ข้ามไปเนื้อหา

สำนักพิมพ์แบบเปิดที่ล่าเหยื่อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ในการตีพิมพ์ทางวิชาการ สำนักพิมพ์แบบเปิดที่ล่าเหยื่อ (อังกฤษ: predatory open access publishing) ใช้เรียกรูปแบบธุรกิจของสำนักพิมพ์แบบเปิดเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยการเก็บค่าตีพิมพ์จากผู้เขียนโดยไม่ได้ให้บริการในการแก้ไขและตีพิมพ์ตามหลักของวารสารวิชาการที่ถูกต้องทางกฎหมาย (ไม่ว่าจะมีการเข้าถึงแบบเปิดหรือไม่ก็ตาม) "บัญชีรายชื่อของบีลล์" (Beall's List) ซึ่งเป็นรายงานเขียนโดย เจฟฟรี่  บีลล์ ที่มีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ ได้เป็นตัวตั้งเกณฑ์ในการจำแนกสำนักพิมพ์ที่ล่าเหยื่อ และเรียบเรียงรายชื่อของสำนักพิมพ์และวารสารทางวิชาการอิสระซึ่งอยู่ในเกณฑ์เหล่านั้น[1] สำนักพิมพ์เอกสารวิชาการใหม่ๆ จากประเทศกำลังพัฒนานั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเหยื่อของการกระทำเหล่านี้[2][3]

ประวัติและบัญชีรายชื่อของบีลล์

[แก้]

ตำว่า "การเข้าถึงแบบเปิดที่ล่าเหยื่อ" ถูกบัญญัติโดยบรรณารักษ์ของมหาวิทยาลัยโคโลราโด เดนเวอร์ ที่ชื่อว่า เจฟฟรี่ บีลล์ หลักจากที่ได้รับอีเมลจำนวนมากที่เชิญชวนให้เขาส่งบทความ หรือเข้าร่วมคณะกรรมการบรรณาธิการของวารสารวิชาการที่ไม่เป็นที่รู้จัก เขาได้เริ่มค้นหาสำนักพิมพ์แบบเปิดและสร้างบัญชีรายชื่อของบีลล์ ซึ่งเรียบเรียงรายชื่อของ สำนักพิมพ์ทางวิชาการแบบเปิด ที่มีแนวโน้ม ความเป็นไปได้ หรือความน่าจะเป็นที่จะทำการล่าเหยื่อ[4] นอกจากนั้นบีลล์ยังเขียนหัวข้อใน The Charleston Advisor[1] กรณีนี้มีการรายงานในวารสารเนเจอร์[5] และในวารสาร Learned Publishing[6]

ก่อนหน้าความพยายามของบีลล์ มีการจัดทำต้นฉบับซึ่งประกอบด้วยเรื่องไร้สาระที่สร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์ (ผ่านโปรแกรม SCIgen) และส่งโดยนักศึกษาบัณฑิตศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ที่มีชื่อว่า ฟิล เดวิส (บรรณาธิการของบล็อก Scholarly Kitchen) ซึ่งถูกรับไว้ภายใต้เงื่อนไขค่าใช้จ่าย (แต่ภายหลังโดนถอนโดยผู้ส่ง) โดยหนึ่งในสำนักพิมพ์แบบเปิดซึ่งตอนนี้ถูกระบุอยู่ในบัญชีรายชื่อของบีลล์ (Bentham Open)[7] ข้อกังขาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์และการหลอกลวงในวารสารทางวิชาการแบบเปิดนั้นถูกกล่าวถึงตั้งแต่ปี 2552[8][9] ความกังวลเกี่ยวกับการสแปมจาก"แกะดำในหมู่วารสารทางวิชาการแบบเปิดและสำนักพิมพ์" ได้นำทางให้สำนักพิมพ์แบบเปิดชั้นนำได้ก่อตั้ง กลุ่มสำนักพิมพ์ทางวิชาการแบบเปิด ในปี 2551[10] รวมไปถึงในปี 2552 บล็อกที่ชื่อว่า งานวิจัยที่ไม่น่าเชื่อถือ ได้พบว่าวารสารทางวิชาการของสำนักพิมพ์ Scientific Research Publishing ได้ทำสำเนาบทความที่ได้ถูกตีพิมพ์ไปแล้วโดยสำนักพิมพ์อื่น[11] ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์คล้ายกันกับวารสารเนเจอร์เช่นกัน[12]

บีลล์ได้ตีพิมพ์บัญชีรายชื่อสำนักพิมพ์แบบเปิดที่ล่าเหยื่อครั้งแรกในปี 2553[4] ในเดือนสิงหาคม 2555 เขาได้ประกาศเกณฑ์ในการประเมินสำนักพิมพ์[4] โดยได้ออกฉบับที่ 2 ในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน[13] ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เขาได้เปิดให้สำนักพิมพ์ทำการอุทธรณ์การมีชื่ออยู่ในบัญชีได้ตามขั้นตอน[4]

