สุริยยาตร์และมานัต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประวัติและที่มาของตำราสุริยยาตร์และมานัต[แก้]

ตำราสุริยยาตร์และมานัต เป็นตำราสำหรับคำนวณตำแหน่งของดวงดาวซึ่งใช้ในวงการโหราศาสตร์ไทย มีข้อสันนิษฐานโดยอิงจากหลักฐานทางโบราณคดีว่า ตำราสุริยยาตร์และมานัตมีใช้ในวงการโหราศาสตร์ไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ในสมัยอยุธยาก็มีหลักฐานปรากฏถึงการมีอยู่ของตำราชุดนี้[1]

ในปีพุทธศักราช 2228 (ค.ศ.1685) รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ฝรั่งเศสส่งคณะทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอยุธยาเป็นครั้งแรกโดยมี เชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์เป็นราชทูต นอกจากการเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว คณะทูตยังมาทำการสำรวจจันทรุปราคาที่จะเกิดขึ้นในระยะนั้น โดยเตรียมกล้องดูดาวและอุปกรณ์มาพร้อมสรรพ เรื่องราวการสำรวจจันทรุปราคาและการถวายกล้องดูดาวให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงทอดพระเนตร ปรากฏในประวัติศาสตร์ของทั้งสองชาติ แต่มีเรื่องที่ทำให้คณะนักดาราศาสตร์ของฝรั่งเศสที่เดินทางมาต้องแปลกใจ โดยมีบันทึกในจดหมายเหตุของ บาดหลวง กีย์ ตาชารด์ ซึ่งเดินทางมาในคณะทูตด้วยว่า[2]

“มีพราหมณ์ซึ่งเป็นโหรคนหนึ่งที่เมืองละโว้ ได้พยากรณ์อุปราคาครั้งนี้ไว้ผิดไปชั่วเสี้ยวนาฬิกาเท่านั้นเอง แต่ก็คำนวณเวลาที่คราสจับนั้นผิดไปอักโข โดยว่าการคลายนั้นจะปรากฏขึ้นที่เส้นขอบฟ้าภายหลังที่อาทิตย์อุทัยแล้ว ก่อนหน้านี้สองสามวัน เราได้ประชุมหารือกับท่านโหราจารย์ผู้นี้อยู่ แต่โดยที่เราฟังภาษาสยามไม่ออก เราจึงหมดปัญญาไม่สามารถทราบได้ว่าเขาใช้วิธีใดคำนวณอุปราคา”[3]

หลังจากคณะทูตชุดแรกเดินทางมาเพียงสองปี ในปีพุทธศักราช 2230 (ค.ศ.1687) ฝรั่งเศสส่งคณะทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอยุธยาเป็นครั้งที่สองโดยมี โกลด เซเบเรต์ เดอ บุลเล เป็นราชทูตคนที่ หนึ่ง และซิมอง เดอ ลา ลูแบร์ เป็นราชทูตคนที่สอง เมื่อคณะทูตชุดนั้นเดินทางกลับในปีถัดไป ลา ลูแบร์ ได้นำตำราสุริยยาตร์กลับไปด้วยและได้มอบตำราสุริยยาตร์ให้แก่ จิโอวานนี โดมินิโก แคสสินี นักดาราศาสตร์ของฝรั่งเศส (เดิมเป็นชาวอิตาลี) เพื่อตรวจสอบ แคสสินีผู้นี้คือผู้คำนวณระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ได้อย่างแม่นยำเป็นคนแรก[2]

แคสสินีได้ตรวจสอบตำราสุริยยาตร์ที่ได้ไป รายละเอียดตัวเลขในตำรานั้นตรงกับตำราสุริยยาตร์ฉบับจุลศักราชตัดสรุปอัปที่ใช้กันอยู่จนถึงทุกวันนี้ทุกประการ แคสสินีได้สังเกตเห็นการแก้ไขตัวเลขมัธยมอาทิตย์ มัธยมจันทร์ในตำรา และได้สรุปไว้ดังนี้[2]

