ข้ามไปเนื้อหา

ปลาเฮร์ริง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาเฮร์ริง
การประมงปลาเฮร์ริงโดยภาพรวมทั่วโลก
ในปริมาณล้านตัน จากรายการขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระหว่าง ค.ศ. 1950–2010[1]

ปลาเฮร์ริง (อังกฤษ: herring) เป็นชื่อสามัญของปลาหลายชนิด หลายสกุล ในวงศ์ปลาหลังเขียว (Clupidae)

คำว่า herring ในภาษาอังกฤษมาจากคำในภาษาเยอรมันสูงโบราณว่า heri แปลว่า "ฝูง" หรือ "เจ้าภาพ, เจ้าบ้าน" อันหมายถึง ลักษณะการรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่ของปลาจำพวกนี้[2] โดยมีสกุลต้นแบบคือ Clupea[3]

ปลาเฮร์ริงเป็นปลาจำพวกเดียวกับปลาซาร์ดีน มีรูปร่างคล้ายกับปลากะพงแต่รูปร่างเรียวยาวกว่า ความยาวโดยทั่วไป 14–18 เซนติเมตร ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเลใกล้ชายฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ รวมถึงชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ เป็นปลาที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ดำรงชีพด้วยการกินแพลงก์ตอนเหมือนปลาจำพวกอื่นในวงศ์เดียวกัน

ปลาเฮร์ริงเป็นปลาที่ตกเป็นอาหารของปลาอื่นรวมถึงสัตว์ทะเลประเภทอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น โลมา, วาฬ หรือปลาฉลาม และเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะของทวีปยุโรปจนเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน เป็นปลาเศรษฐกิจที่นิยมนำมาบริโภคและแปรรูป เช่น red herring ซึ่งเป็นปลาเฮร์ริงแห้งที่ผ่านการรมควันและหมักเกลือจนมีสีแดงอันเป็นที่มาของชื่อ และเป็นอาหารที่มีกลิ่นแรง นอกจากนี้ วลี red herring ยังเป็นสำนวนในภาษาอังกฤษซึ่งหมายถึง สิ่งหรือบุคคลที่ล่อหลอกให้เข้าใจผิด หรือการกระทำที่เบี่ยงเบนไปจากประเด็นหลัก ประเด็นสำคัญ เป็นต้น[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Based on data sourced from the relevant FAO Species Fact Sheets
  2. Herring Online Etymology Dictionary, Retrieved 10 April 2012.
  3. Pauly, Daniel (2004) Darwin's Fishes: An Encyclopedia of Ichthyology, Ecology, and Evolution Page 109, Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-82777-5.
  4. หน้า 10 ทัศนะวิจารณ์, Red Herring กับ Spin Doctor โดย วรากรณ์ สามโกเศศ. "อาหารสมอง". กรุงเทพธุรกิจปีที่ 29 ฉบับที่ 10134: วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]