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีบททดสอบทางด้านระบบการตีพิมพ์ (เผยแพร่ในเอกสาร Who's Afraid of Peer Review?) จอห์น โบฮานนอน หนึ่งในนักเขียนของนิตยสารไซแอนซ์ และป๊อปปูลาร์ไซแอนซ์ ได้ตั้งเป้าไปที่ระบบการเข้าถึงแบบเปิดในปี 2556 โดยการส่งงานพิมพ์ที่เต็มไปด้วยข้อผิดพลาดในหัวข้อ ผลกระทบของส่วนประกอบในไลเคน ไปให้วารสารเหล่านั้น ประมาณ 60% ของวารสารทางวิชาการได้ตอบรับงานพิมพ์ทางการแพทย์ผิดๆ นี้ ในจำนวนนั้นรวมไปถึง Journal of Natural Pharmaceuticals ในขณะที่อีก 40% ที่เหลือรวมไปถึง PLOS ONE ได้ปฏิเสธงานพิมพ์นี้[14] โดยข้อผิดพลาดของงานพิมพ์นี้อยู่ที่การทดลองไม่ได้ถูกประเมินอิสระ รวมไปถึงการใช้หลักการผิดๆ และการที่ไม่มีกลุ่มควบคุม[15][16]

ลักษณะของสำนักพิมพ์ที่ล่าเหยื่อ

[แก้]

ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับสำนักพิมพ์แบบเปิดที่ล่าเหยื่อมีดังนี้ 

  • รับบทความด้วยความรวดเร็วโดยผ่านการประเมินอิสระน้อยมาก หรือไม่ผ่านการประเมินคุณภาพเลย[17] ทั้งยังรับงานพิมพ์ที่เป็นการหลอกลวงและไม่มีมูล[7][18][19]
  • แจ้งให้ทราบถึงค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์หลังจากที่บทความถูกรับแล้ว[17]
  • มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องให้นักวิชาการส่งบทความหรือเข้าร่วมคณะบรรณาธิการ[4]
  • การลงชื่อนักวิชาการให้อยู่ในคณะบรรณาธิการโดยไม่ได้ขออนุญาต[1][20] และไม่อนุญาตให้ลาออก[1][21]
  • มีการใส่ชื่อนักวิชาการปลอมลงในคณะบรรณาธิการ[22]
  • ลอกเลียนแบบชื่อหรือรูปแบบเว็ปไซต์ของวารสารทางวิชาการที่มีชื่อเสียงมากกว่า[21]
  • มีการอ้างอิงแบบหลอกลวงเกี่ยวกับการดำเนินการตีพิมพ์ เช่น ระบุที่ตั้งผิด[1]
  • การใช้เลขมาตรฐานสากลสำหรับนิตยสารอย่างไม่เหมาะสม[1]
  • ใช้ปัจจัยกระทบปลอม หรือไม่มีเลย[23][24] 

การเติบโตและโครงสร้างของสำนักพิมพ์ที่ล่าเหยื่อ

[แก้]

วารสารทางวิชาการที่ล่าเหยื่อได้เพิ่มการตีพิมพ์บทความอย่างรวดเร็วจาก 53,000 บทความในปี 2553 ไปเป็นประมาณ 420,000 บทความในปี 2557 ผ่านทางวารสารทางวิชาการซึ่งยังมีการตีพิมพ์อยู่กว่า 8,000 ฉบับ[25] ก่อนหน้านั้นสำนักพิมพ์ที่มีวารสารทางวิชาการมากกว่า 100 วารสาร ครองส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่ ทว่าตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา สำนักพิมพ์ที่มีวารสาร 10–99 ฉบับได้เข้ามาครอบครองส่วนใหญ่ของตลาดแทน การกระจายของที่อยู่ของทั้งสำนักพิมพ์และผู้เขียนนั้นเอนเอียงอย่างชัดเจน โดยสามในสี่ส่วนของผู้เขียนนั้นมาจากทวีปเอเชียและแอฟริกา โดยเฉลี่ยแล้วผู้เขียนจ่ายเงินประมาณ 178 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบทความ ซึ่งได้ตีพิมพ์ประมาณ 2–3 เดือนหลังจากส่งบทความ

การยอมรับ

[แก้]

ในปี 2556 เนเจอร์ รายงานว่าบัญชีรายชื่อของบีลล์ และเว็ปไซต์นั้น "ถูกอ่านอย่างกว้างขวางโดยบรรณารักษ์ นักวิจัย และผู้ให้การสนับสนุนการเข้าถึงแบบเปิดซึ่งส่วนใหญ่ล้วนนับถือความพยายามของบีลล์ที่จะเปิดโปงการกระทำที่ไม่โปร่งใสของสำนักพิมพ์" [4]

