ข้ามไปเนื้อหา

ปลาปิรันยาแดง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาปิรันยาแดง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Characiformes
วงศ์: Characidae
วงศ์ย่อย: Serrasalminae
สกุล: Pygocentrus
สปีชีส์: P.  nattereri
ชื่อทวินาม
Pygocentrus nattereri
Kner, 1858
ชื่อพ้อง

ปลาปิรันยาแดง หรือ ปลาปิรันยาท้องแดง (อังกฤษ: Red piranha, Red-bellied piranha; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pygocentrus nattereri) จัดเป็นปลาปิรันยาที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดี อยู่ในวงศ์ Characidae[1] มีรูปร่างคล้ายกับปลาในวงศ์นี้โดยทั่วไป แต่กรามล่างยื่นยาวออกมาเห็นได้ชัด ภายในปากมีฟันแหลมคม ส่วนหัวมีขนาดใหญ่ และข้างกระพุ้งแก้มมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงหนาแน่นใช้สำหรับออกแรงกรามเพื่อใช้ในการกัดกินอาหาร[2] เกล็ดมีขนาดเล็กมีสีแดงอมชมพูแวววาวดูสวยงามเหมือนกากเพชร

มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 33 เซนติเมตร น้ำหนักราว 3.5 กิโลกรัม

ปลาปิรันยาแดงมีถิ่นกำเนิดที่ลุ่มแม่น้ำอเมซอนและแม่น้ำขนาดใหญ่ใกล้เคียง บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิลและปารากวัย มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ว่ายน้ำและล่าเหยื่อด้วยความรวดเร็วและดุดัน จึงขึ้นชื่อว่าเป็นปลาที่ดุร้าย สามารถจู่โจมสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ แต่โดยมากหากจะโจมตีสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่าแล้ว สัตว์ตัวนั้นต้องได้รับบาดเจ็บและอ่อนแออยู่แล้ว แต่ก็มีรายงานจากแม่น้ำยาตาทางตอนเหนือของโบลิเวีย ปลาปิรันยาแดงโจมตีมนุษย์ที่กำลังว่ายน้ำอยู่จนเสียชีวิต โดยกัดแทะที่บริเวณใบหน้าโดยเฉพาะ และมีการโจมตีม้าจนท้องทะลุด้วย[2] นอกจากนี้แล้วยังเป็นปลาที่กินซากหรือแทะเล็มกินปลาปิรันยาด้วยกันที่ตายหรือได้รับบาดเจ็บหรือติดแหติดอวนได้ด้วย

กรามล่างและฟันที่แหลมคมของปลาปิรันยาแดง

ในวัยอ่อน จะมีจุดกลมสีแดงกระจายอยู่ทั่วตัว และจุดเหล่านั้นจะเล็กลงเมื่อปลาโตขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ ปลาตัวเมียวางไข่ได้ทีละ 6,000 ฟอง และเป็นปลาที่มีความอดทนมาก สามารถมีชีวิตอยู่บนบกที่ไม่มีน้ำได้นานถึง 2 ชั่วโมง และสามารถทนอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำได้ถึง 50 องศาฟาเรนไฮต์[3]

แม้จะขึ้นชื่อในเรื่องความดุร้าย แต่ที่จริงแล้ว ปลาปิรันยาแดงเป็นปลาที่ขี้ตกใจมาก จึงต้องอยู่รวมเป็นฝูงใหญ่เพื่อที่จะโจมตีเหยื่อได้ เป็นปลาที่ชาวพื้นเมืองนิยมกินเป็นอาหาร และตกเป็นเหยื่อของสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น ปลาอะราไพม่า หลายประเทศได้มีกฎหมายห้ามนำเข้าปลาที่ยังมีชีวิตหรือนำมาเลี้ยงในประเทศเพราะเกรงว่าอาจจะหลุดลงไปแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ประเทศไทย มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 6 ปี กระนั้นก็มียังมีลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายและแอบเลี้ยงกันอยู่ แต่ในบางประเทศอนุญาตให้เลี้ยงได้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น [3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Characidae". itis.gov. สืบค้นเมื่อ 14 May 2014.
  2. 2.0 2.1 Face Ripper, "River Monsters" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: อังคารที่ 31 ธันวาคม 2556
  3. 3.0 3.1 ปลาตู้, "แฟนพันธุ์แท้ 2002" เกมโชว์ทางช่อง 5: ศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2545

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]