บัวกือ
บัวกือ | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Magnoliopsida |
อันดับ: | Ranunculales |
วงศ์: | Menispermaceae |
สกุล: | Stephania |
สปีชีส์: | S. pierrei |
ชื่อทวินาม | |
Stephania pierrei Diels |
บัวกือ หรือ เปล้าเลือดเครือ หรือ ว่านสบู่เลือด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Stephania pierrei) ไม้ล้มลุกในสกุลสบู่เลือด วงศ์บอระเพ็ด มีเหง้าใต้ดินเปลือกสีดำ เนื้อสีขาว ลำต้นเป็นเถาเลื้อย แตกรากและใบตามข้อ ใบเดี่ยว รูปกลมรี โคนก้านใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ก้านใบขนาดเล็ก ดอกช่อออกตามซอกใบ ดอกย่อยสีม่วง ผลแห้งแบบแก่แล้วแตก ใบสดหรือทั้งต้นคั้นน้ำทาแผลแก้ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
อนุกรมวิธานและชื่อ
[แก้]ชื่อทวินาม "Stephania pierrei" ยังไม้ได้ถูกรับการชำระความกำกวมของชื่อชนิดอย่างเป็นทางการ (unresolved name)[1] โดยทั่วไปอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับ จัดให้ S. pierrei เป็นชนิดเดียวกับบัวบกโขด (Stephania erecta)[2][3][4] โดยให้ S. erecta เป็นชื่อพ้องของ S. pierrei
ชื่อท้องถิ่นอื่น ได้แก่ ว่านสบู่เลือด[5], บัวเครือ (เพชรบูรณ์), บัวกือ (เชียงใหม่, เพชรบุรี), บัวบก (กาญจนบุรี, นครราชสีมา), เปล้าเลือดเครือ (ภาคเหนือ), โกฐหัวบัว (ภาคกลาง), พุ่งเหมาด้อย (เมี่ยน) เป็นต้น[6][5]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
[แก้]เป็นไม้ล้มลุกมีหัวใต้ดิน มีหัวโผล่พ้นดินไม่สูงนัก หัวกลมแป้น เปลือกหัวสีน้ำตาล เนื้อในสีขาวนวล รสชาติมันและเฝื่อนเล็กน้อย ลำต้นแทงขึ้นจากหัว โค้งงอลงสู่พื้นดิน เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยยาวได้ประมาณ 3-5 เมตร[6][7]
ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปเกือบกลม หรือกลมคล้ายใบบัว เส้นผ่าศูนย์กลางใบประมาณ 3−6 เซนติเมตร ก้านใบยาว 2−3.5 เซนติเมตร ติดที่กลางแผ่นใบ[6][7]
ดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบ[6][7] ดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านช่อดอกเรียวเล็ก ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศ ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ เป็นรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ มีสีเหลือง เนื้อกลีบนุ่ม มักมีขนาดไม่เท่ากัน กลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน ไม่มีก้านหรือติดบนก้าน ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร[5]
ผลมีเมล็ดเดียวแข็ง เป็นรูปทรงกลมหรือค่อนข้างเป็นรูปไข่กลับ มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ผนังของผลชั้นในจะมีรูเล็ก ๆ ตรงกลาง ด้านบนมีตุ่มเรียงกันเป็น 4 แถว โค้ง และมีทั้งหมดประมาณ 16-19 ตุ่ม[5]
การใช้ทางยา
[แก้]ส่วนที่ใช้คือ หัว ก้าน ต้น ใบ ดอก เถา
ต้น กระจายลมที่แน่นในอก[5] ใบบำรุงธาตุไฟ ใส่บาดแผลสดและเรื้อรัง[5] ดอกฆ่าเชื้อโรคเรื้อน ทำให้อุจจาระละเอียด[5] เถาขับโลหิตระดู ขับพยาธิในลำไส้[5] หัวและก้านแก้เสมหะเบื้องบนทำให้เกิดกำลังบำรุงกำหนัด[5] รากบำรุงเส้นประสาท[5]
แหล่งกระจายพันธุ์
[แก้]ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบ[7]
อ้างอิง
[แก้]- เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ว่าน. กทม. เศรษฐศิลป์. 2553 หน้า 99
- ↑ "Stephania pierrei Diels — The Plant List". www.theplantlist.org.
- ↑ "Stephania pierrei - Wikispecies". species.wikimedia.org (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Stephania erecta Craib | Plants of the World Online | Kew Science". Plants of the World Online (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "JSTOR Global Plants: Search Results". plants.jstor.org.
- ↑ 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 "สบู่เลือด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสบู่เลือด 19 ข้อ". s3.amazonaws.com.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 "สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด". www.rspg.or.th.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 "Biodiversity". biodiversity.forest.go.th.[ลิงก์เสีย]