ขณะเดียวกันยังมีคนบางส่วนที่ยังสงสัยว่า "มันยุติธรรมหรือไม่ที่วารสารทางวิชาการและสำนักพิมพ์ทั้งหมดนี้ถูกตราหน้าว่า'ล่าเหยื่อ' โดยเปรียบว่าสีเทาหลายเฉดสีอาจไม่สามารถถูกแยกแยะได้"[26]

การวิเคราห์ของบีลล์ยังถูกเรียกว่าเป็นการเหมารวมโดยไร้ซึ่งหลักฐานยืนยัน[27] นอกจากนั้น บีลล์ยังถูกวิจารณ์ในความอคติต่อวารสารทางวิชาการซึ่งมาจากประเทศที่ด้อยพัฒนา[28] บรรณารักษ์คนหนึ่งได้กล่าวว่าบัญชีรายชื่อของบีลล์นั้น "พยายามจะแยกแยะสถานการณ์ตื่นทองที่มีความซับซ้อนเป็นสองกลุ่มคือ ดี และไม่ดี ทว่าเกณฑ์หลายๆ อย่างไม่สามารถที่จะระบุเชิงปริมาณได้อย่างชัดเจน... เกณฑ์บางอย่างนั้นได้สมมติบนฐานของประเทศโลกที่หนึ่งซึ่งอาจไม่สามารถนำไปใช้กับประเทศอื่นๆ บนโลกได้"[29] คนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการที่คนๆ เดียวจะตัดสินและสร้างบัญชีรายชื่อ โดยเฉพาะเมื่อไม่มีความรู้เพียงพอ[30] บางกลุ่มได้พยายามที่จะตรวจสอบบัญชีรายชื่อของบีลล์ทีละรายชื่อ และบันทึกเหตุการณ์ที่บอกถึงความไม่สอดคล้องและความกำกวม และสรุปว่าบัญชีรายชื่อนี้ควรถูกมองข้าม รวมไปถึงเสนออัลกอริทึมบนฐานข้อมูลดัชนีวารสารทางวิชาการแบบเปิด (Directory of Open Access Journals, DOAJ)[31] บีลล์คัดค้านกับตัวเลือกนี้และยังเขียนจดหมายคัดค้านในกลางปี 2558[32]

นักชีวจริยธรรม อาเธอร์ คาแพลน ได้เตือนว่า สำนักพิมพ์ที่ล่าเหยื่อ ข้อมูลเท็จที่ถูกสร้างขึ้น และการขโมยความคิดทางการศึกษา อาจกัดกร่อนความมั่นใจในทางการแพทย์ ลดคุณค่าของวิทยาศาสตร์ และลดการสนับสนุนนโยบายอิงหลักฐานจากประชาชน

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Elliott, Carl (June 5, 2012).
  2. Kearney, Margaret H. (2015).
  3. Xia, Jingfeng; Harmon, Jennifer L.; Connolly, Kevin G.; Donnelly, Ryan M.; Anderson, Mary R.; Howard, Heather A. (2014).
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 Butler, Declan (March 27, 2013).
  5. Beall, J. (2012).
  6. Beall, J. (2013).
  7. 7.0 7.1 Basken, Paul (June 10, 2009).
  8. Suber, Peter (October 2, 2009).
  9. Beall, Jeffrey (1 กรกฎาคม 2009). "Bentham Open". The Charleston Advisor. 11 (1): 29–32(4).
  10. Eysenbach, Gunther.
  11. Abrahams, Marc (December 22, 2009).
  12. Sanderson, Katharine (January 13, 2010).
  13. Beall, Jeffrey (December 1, 2012).
  14. John Bohannon (Oct 2013).
  15. Eve, Martin (3 October 2013).
  16. Michael, Eisen (3 October 2013).
  17. 17.0 17.1 Stratford, Michael (March 4, 2012).
  18. Gilbert, Natasha (June 15, 2009).
  19. Safi, Michael (25 พฤศจิกายน 2014). "Journal accepts bogus paper requesting removal from mailing list". The Guardian. 
  20. Beall, Jeffrey (August 1, 2012).
  21. 21.0 21.1 Kolata, Gina (April 7, 2013).
  22. Neumann, Ralf (February 2, 2012).
  23. Jeffrey Beall (February 11, 2014).
  24. Mehrdad Jalalian, Hamidreza Mahboobi (2013).
  25. Shen, Cenyu; Björk, Bo-Christer (October 1, 2015).
  26. Haug, C. (2013).
  27. Bivens-Tatum, Wayne (2014).
  28. Berger, Monica (March 2015).
  29. Coyle, Karen (April 4, 2013).
  30. Murray-Rust, Peter (February 18, 2014).
  31. Crawford, Walt (กรกฎาคม 2014). "Journals, 'Journals' and Wannabes: Investigating The List" (PDF). Cites & Insights. 14 (7). ISSN 1534-0937.
  32. Swoger, Bonnie (November 26, 2014).

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]