดมนุษย์ก็จะถูกเผาเช่นกัน" หนังสือของไฮเนอถูกนาซีขึ้นบัญชีดำ และเป็นไปได้ว่าถูกนำมาเผาที่จัตุรัสนี้เช่นกัน

อ้างอิง[แก้]

  1. NDR. "10. Mai 1933: Bücherverbrennungen in Deutschland". www.ndr.de (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 2019-10-24.
  2. 2.0 2.1 Bickel, Stefanie (October 2008). "Searching for the Heavens When I Look Downward: A Conversation with Micha Ullman". Sculpture. Vol. 27 no. 8. pp. 32–37. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 January 2020.
  3. 3.0 3.1 Young, James Edward (2016). The stages of memory : reflections on memorial art, loss, and the spaces between. Amherst: University of Massachusetts Press. p. 158. ISBN 978-1-61376-493-0. OCLC 963603953.
  4. 4.0 4.1 Arandelovic, Biljana (2018), "Public Art in Berlin", Public Art and Urban Memorials in Berlin, The Urban Book Series, Springer International Publishing, pp. 39–210, doi:10.1007/978-3-319-73494-1_3, ISBN 978-3-319-73493-4
  5. 5.0 5.1 Young, James Edward. "Harvard Design Magazine: Memory and Counter-Memory". www.harvarddesignmagazine.org. สืบค้นเมื่อ 2019-12-06.
  6. "Book burning memorial at Bebelplatz". www.visitberlin.de (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2019-12-07.