“เพราะเหตุฉะนี้ข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินว่า ที่เอา 40 ลิปดาออกเสียจากอาการโคจรของดวงจันทร์ และเอาอาการโคจรของดวงอาทิตย์ออกเสีย 3 ลิปดานั้น เป็นผลเนื่องจากความแตกต่างลางประการระหว่างเส้นเมริเดียนที่ได้ปรับเข้ากับหลักเกณฑ์เหล่านี้ไว้แต่ต้น กับเมริเดียนอีกเส้นหนึ่งที่ได้มีการตัดทอนต่อภายหลัง........ และสมมุติว่าเขาได้ทอนปรับเข้ากับเส้นเมริเดียนของประเทศสยามแล้วไซร้ หลักเกณฑ์อันนี้ก็จะลงกันได้กับหลักเกณฑ์อันแรก อย่างใกล้เคียงกับเส้นเมริเดียนนรสิงห์ (Narsinga) นั่นแล”[4]

ในสมัยรัตนโกสินทร์ ตำราสุริยยาตร์และมานัต ได้ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2473 เรียบเรียงโดยหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) โดยอยู่ในชุดตำราโหราศาสตร์ไทย เล่มที่ 3[5] ในชื่อว่า "พระสุริยยาตร์และมานัต" ผู้เขียนได้อธิบายไว้ในคำนำของหนังสือว่า

"ตำราพระสุริยยาตร์และมานัตนี้ เป็นตำราที่เป็นหลักสำหรับคำนวณทำปฏิทินที่ใช้ในทางราชการ และปฏิทินโหราศาสตร์อยู่ทุกๆปี ข้าพเจ้าได้เริ่มเรียบเรียงให้เป็นตำราเรียน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖ และค้างมาเป็นเวลาช้านาน จะได้ชี้แจงเหตุผลไว้ให้ทราบดังต่อไปนี้ แต่เดิมเมื่อข้าพเจ้าได้เรียนไปบ้างแล้ว รู้สึกว่ายังไม่ได้รับความเข้าใจในเหตุผลที่ครูให้ทำอย่างนั้นเลย เป็นแต่สักว่าทำไปได้ตามที่ครูสอนให้ เป็นการเบื่อและหนักใจมาก ข้าพเจ้าจึงได้ขอเรียนประวัติของโหราศาสตร์ ที่กล่าวด้วยเหตุผลตั้งเกณฑ์คำนวณขึ้นเป็นครั้งแรกแล้ว ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างไรจนถึงสมัยปัจจุปบันนี้แก่พระเทวโลก พระเทวโลกได้ชี้แจงว่า เกณฑ์การคำนวณโหราศาสตร์เท่าที่เล่าเรียนกันอยู่ในเวลานี้ เป็นแต่จำเกณฑ์ได้ก็ทำกันไปตามเกณฑ์ ส่วนเรื่องราวจะมีมาแต่เดิมเป็นอย่างไรนั้น เข้าใจว่าจะไม่ได้ตกเข้ามาในประเทศสยาม เพราะตำราโหราศาสตร์ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศสยามเป็นเดิมมา แต่ถ้าได้มีอยู่ก็คงจะได้ศูนย์เสียครั้งกรุงเก่าเสียแก่พะม่าแล้ว จึงไม่ได้มีใครพบเห็นที่ไหนเลย" (สะกดตามต้นฉบับเดิม)

ผลการคำนวณดาวอาทิตย์[แก้]

ภาพแสดงการโคจรของดาวอาทิตย์ คำนวณโดยตำราสุริยยาตร์และมานัต (คลิกที่รูปเพื่อดูภาพเคลื่อนไหว)

