สมาคมช่างนักบุญลูกา
ดูองค์การคล้ายคลึงกันที่ สถาบันเซนต์ลูค
สมาคมช่างนักบุญลูกา (อังกฤษ: Guild of Saint Luke) เป็นชื่อที่ใช้กันโดยทั่วไปสำหรับสมาคมช่างจิตรกรและศิลปินอื่น ๆ ทางตอนเหนือของยุโรปโดยเฉพาะในบริเวณกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ เป็นชื่อที่ตั้งเป็นเกียรติแก่นักบุญลูกาผู้นิพนธ์พระวรสาร ที่ตำนานกล่าวกันว่าเป็นผู้วาดภาพเหมือนของพระแม่มารีย์[1] ฉะนั้นนักบุญลูกาจึงกลายมาเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์จิตรกรและศิลปินโดยทั่วไป
สมาคมช่างนักบุญลูกาที่มีชื่อเสียงที่สุดก่อตั้งขึ้นที่แอนต์เวิร์ป[2] และมีบทบาทต่อมาจนปี ค.ศ. 1795 เมื่อมาหมดอำนาจลง ในเมืองต่าง ๆ รัฐบาลท้องถิ่นมอบอำนาจให้สมาคมออกกำหนดเกี่ยวกับอาชีพภายในแต่ละเมืองที่สมาคมตั้งอยู่ ฉะนั้นสมาชิกของสมาคมจึงต้องเป็นมาสเตอร์ที่ต้องได้รับการศึกษาและการฝึกหรือขายภาพเขียนให้แก่สาธารณชน กฎที่คล้ายคลึงกันปฏิบัติที่เดลฟท์ที่ผู้ที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้นที่จะมีสิทธิขายภาพเขียนหรือตั้งห้องเขียนภาพได้[3] สมาคมแรก ๆ ในแอนต์เวิร์ปและบรูชสร้างหลักเกณฑ์ที่ใช้เป็นตัวอย่างในการก่อตั้งสมาคมในเมืองอื่น ๆ แม้แต่กฎการตั้งห้องเขียนภาพหรือการตั้งแผงขายภาพโดยตรงต่อสาธารณชน[4]
สมาคมช่างนักบุญลูกาไม่แต่เพียงเป็นผู้แทนจิตรกร ประติมากร และทัศนศิลปิน แต่ยังรวมถึงผู้ค้าขายศิลปะ, ศิลปินสมัครเล่น และแม้แต่ผู้รักศิลปะ (liefhebbers)[5] ในยุคกลางสมาชิกส่วนใหญ่ของทุกสมาคมที่เกี่ยวกับศิลปะมักจะเป็นจิตรกรหนังสือวิจิตร ซึ่งเป็นสมาคมเดียวกับจิตรกรที่เขียนบนไม้และผ้า - ในบางเมืองก็อาจจะรวม “ผู้คัดเขียน” (scriveners) ด้วย นอกจากนั้นก็อาจจะรวมช่างทาสีบ้านและช่างตกแต่งด้วย แต่เมื่อศิลปินก่อตั้งเป็นสมาคมนักบุญลูกาขึ้นมาต่างหากโดยเฉพาะในเนเธอร์แลนด์ ความแตกต่างของผู้เป็นสมาชิกก็เปลี่ยนไป[6] นอกจากจากกฎทั่วไปเกี่ยวกับการอาชีพแล้วโดยทั่วไปสมาคมก็ยังมีอำนาจในการตัดสินข้อขัดแย้งระหว่างศิลปินกับศิลปิน หรือศิลปินกับลูกค้าด้วย[5] สรุปแล้วสมาคมก็มีอำนาจควบคุมอาชีพส่วนบุคคลของจิตรกรที่ในเมืองที่ไม่มีสมาคมศิลปินต้องแก่งแย่งกันเอง