ข้ามไปเนื้อหา

วงศ์ย่อยงูโบอา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วงศ์ย่อยงูโบอา
งูอนาคอนดาเขียว (Eunectes murinus)
ภาพวาดของไททันโอโบอา แซร์อาโฮนเอนซิส (Titanoboa cerrejonensis)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Serpentes
วงศ์: Boidae
วงศ์ย่อย: Boinae
Gray, 1825
สกุล

วงศ์ย่อยงูโบอา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Boinae; อังกฤษ: Boa, Anaconda) เป็นวงศ์ย่อยของงูไม่มีพิษในวงศ์ Boidae

มีลักษณะโดยรวม คือ กระดูกพรีฟรอนทัลชิ้นซ้ายและขวามีขอบด้านในอยู่ชิดกันหรือแตะกัน มีแอ่งรับคลื่นความร้อนอินฟราเรดกระจายอยู่รอบขอบปากบนและล่าง

เป็นงูที่มีขนาดใหญ่ ขนาดเล็กที่สุด คือ ชนิด Candoia aspera ที่มีขนาดความยาว 60-90 เซนติเมตร และใหญ่ที่สุด คือ Eunectes murinus หรืองูอนาคอนดาเขียว ที่ยาวได้ถึง 11.5 เมตร น้ำหนักกว่า 250 กิโลกรัม

แต่ว่าในยุคก่อนประวัติศาสตร์มีงูในวงศ์ย่อยนี้อยู่ชนิดหนึ่ง คือ ไททันโอโบอา แซร์อาโฮนเอนซิส (Titanoboa cerrejonensis) ซึ่งได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว มีความยาวได้ถึง 13 หรือ 15 เมตร และอาจมีน้ำหนักได้มากถึง 2 ตัน ซึ่งนับว่าใหญ่และหนักกว่างูอนาคอนดาที่พบได้ในยุคปัจจุบันนี้มาก ค้นพบครั้งแรกเป็นซากดึกดำบรรพ์ในประเทศโคลอมเบีย เมื่อปี ค.ศ. 2007[1]

มีทั้งหมด 28 ชนิด 5 สกุล[2] โดยแพร่ขยายพันธุ์ด้วยการออกลูกเป็นตัวทั้งสิ้น จำนวนลูกที่คลอดแต่ละครั้งจะแตกต่างออกไปตามแต่ละสกุลและชนิด โดยสกุล Cadoia ซึ่งเป็นสกุลที่มีขนาดเล็กจะตกลูกครั้งละ 5-6 ตัว แต่ในขณะที่สกุล Eunectes หรือที่รู้จักดีในชื่อ งูอนาคอนดา ซึ่งมีขนาดใหญ่จะตกลูกได้ถึงครั้งละ 40 ตัวหรือมากกว่านั้น หรือสกุล Boa ที่ตกลูกได้ถึงครั้งละ 60-70 ตัว

เป็นงูที่ล่าเหยื่อได้แก่ นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมด้วยการใช้การรับรู้จากอินฟราเรดจากตัวเหยื่อด้วยการเข้ารัดเหมือนงูในวงศ์ Pythonidae

พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ทวีปอเมริกาใต้, เกาะมาดากัสการ์ และหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. [ลิงก์เสีย] โลกวิทยาการ - พบซากงูดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จากสารคดี
  2. จาก ITIS.gov (อังกฤษ)
  3. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หน้า 405-406 (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]