หญิงสาวแห่งอาวีญง
หญิงสาวแห่งอาวีญง | |
---|---|
ฝรั่งเศส: Les Demoiselles d'Avignon, อังกฤษ: The Ladies of Avignon | |
ศิลปิน | ปาโบล ปิกาโซ |
ปี | ค.ศ. 1907 |
สื่อ | จิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ |
มิติ | 243.9 cm × 233.7 cm (96 in × 92 in) |
สถานที่ | พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ ผ่านทางลิลลี พี. บลิส นครนิวยอร์ก, สหรัฐ[1] |
หญิงสาวแห่งอาวีญง (ฝรั่งเศส: Les Demoiselles d'Avignon, อังกฤษ: The Young Ladies of Avignon) หรือชื่อเดิม ซ่องโสเภณีแห่งอาวีญง (The Brothel of Avignon)[2] เป็นภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบที่วาดโดยปาโบล ปิกาโซ ศิลปินชาวสเปนในปี ค.ศ. 1907 เป็นภาพหญิงโสเภณีเปลือยห้าคนในซ่องโสเภณีบนถนน Carrer d'Avinyó ในเมืองบาร์เซโลนา[3] แต่ละคนอยู่ในท่าทางเก้อเขินและส่งสายตาท้าทาย ปิกัสโซไม่ได้วาดทั้งหมดตามลักษณะความเป็นหญิง แต่วาดเป็นเหลี่ยมมุม ใบหน้าหญิงสาวสามคนถูกวาดตามศิลปะแบบไอบีเรีย ในขณะที่ใบหน้าหญิงสาวสองคนด้านขวาถูกวาดให้คล้ายกับหน้ากากชาวแอฟริกา ซึ่งปิกัสโซได้รับอิทธิพลจากบรรพกาลนิยม และกล่าวว่าลักษณะดังกล่าว “ปลดปล่อยเขาจากกฎเกณฑ์ของศิลปะแบบเดิม”[4] ภาพ หญิงสาวแห่งอาวีญง ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในภาพแนวก่อนบาศกนิยม ซึ่งต่อมาปิกัสโซพัฒนาเป็นบาศกนิยม ขบวนการทางศิลปะที่ใช้รูปทรงเรขาคณิตในการสร้างสรรค์ผลงาน[5] ปัจจุบันได้รับการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในนครนิวยอร์ก
ระหว่าง ค.ศ. 1901–1904 ปิกัสโซเริ่มมีชื่อเสียงจากผลงานยุคสีน้ำเงิน ซึ่งในขณะนั้นเขาประสบภาวะซึมเศร้า และเน้นใช้สีน้ำเงินเพื่อแสดงออกถึงความทุกข์ยากสิ้นหวัง[6] ต่อมาในปี ค.ศ. 1904 ปิกัสโซซึ่งมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นเริ่มหันมาใช้โทนสีชมพูเพื่อแสดงความสดใสร่าเริง เกิดเป็นยุคสีชมพู (ค.ศ. 1904–1906) ในช่วงปลายยุคนี้ ปิกัสโซศึกษาและทดลองศิลปะแนวอื่น ๆ เช่น ประติมากรรมไอบีเรีย ศิลปะโอเชียเนียและแอฟริกา จนกระทั่งในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1907 หลังร่างภาพไว้หลายร้อยภาพ ปิกัสโซก็เริ่มวาด หญิงสาวแห่งอาวีญง ในสตูดิโอที่ปารีส โดยได้รับแรงบันดาลใจจากงานของเอลเกรโก, ปอล เซซาน และปอล โกแก็ง[6][7][8]
ภาพ หญิงสาวแห่งอาวีญง ได้รับการจัดแสดงครั้งแรกที่ Salon d'Antin ในปี ค.