มะกอก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มะกอก
S. mombin, fruiting.
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Sapindales
วงศ์: Anacardiaceae
สกุล: Spondias
สปีชีส์: S.  mombin
ชื่อทวินาม
Spondias mombin
L.
ชื่อพ้อง

Spondias lutea L.

มะกอก หรือ มะกอกป่า ชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ ได้แก่ กอกกุก, กูก (เชียงราย); กอกหมอง (เงี้ยว – ภาคเหนือ); ไพแซ (กะเหรี่ยง – เชียงใหม่) เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตั้งแต่อินเดีย มาเลเซียจนถึงอินโดนีเซีย เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลาง สูงถึง 25 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเลี้ยงไม่มีขน เปลือกเรียบสีเทาแตกเป็นร่องเล็กน้อย เปลือกข้างในมีริ้วสีชมพูสลับขาว ใบประกอบ มีใบย่อย 3 – 5คู่ ปลายสุดเป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบรุปขอบขนาน หรือรูปหอก ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบแหลมหรือเบี้ยว ดอกออกเป็นช่อสีขาวตามปลายกิ่ง แต่ละดอกมีขนาดเล็ก มี 5 กลีบเกสรมีตัวเมียแยกเป็นสี่แฉก ผลสดมีเนื้อฉ่ำน้ำ ลักษณะรูปไข่หรือรูปรี เมื่อสุกผลสีเหลืองหม่น มีรอยแต้มสีน้ำตาลทั่วผล

มะกอกเป็นพืชที่ให้ผลตลอดปี ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค เป็นไม้กลางแจ้ง สามารถขึ้นได้โดยทั่วไป พบในป่าเบญจพรรณและป่าแดงทั่วไป ขึ้นได้ดินแทบทุกชนิด และเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่ชุมชื่น ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ซึ่งอาจปลุกลงหลุมได้

การใช้ประโยชน์[แก้]

ใบอ่อนของมะกอก ใช้เป็นผัก

ยอดอ่อนและใบใช้รับประทานเป็นผักรสเปรี้ยว ผลรสเปรี้ยวหวานเย็น ผลสุกใช้ปรุงรสเปรี้ยวในส้มตำ ใช้ปรุงรสเปรี้ยวในน้ำพริกหรือทำมะกอกทรงเครื่อง ในทางยา แก้เลือดออกตามไรฟัน และต้านอนุมูลอิสระ (วิตามินสูง) แก้ธาตุพิการ แก้บิด แก้ดีพิการ ทำให้ชุมคอ แก้กระหาย ผล เปลือก ใบ เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงสายตา แก้กระหายน้ำทำให้ชุ่มคอ และเลือดออกตามไรฟัน ใช้เมล็ดแห้ง 2 – 3 ลูก เผาไฟให้เป็นถ่าน แล้วนำไปแช่น้ำ กรองเอาน้ำดื่ม หรืออาจใช้ผสมยามหานิลก็ได้ แก้ร้อนใน หอบ และสะอึก

อ้างอิง[แก้]

  • นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. "มะกอกป่า" ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กรุงเทพมหานคร : แสงแดด, 2550, หน้า 134.