ข้ามไปเนื้อหา

มหาอัคคีภัยชิโรกิยะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เพลิงกำลังไหม้ห้าง

มหาอัคคีภัยชิโรกิยะ (ญี่ปุ่น: 白木屋大火โรมาจิShirokiya Taika) เป็นเหตุการณ์เพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าชิโรกิยะในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2475 คลอกคนตายสิบสี่คนและบาดเจ็บอีกหกสิบเจ็ดคน[1]

เพลิง

[แก้]

ในวันเกิดเหตุนั้น ห้างชิโรกิยะกำหนดจัดงานขายสินค้าช่วงปลายปีโดยมีแก่นงานเป็นเทศกาลคริสตสมภพ ภายในห้างประดับประดาอย่างวิจิตรอลังการ ครั้นเวลา 09:15 นาฬิกา ก่อนห้างเปิดเล็กน้อย เพลิงติดขึ้นที่แผนกของเล่น เสมียนคนหนึ่งซึ่งเป็นประจักษ์พยานได้ให้การว่า เห็นประกายเพลิงแปลบปลาบจากกระเปาะไฟฟ้าซึ่งใช้แต่งต้นคริสต์มาส ประกายนั้นเมื่อตกลงสู่ของเล่นประเภทเซลลูลอยด์แล้วก็ติดและลุกลามขึ้นโดยรวดเร็ว ชั้นบันไดที่เปิดโล่งยิ่งอำนวยออกซิเจนให้แก่เปลวเพลิง ยังให้เพลิงแพร่ไปยังชั้นอื่น ๆ ได้โดยง่าย และกลายเป็นปล่องควันไป เมื่อบันไดไหม้เสียแล้วก็เป็นอันตัดเส้นทางหลักสำหรับจะหลบหนีไปโดยปริยาย

ห้างชิโรกิยะนั้นประกอบด้วยชั้นบนดินแปดชั้น กับชั้นใต้ดินอีกสองชั้น เพลิงลุกตั้งแต่ชั้นบนดินชั้นที่สี่ขึ้นไปจนชั้นที่แปด เนื่องจากบันไดรถดับเพลิงขึ้นไม่ถึงชั้นที่ห้า ครั้นเพลิงมา ผู้คนที่ติดอยู่ในนั้นจึงจำต้องเอาตัวรอดกันโดยประการอื่น พนักงานสตรีจำนวนหนึ่งจำต้องไต่ขึ้นไปบนหลังคา เมื่อนักผจญเพลิงเตรียมฟูกรองรับไว้พร้อมแล้วจึงพากันกระโดดลง ขณะที่ผู้ประสบเหตุจำนวนหนึ่งพยายามทึ้งผ้าและม่านต่าง ๆ มาเรียงร้อยกันเป็นเชือกหมายจะใช้ห้อยโหนออกจากตึก คนราวแปดสิบคนใช้เชือกอย่างนั้นนำพาตัวออกจากชั้นที่เจ็ดได้เป็นผลสำเร็จ แต่ที่เชือกรับน้ำหนักไว้มิได้ตกลงสู่เบื้องล่างถึงแก่ความตายก็มี

ตำนานพื้นบ้าน

[แก้]

มีรายงานข่าวว่า ในอัคคีภัยคราวนั้น บรรดาพนักงานหญิงที่สวมกิโมโนไม่ยอมกระโดดจากหลังคาลงสู่ฟูกเบื้องล่าง เพราะกระดากอายเกลือกผู้คนจะเห็นว่าไม่นุ่งชั้นใน และยอมตายอยู่ในกองเพลิงแทน[2][3] ข่าวนี้ชาวยุโรปสนใจเป็นอันมาก ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นเองโจษจันกันจนกลายเป็นตำนานพื้นบ้าน (urban legend) ว่า ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าต้องสั่งให้พนักงานหญิงนุ่งชั้นในหรือกางเกงขาสั้นเมื่อสวมกิโมโน ต่อมา จึงกลายเป็นรสนิยมอย่างใหม่ไป[2][3]

อย่างไรก็ดี โชอิจิ อิโนอูเอะ (Shōichi Inoue) อาจารย์สาขาจารีตประเพณีและสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น ศูนย์วิจัยนานาชาติว่าด้วยการศึกษาญี่ปุ่น ว่า เรื่องหญิงญี่ปุ่นยอมตายไม่ยอมขายหน้าข้างต้นนั้นหาความจริงมิได้ เขาว่า นักผจญเพลิงช่วยผู้ประสบเหตุส่วนใหญ่ออกมาได้ทั้งนั้น และเรื่องหญิงดังกล่าวเป็นแต่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของชาวตะวันตก จนแพร่หลายอยู่ในหนังสืออ้างอิงจำนวนมาก แม้แต่ในเอกสารของทบวงป้องกันอัคคีภัยเอง นอกจากนี้ เขายังเห็นว่า แม้เชื่อถือกันทั่วไปในประเทศญี่ปุ่นว่า เหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ห้างชิโรกิยะเป็นจุดสำคัญที่เปลี่ยนแปลงรสนิยมในการบริโภคผ้าผ่อน โดยเฉพาะความนิยมหันไปนุ่งชั้นในอย่างตะวันตก แต่ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานรับรองความเชื่อถือนั้นแต่ประการใด[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "デパート火災余話" [Department Store fire episode] (ภาษาญี่ปุ่น). Tokyo Fire Department.
  2. 2.0 2.1 Richie, Donald (2006). Japanese Portraits: Pictures of Different People. Tuttle Publishing. p. 85. ISBN 0-8048-3772-4.
  3. 3.0 3.1 Dalby, Liza Crihfield (1983). Geisha. University of California Press. p. 318. ISBN 0-520-04742-7.
  4. Shōichi, Inoue (2002). パンツが見える。: 羞恥心の現代史 [My panties are visible. The history of being ashamed] (ภาษาญี่ปุ่น). Asahi shimbun. ISBN 4-02-259800-X.