ศ. 1916 ในชื่อ ซ่องโสเภณีแห่งอาวีญง แต่ภายหลังอ็องเดร แซลมอง เพื่อนของปิกัสโซเปลี่ยนชื่อเป็น หญิงสาวแห่งอาวีญง เพื่อลดความอื้อฉาว ช่วงแรกผู้ชมตอบรับภาพนี้ด้วยความไม่พอใจและมองว่าผิดศีลธรรม[9] ในหมู่ศิลปินด้วยกันมีความเห็นที่หลากหลายต่อภาพนี้ เดิมฌอร์ฌ บรักไม่ชอบภาพนี้ก่อนจะเปลี่ยนมาศึกษาและร่วมกับปิกัสโซสร้างสรรค์ผลงานแนวบาศกนิยมในภายหลัง[10] ในขณะที่แดเนียล-เฮนรี คาห์นไวเลอร์ชื่นชอบภาพนี้มากและกล่าวว่า หญิงสาวแห่งอาวีญง จะเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะบาศกนิยม[11] อย่างไรก็ตาม หญิงสาวแห่งอาวีญง ไม่ได้รับความสำคัญจนกระทั่งคริสต์ทศวรรษที่ 1920 เมื่ออ็องเดร เบรตันเผยแพร่บทความ The Wild Men of Paris: Matisse, Picasso and Les Fauves[12] ในปี ค.ศ. 2007 นิตยสารนิวส์วีกตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับภาพนี้พร้อมกับกล่าวว่า หญิงสาวแห่งอาวีญง เป็นผลงานที่ “ทรงอิทธิพลที่สุดในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา”[13] ในขณะที่ฮอลแลนด์ คอตเตอร์ นักวิจารณ์ศิลปะกล่าวในปี ค.ศ. 2011 ว่า “ปิกัสโซเปลี่ยนประวัติศาสตร์ด้วยภาพนี้ เขาแทนที่ภาพเปลือยที่ดูอ่อนโยนด้วยสิ่งมีชีวิตที่เย้ายวนและอันตราย”[14]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Steinberg, L., The Philosophical Brothel. October, no. 44, Spring 1988. 7–74. First published in Art News vol. LXXI, September/October 1972
- ↑ Richardson 1991, 19
- ↑ Farthing, Stephen (2016). 1001 Paintings You Must See Before You Die. London, Great Britain: Octopus Publishing Group. p. 585. ISBN 9781844039203.
- ↑ Sam Hunter and John Jacobus, Modern Art, Prentice-Hall, New York, 1977, pp. 135–136
- ↑ Cooper, 24
- ↑ 6.0 6.1 Melissa McQuillan, Pablo Picasso, MoMA, Grove Art Online, Oxford University Press, 2009
- ↑ Turner, Jane (1996), Grove Dictionary of Art, Macmillan Publishers, p. 372, ISBN 1-884446-00-0
- ↑ Frèches-Thory, Claire; Zegers, Peter. The Art of Paul Gauguin. Washington, D.C.: National Gallery of Art, 1988. pp. 372–73. ISBN 0-8212-1723-2
- ↑ Picasso's Les Demoiselles d'Avignon, edited by Christopher Green, Courtauld Institute of Art, University of London, Cambridge University Press, 2001
- ↑ Emily Braun, Rebecca Rabinow, Cubism: The Leonard A. Lauder Collection, Metropolitan Museum of Art, 2014, ISBN 0300208073
- ↑ Daniel Henry Kahnweiler, The Rise of Cubism, New York, Wittenborn, Schultz. This is the first translation of the original German text entitled Der Weg zum Kubismus, Munich, Delphin-Verlag, 1920
- ↑ Richardson 1991, 43
- ↑ Plagens, Peter. Which Is the Most Influential Work of Art of the Last 100 Years?, Art, Newsweek, 2 July/9 July 2007, pp. 68–69
- ↑ Cotter, Holland (10 February 2011). "When Picasso Changed His Tune". New York Times. สืบค้นเมื่อ 1 June 2017.