ข้ามไปเนื้อหา

สุขภาวะทางเพศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สุขภาวะทางเพศ (อังกฤษ: sexual wellbeing) หมายถึง การมีชีวิตทางเพศที่เป็นสุขและปลอดภัย

ระดับของสุขภาวะทางเพศ

[แก้]

สุขภาวะทางเพศจึงแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคม

สุขภาวะทางเพศระดับบุคคล
หมายถึง การที่บุคคลสามารถแสดงออกทางเพศและตัดสินใจด้วยตนเองโดยอิสระและไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีความเคารพต่อวิถีทางเพศที่แตกต่างจากตน มีสัมพันธภาพทางเพศที่ปลอดภัยและมีความพึงพอใจ โดยปราศจากการบังคับ การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรง โดยมีความคิดเชิงบวกต่อเรื่องเพศและสัมพันธภาพทางเพศ
สุขภาวะทางเพศระดับสังคม
หมายถึง การที่สังคมมีองค์ประกอบที่สร้างเสริมสุขภาวะทางเพศของคนในสังคมนั้น ประกอบด้วย การมีรัฐบาลที่ตระหนักว่าสุขภาวะทางเพศเป็นสิทธิพื้นฐานของบุคคล และแสดงความรับผิดชอบที่จะสนับสนุนสุขภาวะทางเพศ โดยกำหนดนโยบาย และกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิทางเพศของพลเมืองอย่างชัดเจน การให้การศึกษาเรื่องเพศที่เหมาะสมกับวัยและเพศตลอดช่วงอายุ การมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอต่อการให้บริการทางสังคมและสุขภาพ การศึกษาวิจัยและระบบเฝ้าระวังที่รอบด้าน และเพียงพอให้เกิดการป้องกันปัญหาสุขภาพอย่างเหมาะสม และเป็นสังคมที่เปิดกว้าง และให้ความสำคัญแก่สุขภาวะทางเพศของสมาชิกในสังคม


คำนิยาม

[แก้]

“สุขภาวะทางเพศ” ทั้งสองระดับสะท้อนความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันของแนวคิดเพศภาวะ เพศวิถี และสิทธิ (genders, sexualities, rights based approach) ซึ่งมีนัยยะว่า การสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศต้องคำนึงถึงความหลากหลายของวิถีทางเพศของคนในสังคม ต้องคำนึงว่าชีวิตทางเพศของคนในสังคมเป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลจากระบบความเชื่อและคุณค่าหลายระบบ และที่มีอิทธิพลมากคือระบบความเชื่อและคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับ ภาวะความเป็นผู้หญิง/ความเป็นผู้ชาย ต้องคำนึงว่าความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งผิดปกติ และเป็นสิ่งที่สามารถแปรเปลี่ยนตามกาลเวลาและประสบการณ์ในชีวิต และต้องคำนึงว่า “เพศ” เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการใช้ชีวิต การเคารพสิทธิทางเพศของตนเองและผู้อื่นเป็นส่วนหนึ่งของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นความจำเป็นสำหรับคนทุกเพศทุกวัยที่จะทำให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีสุขภาพดี


แนวคิดที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

สำหรับแนวคิดเพศภาวะ (gender) เพศวิถี (sexuality) และสิทธิ (rights) ที่นำมาใช้เป็นกรอบในการสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศระดับบุคคลและสังคมนั้น มีรายละเอียด ดังนี้

เพศภาวะ (Gender)

[แก้]

เพศภาวะ (Gender) หมายถึง ภาวะความเป็นหญิง เป็นชาย ที่ไม่ได้ถูกกำหนดโดยระบบชีววิทยา แต่ถูกกำหนดโดยปัจจัยทางวัฒนธรรม สังคม และอื่นๆ ทำให้สังคมเกิดความคาดหวังต่อความเป็นหญิงและชายในแง่มุมเฉพาะต่างๆ และมีส่วนกำหนดความเชื่อ ทัศนคติ มายาคติ (myth) รวมทั้งประเพณีปฏิบัติต่างๆ ที่ถูกทำให้กลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมในเรื่องของความเป็นหญิงเป็นชาย เพศภาวะเป็นสิ่งที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เช่น ผู้หญิงไทยในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นนิยมแต่งกายโดยนุ่งโจงกระเบนและไว้ผมสั้นเหมือนกับผู้ชาย จนชาวต่างชาติไม่สามารถแยกแยะคนไทยเพศหญิงและชายออกจากกันได้ ปัญหาของการทำความเข้าใจเพศภาวะ คือ ความเข้าใจผิดที่ว่า เพศสรีระเป็นตัวกำหนดเพศภาวะของบุคคล

เพศวิถี (Sexuality)

[แก้]

เพศวิถี (Sexuality) หมายถึง ค่านิยม บรรทัดฐาน และระบบวิธีคิด วิธีปฏิบัติที่เกี่ยวกับความปรารถนาและการแสดงออกทางเพศ ความคิดเกี่ยวกับคู่รัก คู่ชีวิตในอุดมคติ ซึ่งไม่ใช่พฤติกรรมตามธรรมชาติ แต่เป็นการสร้างความหมายทางสังคม เพศวิถีจึงสัมพันธ์กับมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่กำหนดและสร้างความหมายให้แก่เรื่องเพศในทุกแง่มุม เช่น “ความปกติ” ของการเป็นคนรักต่างเพศ “ความผิดปกติ” ของคนรักเพศเดียวกัน หรือ “ผู้หญิงดี” คือผู้ที่อ่อนประสบการณ์ หรือเป็นฝ่ายรับในเรื่องเพศ (passive) เพศสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับคนเพียงคนเดียว หรือหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย/ไม่ปลอดภัย รักต่างวัย รักนอกสมรส ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของเพศวิถี ซึ่งมีความหลากหลาย เพศวิถีเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัฒนธรรม ชนชั้น และกาลเวลา เช่น เพศวิถีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์มองว่าการที่ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น ห่มสไบผืนเล็กปกปิดร่างกายส่วนบน ไม่ถือว่าโป๊ หรือเป็นผู้หญิงใจแตก ใจง่ายแต่อย่างใด