ในการคำนวณดาวอาทิตย์ตามตำราสุริยยาตร์และมานัตนั้น เมื่อสร้างแบบจำลองด้วยภาพวาดโดยอาศัยหลักการวาดวงรีของหลวงวิศาลดรุณกรหรือที่เรียกว่า"วงรีหลวงวิศาลฯ"[6] จะเห็นภาพการโคจรเป็นรูปวงรีซึ่งเป็นหลักการที่ถูกต้องตามหลักดาราศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในสาระสำคัญของวงโคจรดาว ซึ่งผู้สร้างตำราสุริยยาตร์ค้นพบก่อนที่วงการดาราศาสตร์ตะวันตกจะค้นพบ

ภาพแสดงผลการคำนวณสมผุสดาวอาทิตย์ตามตำราสุริยยาตร์และมานัต จากขั้นตอนการนำมัธยมอาทิตย์ลบอุจนีถึงได้ผลลัพธ์เป็นมหาสมผุสของดาวอาทิตย์ กรอบซ้ายมือแสดงเกณฑ์การคำนวณจากตำราสุริยยาตร์และมานัต กรอบกลางแสดงผลการคำนวณ และกรอบขวามือแสดงภาพวงโคจรของดาวอาทิตย์ที่คำนวณได้จากตำราสุริยยาตร์และมานัต โดยการวาดรูปแบบวงรีหลวงวิศาลฯ

ในกรอบขวามือนั้น ตัวเลขรอบวงกลมจักราศีนอกสุด (ลิปดา มัธยม - มนทสมผุส) คือค่าลิปดาของมัธยมอาทิตย์ในจุดเปลี่ยนราศี ในการคำนวณสมผุสอาทิตย์ตามตำราสุริยยาตร์และมานัต ผลลัพธ์การคำนวณจะคงที่ กล่าวคือเมื่อมัธยมอาทิตย์มีค่าใดค่าหนึ่ง ก็จะคำนวณผลลัพธ์สมผุสอาทิตย์ได้ค่าเท่ากันทุกครั้งเสมอ ดังตัวอย่างที่จุดราศี 11–0 หรือ มีน-เมษ ตัวเลข 21469 คือจำนวนลิปดาของมัธยมอาทิตย์ที่จะให้ผลลัพธ์เป็นสมผุสอาทิตย์ที่ 0 ลิปดา หรือจุดเริ่มต้นของราศีเมษนั่นเอง ตัวเลขที่จุดเริ่มต้นของราศีอื่นๆก็มีความหมายเช่นเดียวกัน

ช่องถัดมามีตัวเลขของราศีนับจากราศีเมษเป็นราศี 0 จนถึงราศีมีนเป็นราศี 11 และวงรีหลวงวิศาลฯแสดงรูปวงโคจรของดาวอาทิตย์ โดยมีตำแหน่งสมผุสดาวอาทิตย์เป็นรูปวงกลมซึ่งอยู่ระหว่างวงกลมของจักราศีและรูปวงโคจรของดาวอาทิตย์ วงในสุดแสดงวงกลมมัธยมอาทิตย์ โดยมีตำแหน่งอาทิตย์แสดงอยู่ด้วย

ตัวเลขสองจำนวนในเส้นวงโคจรของดาวอาทิตย์นั้น คือค่าของจำนวนลิปดาในแต่ละราศี โดยเริ่มวัดจากจุดอุจนี (Aphelion) ของดาวอาทิตย์เป็นราศี 0 ไปทีละ 30 องศา และค่าของจำนวนอันโตนาทีที่คำนวณมาจากค่าลิปดาในแต่ละราศี ตัวอย่างในช่องวงโคจรที่มีเลข 0 กำกับ มีค่าเท่ากับ 1869 และ 124.60 ตัวเลข 1869 นั้นคือจำนวนลิปดาในช่องราศี 0 นั้น และคำนวณหาอันโตนาทีจากสัดส่วนที่ว่า 1 วันมี 1440 นาที มี 21600 ลิปดา ได้ 124.60 นาที ในทุกช่องราศีของเส้นวงโคจรของดาวอาทิตย์มีความหมายเช่นนี้

