มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (อังกฤษ: Quantitative Easing) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “QE” เป็นหนึ่งในวิธีการของนโยบายการเงินแบบพิเศษที่มีเป้าหมายไม่ต่างกับนโยบายการเงินแบบปกติ คือ เพื่อรักษาเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจ ทั้งในแง่เสถียรภาพด้านการเงินและการกระตุ้นด้านอุปสงค์เพื่อให้เกิดการจ้างงานและให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้

มาตรการ QE นั้น เป็นมาตรการทางการเงินที่ไม่ได้ใช้ในช่วงเวลาปกติ (Unconventional Monetary Policy) กล่าวคือ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารกลางจะใช้นโยบายทางการเงินต่าง ๆ เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการทางการเงินที่ถูกใช้มากที่สุดคือคือการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่ต่ำ เพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจให้อยู่ในระดับที่ต่ำลง โดยมาตรการ QE เป็นมาตรการที่ใช้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภาคเอกชน นอกจากนั้นยังใช้เพื่อลดอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield) ให้อยู่ในระดับต่ำลงมา โดยที่ธนาคารกลางจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้ทั้งของภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดการลดต้นทุนในการกู้ยืมของภาคธุรกิจลง ซึ่งเป็นการช่วยให้การผลิต และการจ้างงานสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ก็ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านต่างๆด้วยเช่นกัน อาทิ เกิดแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อ เนื่องจากมีการอัดฉีดปริมาณเงินเข้าสู่ระบบ และยังส่งผลกระทบต่อค่าเงินที่อ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน[1]

อย่างไรก็ดีการดำเนินนโยบายการเงินแบบพิเศษนี้ ไม่สามารถทำได้เป็นระยะเวลานาน เพราะมีต้นทุนสูง โดยเฉพาะในด้านการสร้างความบิดเบือนในระบบเศรษฐกิจและการเงินจนอาจกระทบต่อเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจได้ อีกทั้งผลกระทบจากการดำเนินนโยบายเหล่านี้ไม่เพียงจำกัดในประเทศผู้ใช้เท่านั้น แต่ยังส่งผ่านไปยังประเทศอื่นๆ อีกด้วยในระยะข้างหน้า การดำเนินนโยบายการเงินจึงจำเป็นต้องกลับเข้าสู่ปกติ ซึ่งการถอนมาตรการเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยเช่นกัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE : Quantitative Easing)". Manager Online.