สุขภาวะทางเพศและสิทธิต่างๆ

[แก้]

สิทธิทางเพศ

[แก้]

สิทธิทางเพศ หรือ sexual rights คือสิทธิของบุคคลที่ถูกระบุไว้แล้วในกฎหมายและข้อตกลงต่างๆทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เป็นสิทธิของคนทุกคนที่ต้องได้รับโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่มีการบังคับ และไม่มีความรุนแรงในเรื่องต่อไปนี้คือ [1]

  • การได้รับบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีมาตรฐาน
  • การได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิถีทางเพศ
  • การได้รับการให้การศึกษาเรื่องวิถีทางเพศ
  • การควบคุมเนื้อตัวร่างกายของตนเอง
  • การเลือกคู่ครอง
  • การตัดสินใจว่าจะมีเพศสัมพันธ์หรือไม่มี
  • การสมัครใจมีความสัมพันธ์ทางเพศ
  • การสมัครใจที่จะแต่งงาน
  • การตัดสินใจว่าจะมีบุตรหรือไม่และมีเมื่อใด
  • การมีชีวิตด้านเพศที่พึงพอใจและปลอดภัย

สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์

[แก้]

สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ หรือ reproductive rights คือสิทธิที่ถูกระบุไว้แล้วในกฎหมายและข้อตกลงต่างๆทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เป็นสิทธิพื้นฐานของบุคคลและของคู่สมรส ประกอบด้วยสิทธิมนุษยชน 12 ประการคือ

สิทธิในชีวิต

สิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของบุคคล

สิทธิในความเสมอภาคและความเป็นอิสระจากการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ

สิทธิในความเป็นส่วนตัวสิทธิในเสรีภาพแห่งความคิด สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารและการศึกษา

สิทธิในการเลือกว่าจะสมรสหรือไม่และสิทธิในการวางรากฐานและการวางแผนครอบครัว

สิทธิในการตัดสินใจว่าจะมีบุตรหรือไม่และจะมีเมื่อใด

สิทธิในการดูแลและป้องกันสุขภาพ

สิทธิในการได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

สิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมและการมีส่วนร่วมทางการเมือง

สิทธิในการปลอดจากการถูกทารุณกรรมและการปฏิบัติมิชอบ


กติกาสิทธิมนุษยชนสากลที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

กติกาสิทธิมนุษยชนที่ให้ความคุ้มครองสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ตามที่รัฐบาลไทยได้ลงนามรับรองประกอบด้วย[2]

  • ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2491 (Universal Declaration of Human Rights-UDHR, 1948)
  • กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR,1966)
  • แผนปฏิบัติการประชากรและการพัฒนา พ.ศ. 2537 (Program of Action of the International Conference on Population and Development-ICPD,1994)
  • แผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี จากการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องผู้หญิงที่กรุงปักกิ่ง ปี 2538 (Beijing Platform for Action-BPFA, 1995)
  • อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ อนุสัญญาผู้หญิง (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women-CEDAW, 1979)
  • กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural s-ICESCR,1966)
  • ปฏิญญาและแผนปฏิบัติการเวียนนา (Vienna Declaration and Program of Action, 1993)

มติสุขภาวะทางเพศ

[แก้]

การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสุขภาวะทางเพศ 3 ด้าน คือ ความรุนแรงทางเพศ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และเรื่องเพศกับเอดส์/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดขึ้นจากความตระหนักว่าประเด็นสุขภาวะทางเพศเป็นประเด็นเร่งด่วนที่สังคมต้องให้ความสำคัญ เพราะมีแนวโน้มขยายตัว ทวีความรุนแรง และซับซ้อนมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาระดับประเทศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางกาย ใจ และสังคม เครือข่ายสุขภาวะทางเพศ และเครือข่ายทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม จึงนำเสนอประเด็นสุขภาวะทางเพศ 3 ด้าน ต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้พิจารณาบรรจุในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปี 2551 ซึ่งก็ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 14 ประเด็น จากประเด็นที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาทั้งหมดประมาณ 60 ประเด็น

เครือข่ายทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและเครือข่ายสุขภาวะทางเพศ ได้ร่วมกันจัดกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่มาจากความเห็นและมุมมองที่หลากหลายและเป็นไปอย่างมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายที่ทำงานประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ด้าน โดยได้จัดเวทีสมัชชาสุขภาวะทางเพศขึ้น 3 ครั้ง ซึ่งในระหว่างกระบวนการนี้ ก็ได้จัดให้มีทีมวิชาการรวบรวมข้อมูลเชิงสถานการณ์เพื่อนำเสนอในเวทีสมัชชาสุขภาวะทางเพศทั้ง 3 ครั้ง รวมทั้ง นำความเห็นของภาคีเครือข่ายไปพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสุขภาวะทางเพศ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551 ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 11-13 ธันวาคม 2551 ได้ให้การรับรองมติสุขภาวะทางเพศตามที่เครือข่ายเสนอ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับรองมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทั้ง 14 ประเด็นในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อมิถุนายน 2552

อ้างอิง

[แก้]
  • เอกสารแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  1. Defining sexual health. Report of a Technical Consultation on Sexual Health. Geneva, World Health Organization, 2005 (in press).
  2. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง. สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ หัวใจสำคัญของสุขภาพผู้หญิง . 2550