ภาพแสดงการโคจรของดาวพฤหัสบดี คำนวณโดยตำราสุริยยาตร์และมานัต แสดงให้เห็นถึงการเล็งมองดาวเคราะห์จากวงโคจรของโลก ทำให้วงโคจรที่มองเห็นมีการเดินหน้าและถอยหลังหรือหยุดได้ และแสดงให้เห็นว่าวิธีการคำนวณของตำราสุริยยาตร์และมานัตนั้น เป็นการคำนวณจากหลักการโคจรของดาวเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาล โดยมีดาวอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง และมีหลักการถูกต้องตามจริงซึ่งเป็นหลักการเดียวกับดาราศาสตร์ (คลิกที่รูปเพื่อดูภาพเคลื่อนไหว)

จากภาพที่วาดขึ้นตามหลักการวงรีหลวงวิศาลฯ จะเห็นว่าวงโคจรของดาวอาทิตย์เมื่อมองจากโลกนั้นเป็นรูปวงรี (Ellipse) ซึ่งหากมองในทางกลับกัน นี่คือวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งโคจรเป็นวงรีและมีดวงอาทิตย์เป็นจุดโฟกัสจุดหนึ่ง ตามกฎแห่งวงรีของ โยฮันเนส เคปเลอร์

ผลการคำนวณดาวเคราะห์[แก้]

ภาพแสดงผลการคำนวณสมผุสดาวดาวพฤหัสบดีตามตำราสุริยยาตร์และมานัต จากขั้นตอนการนำมัธยมดาวพฤหัสบดีลบอุจนี จนถึงได้ผลลัพธ์เป็นมหาสมผุสของดาวดาวพฤหัสบดี กรอบซ้ายมือแสดงเกณฑ์การคำนวณตามตำราสุริยยาตร์และมานัต กรอบกลางแสดงผลการคำนวณ และกรอบขวามือแสดงภาพวงโคจรของดาวพฤหัสบดีที่คำนวณได้จากตำราสุริยยาตร์และมานัต โดยการวาดรูปแบบวงรีหลวงวิศาลฯ

ในกรอบขวามือด้านบนนั้น เป็นการคำนวณมนทสมผุสดาวพฤหัสบดีตามตำราสุริยยาตร์และมานัต ผลลัพธ์การคำนวณจะคงที่ กล่าวคือเมื่อมัธยมดาวพฤหัสบดีมีค่าใดค่าหนึ่ง ก็จะคำนวณผลลัพธ์มนทสมผุสดาวพฤหัสบดีได้ค่าเท่ากันทุกครั้งเสมอ เช่นเดียวกับการคำนวณดาวอาทิตย์

ในกรอบขวามือด้านล่างนั้น เป็นการคำนวณมหาสมผุสดาวพฤหัสบดีตามตำราสุริยยาตร์และมานัต ซึ่งเช่นเดียวกับมนทสมผุสผลลัพธ์การคำนวณจะคงที่ กล่าวคือเมื่อมัธยมดาวพฤหัสบดีและมัธยมรวิมีค่าใดค่าหนึ่ง ก็จะคำนวณผลลัพธ์มหาสมผุสดาวพฤหัสบดีได้ค่าเท่ากันทุกครั้งเสมอ

จากภาพที่วาดขึ้นตามหลักการวงรีหลวงวิศาลฯ จะเห็นว่าวงโคจรของดาวพฤหัสบดีเมื่อมองจากดาวอาทิตย์นั้นเป็นรูปวงรี (Ellipse) และถ้ามองจากโลกแล้วจะเห็นการโคจรของดาวพฤหสับดีมีทั้งแบบ เดินหน้า หยุดนิ่ง เดินเร็ว (เสริด) เดินช้า (มนท) และถอยหลัง (พักร) แล้วแต่ตำแหน่งและความเร็วของดาวทั้งสองจะสัมพันธ์กัน

