ข้ามไปเนื้อหา

พอนทีซิตี

พิกัด: 26°11′26″S 28°3′25.5″E / 26.19056°S 28.057083°E / -26.19056; 28.057083
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พอนทีซิตีอะพาร์ตเมนต์
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะสร้างเสร็จ
ประเภทที่อยู่อาศัย
ที่ตั้งเบเรีย โจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้
พิกัด26°11′26″S 28°3′25.5″E / 26.19056°S 28.057083°E / -26.19056; 28.057083
แล้วเสร็จ1975
ความสูง
หลังคา173 เมตร (567.6 ฟุต)
ข้อมูลทางเทคนิค
จำนวนชั้น55
ลิฟต์8
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกแมนเฟร็ด เฮอร์เมอร์ (Manfred Hermer)
ข้อมูลอื่น
ที่จอดรถมี

พอนทีซิตี (อังกฤษ: Ponte City)[1] เป็นตึกระฟ้าในย่านชานเมืองเบเรีย ในนครโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ติดกับฮิลโบรว อาคารสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1975 มีความสูง 173 เมตร (567.6 ฟุต) จำนวน 55 ชั้น ถือเป็นอาคารที่อยู่อาศัยที่สูงที่สุดในทวีปแอฟริกา อาคารมีรูปลักษณะเป็นทรงกระบอก ตรงกลางเปิดโล่งเพื่อให้มีแสงเข้ามาภายใน ตรงกลางเป็นที่รู้จักในชื่อ "เดอะคอร์" (the core) เป็นช่องว่างสูงขึ้นมาเหนือพื้นหินที่ไม่ได้ระดับ ในสมัยที่อาคารพึ่งสร้างแล้วเสร็จ พอนทีซิตีเป็นที่ต้องการเนื่องมาจากสถานที่ตั้งและทิวทัศน์นครโจฮันเนสเบิร์กที่ชมได้จากบนอาคาร ต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 1980 ตอนปลาย จนถึงทศวรรษ 1990 อาคารกลับกลายมามีชื่อทางลบจากเหตุอาชญากรรมและการขาดการบำรุงรักษา นับจากนั้นมา อาคารได้รับการดูแลปรับปรุงและกลับมาสู่สภาวะที่ปลอดภัยแล้ว

ป้ายไฟนีออนยอดอาคารเป็นป้ายที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้ ปัจจุบันเป็นป้ายโฆษณาของบริษัทโทรคมนาคม โวดาคอม[2] และก่อนหน้านั้นจนกระทั่งปี 2000 ป้ายนี้เป็นป้ายโฆษณาของโคคาโคล่ามาก่อน[3]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

นักออกแบบหลักของอาคารพอนทีซิตีคือ แมนนี เฟิลด์แมน (Mannie Feldman) ร่วมกับคณะคือ แมนเฟร็ด เฮอร์เมอร์ (Manfred Hermer) และ ร็อดนี กรอสส์คัปฟ์ (Rodney Grosskopff)[4][5] ร็อดนีเป็นคนที่ตัดสินใจสร้างอาคารให้เป็นรูปทรงกระบอก เป็นตีกระฟ้าทรงกระบอกตึกแรกในแอฟริกา[6] ในเวลานั้น กฎหมายนครโจฮันเนสเบิร์กบังคับให้ครัวและห้องน้ำต้องมีหน้าต่างเปิดสู่ภายนอก ร็อดนีจึงออกแบบอาคารให้ภายในโล่ง ทำให้แสงสามารถเข้ามาสู่ภายในอาคารได้จากทั้งสองทาง[6] ที่ชั้นล่างของอาคารเป็นพื้นที่ค้าขาย และในแปลนแรกเริ่มมีแผนจะสร้างสโลปสกีในร่มบนพื้นที่ 3,000-ตารางเมตร (32,000-ตารางฟุต) ส่วนในของใจกลางอาคาร[6] ที่ตั้งของอาคารอยู่ห่างไป 35 นาทีจากท่าอากาศยานนานาชาติโออาร์ แทมโบ และอยู่ในระยะทางเดินเท้าได้จากย่านใจกลางเมืองเช่น ย่านมาร์เก็ต (Market) และ ซิวิก (Civic) ด้วยระยะห่างเพียง 5 กิโลเมตร (3.1 ไมล์)[2]

การเสื่อมถอย

[แก้]

ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 กิจกรรมจากกลุ่มอาชญากรรมทำให้อัตราการเกิดอาชญากรรมในอาคารและย่านโดยรอบพุ่งสูง[2] ในทศวรรษ 1990 มีหลายกลุ่มอาชญากรรมที่ย้ายเข้ามาอาศัยในอาคาร และทำให้อาคารไม่ปลอดภัยอย่างหนัก จากนั้นมา พอนทีซิตีจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของอาชญากรรมและซากความเสื่อมถอยของนคร (urban decay) ในย่านเบเรีย (Berea) ที่ครั้งหนึ่งเป็นย่านนานาชาติ ใจกลางของอาคารเต็มไปด้วยซากปรักหักพังที่ก่อตัวสูงถึง 5 ชั้น ในขณะที่เจ้าของอาคารปล่อยให้อาคารทรุดโทรมลงเรื่อย [6][7]

ในกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 ได้มีข้อเสนอให้เปลี่ยนอาคารนี้เป็นเรือนจำระฟ้าแทน[2]

นิวพอนที

[แก้]

ในเดือนพฤษภาคม 2007 พอนทีได้เปลี่ยนเจ้าของและมีการเสนอโครงการพัฒนาอาคารขึ้นใหม่ในชื่อโครงการ "นิวพอนที" ("New Ponte") โดย เดวิด เซลแวน (David Selvan) และ นัวร แอดดีน อัยยูบ (Nour Addine Ayyoub) ภายใต้บริษัทของอัยยูบ ชื่อ อินเวสตาเก็น (Investagain) วางแผนจะฟื้นคืนอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมด[8] แผนการพัฒนาประกอบด้วยที่อยู่อาศัยรวม 467 ยูนิต, พื้นที่การค้า และพื้นที่เพื่อนันทนาการ ในสองสามปีถัดมา กรมพัฒนาโจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg Development Agency) วางแผนที่จะลงทุนราว 900 ล้านแรนด์ในพื้นที่รอบพอนทีซิตี เช่น เอลลิสพาร์ก เช่นเดียวกับย่านฮิลโบรวและเบเรีย บางส่วนเพื่อเตรียมการสำหรับฟุตบอลโลกฟีฟ่า ปี 2010

กระนั้นวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์เป็นผลให้ธนาคารไม่ให้เงินทุนแก่โครงการ ทำให้การคืนชีพอาคารไม่สำเร็จ โครงการถูกยกเลิกและอาคารถูกส่งคืนความเป็นเจ้าของแก่เคมปสตันกรุ๊ป (Kempston Group)[8]

ในปัจจุบัน

[แก้]

ในปี 2017 อาคารได้รับการปรับปรุงใหม่ทั้งหมด และได้รับการยอมรับว่าเป็นที่อยู่อาศัยที่ "เป็นที่ต้องการ" และ "ราคาเหมาะสม" ประชากรในอาคารมีรายงานว่าเป็นคนแอฟริกันผิวสี 80% และยังมีผู้อพยพจากประเทศอื่นด้วย[9]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

หนึ่งในฉากตอนท้ายของภาพยนตร์ปี 2009 เรื่อง District 9 เป็นการถ่ายทำที่อาคารพอนทีซิตี[10] ผู้กำกับ ฟิลิป บูม ได้สร้างภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Ponte Tower บันทึกเรื่องราวของอาคารนี้[11] อินกริด มาร์เทินส์ (Ingrid Martens) สร้างสารคดี Africa Shafted: Under one Roof ขึ้น โดยถ่ายทำทั้งหมดแค่ในลิฟต์โดยสารของพอนทีซิตี รวมระยะเวลาสองปีครึ่ง[12] ฉากต่อสู้ในภาพยนตร์ปี 2016 เรื่อง Resident Evil: The Final Chapter ถ่ายทำที่นี่เช่นกัน[13]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Pampalone, Tanya (2009). "The Full Ponte". Maverick. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 มีนาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2014.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Davie, Lucille (9 พฤศจิกายน 2007). "Ponte: revival of a Joburg icon". southafrica.info. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 พฤษภาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2009.
  3. "Ponte City Apartments". Emporis. 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2013. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2009.
  4. Chipkin, Clive M. (2008). Johannesburg Transition: Architecture & Society from 1950. STE Publishers. ISBN 978-1-919855-88-2.
  5. "Editor's comment" (PDF). Housing in Southern Africa: หน้า 3. มกราคม 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 25 พฤษภาคม 2006. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2010.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Hanes, Stephanie (12 กุมภาพันธ์ 2008). "Ponte City – a South African landmark – rises again". The Christian Science Monitor. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2009.
  7. Smith, David (11 พฤษภาคม 2015). "Johannesburg's Ponte City: 'the tallest and grandest urban slum in the world' – a history of cities in 50 buildings, day 33". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2020.
  8. 8.0 8.1 Pampalone, Tania (16 ธันวาคม 2008). "Ponte project crashes". Mail & Guardian Online. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2009.
  9. Simon Usborne (4 กุมภาพันธ์ 2017). "'The building creaks and sways': life in a skyscraper". the Guardian.
  10. Sailer, Steve (21 สิงหาคม 2009). "Neill Blomkamp's Giant Apartheid Metaphor". iSteve.com. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2009.
  11. Bloom, Philip (12 ตุลาคม 2012). Ponte Tower. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2018.
  12. "I'M Original | Media that Matters". africashafted.com (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 กรกฎาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2018.
  13. Lenora Brown, Ryan (21 กุมภาพันธ์ 2017). "The South African Building That Came to Symbolize the Apocalypse". The Atlantic.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]


สถิติ
สมัยก่อนหน้า
ไฮพอยต์ฮิลโบรว
อาคารที่อยู่อาศัยที่สูงที่สุดในแอฟริกา
173 ม. (567.5′)

1975 – ปัจจุบัน
ในตำแหน่ง
สมัยก่อนหน้า
คาร์ลทันเซนเทอร์
อาคารที่มีจำนวนชั้นมากที่สุดในแอฟริกา
54 ชั้น

1975 – 2019
สมัยต่อมา
เดอะเลโอนาร์โด