จะเห็นได้ว่า ในการคำนวณดาวเคราะห์ของระบบสุริยจักรวาลตามตำราสุริยยาตร์และมานัต ให้ผลถูกต้องตามหลักดาราศาสตร์ หากแต่ว่าตำราสุริยยาตร์และมานัตถูกสร้างขึ้นมานานมากแล้วโดยไม่ได้มีการแก้ไขปรับปรุง จึงส่งผลให้มีความคลาดเคลื่อนของผลลัพธ์อยู่บ้าง และเหตุที่ไม่ได้มีการแก้ไขและปรับปรุงเลย ก็เป็นดังที่พระเทวโลกได้ชี้แจงไว้ นั่นคือไม่มีผู้ใดทราบถึงหลักการและเกณฑ์เลขที่ใช้ในการคำนวณ

เกณฑ์คำนวณในตำราสุริยยาตร์และมานัต[แก้]

ตารางแสดงที่มาของ เฉท ซึ่งเป็นเกณฑ์คำนวณในตำราสุริยยาตร์และมานัต (คลิกที่รูปเพื่อดูตารางทั้งหมด)
ตารางแสดงที่มาของ มนทพยาสน์ ซึ่งเป็นเกณฑ์คำนวณในตำราสุริยยาตร์และมานัต (คลิกที่รูปเพื่อดูตารางทั้งหมด)

เนื่องจากไม่มีผู้ใดทราบถึงหลักการและเกณฑ์เลขที่ใช้ในการคำนวณ จึงเคยมีผู้สันนิษฐานว่า ตำราสุริยยาตร์และมานัตมีหลักการคำนวณวงโคจรของดาวเคราะห์ในแบบ “เอปิไซเคิล” (Epicycle) [7]คือแบบที่มีความเห็นว่าโลกเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาล และดาวต่างๆโคจรรอบโลก แต่เมื่อได้มีการค้นพบที่มาของเกณฑ์เลขที่ใช้ในการคำนวณ[8] ทำให้สามารถค้นพบหลักในการคำนวณของตำราสุริยยาตร์และมานัต และสามารถสร้างแบบจำลองทางเรขาคณิตและใช้กรรมวิธีตรีโกณมิติพิสูจน์ผลลัพธ์ของการคำนวณวงโคจรของดาวเคราะห์ ทั้งดาวเคราะห์ชั้นใน (Inferior Planets) และ ดาวเคราะห์วงนอก (Superior Planets) ทั้งในแบบมนทสมผุส (heliocentric system) และแบบมหาสมผุส (geocentric system) เพื่อยืนยันได้ว่า ตำราสุริยยาตร์และมานัตมีหลักการคำนวณวงโคจรของดาวเคราะห์ในแบบที่มีดาวอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลาง ได้ถูกต้องตามหลักการทางดาราศาสตร์

การคำนวณวงโคจรมนทสมผุสดาวพฤหัสบดี ด้วยสามวิธีการเปรียบเทียบกัน 1.คำนวณตามตำราสุริยยาตร์และมานัต 2.คำนวณตามตำราสุริยยาตร์และมานัตโดยใช้วิธีตรีโกณฑ์มิติ และ 3.วิธีตรีโกณฑ์มิติ (คลิกที่รูปเพื่อดูภาพเคลื่อนไหว)
การคำนวณวงโคจรมหาสมผุสดาวพฤหัสบดี ด้วยสามวิธีการเปรียบเทียบกัน 1.คำนวณตามตำราสุริยยาตร์และมานัต 2.คำนวณตามตำราสุริยยาตร์และมานัตโดยใช้วิธีตรีโกณฑ์มิติ และ 3.วิธีตรีโกณฑ์มิติ (คลิกที่รูปเพื่อดูภาพเคลื่อนไหว)

และจากการทดสอบโดยผลการคำนวณจากตำราสุริยยาตร์และมานัตเปรียบเทียบกับผลการคำนวณทางดาราศาสตร์พบว่า[9] ช่วงเวลาที่ตำราสุริยยาตร์และมานัตถือกำเนิดขึ้นนั้น เป็นช่วงเวลาก่อนที่วงการดาราศาสตร์ตะวันตกจะค้นพบหลักการโคจรของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาลที่ถูกต้อง และจากประวัติของวงการโหราศาสตร์ไทยที่ระบุว่ามีตำราสุริยยาตร์และมานัตใช้กันมานับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ก็สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าวงการดาราศาสตร์ตะวันตกค้นพบหลักการโคจรและวิธีการคำนวณตำแหน่งของดาวเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาล หลังจากการถือกำเนิดของตำราสุริยยาตร์และมานัต

อ้างอิง[แก้]

  1. ตามรอยสุริยยาตร์ ตอนที่ 1 หน้า 28 โดย สหพรหม ธรรมทัต นิตยสารโหราเวสม์๒๐๐๐ ฉบับที่ ๑๕๐ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ สำนักพิมพ์เกษมบรรณกิจ ISSN 0125-2119 http://www.horawej.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539236447&Ntype=8
  2. 2.0 2.1 2.2 ตามรอยสุริยยาตร์ ตอนที่ 3 หน้า 26 - 28 โดย สหพรหม ธรรมทัต นิตยสารโหราเวสม์๒๐๐๐ ฉบับที่ ๑๕๒ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ สำนักพิมพ์เกษมบรรณกิจ ISSN 0125-2119 http://www.horawej.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539236947&Ntype=8
  3. จดหมายเหตุ การเดินทางสู่ประเทศสยาม ของ บาทหลวงตาชารด์ หน้า 91 แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร พิมพ์ครั้งที่เจ็ด ๑๐,๐๐๐ เล่ม พ.ศ. ๒๕๔๑ (กรมศิลปากร) หจก.บรรณกิจเทรดดิ้ง ISBN 974-221-228-7
  4. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร พิมพ์ครั้งที่สอง หน้า 571 สำนักพิมพ์ศรีปัญญา พ.ศ. ๒๕๔๘ ISBN 974-93533-2-3
  5. ตำราโหราศาสตร์เล่ม 3 ภาคที่ ๑ พระสุริยยาตร์และมานัต หลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) พิมพ์ครั้งแรก พุทธศักราช ๒๔๗๓ จำนวน ๑๐๐๐ ฉบับ โรงพิมพ์ศรีหงส์ หลังโรงหนังนาครเขษม
  6. ตามรอยสุริยยาตร์ ตอนที่ 5 หน้า 25 โดย สหพรหม ธรรมทัต นิตยสารโหราเวสม์๒๐๐๐ ฉบับที่ ๑๕๔ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ สำนักพิมพ์เกษมบรรณกิจ ISSN 0125-2119 http://www.horawej.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539237644&Ntype=8
  7. Deferent and epicycle https://en.wikipedia.org/wiki/Deferent_and_epicycle
  8. ตามรอยสุริยยาตร์ ตอนที่ 1 ถึงตอนที่ 17 โดย สหพรหม ธรรมทัต นิตยสารโหราเวสม์๒๐๐๐ ฉบับที่ ๑๕๐ ถึง ๑๖๖ สำนักพิมพ์เกษมบรรณกิจ ISSN 0125-2119
  9. ตามรอยสุริยยาตร์ ตอนที่ 4 หน้า 23 - 26 โดย สหพรหม ธรรมทัต นิตยสารโหราเวสม์๒๐๐๐ ฉบับที่ ๑๕๓ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕ สำนักพิมพ์เกษมบรรณกิจ ISSN 0125-2119 http://www.horawej.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539237359&Ntype=8