ข้ามไปเนื้อหา

บริเวณร้องเพลงสวด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
“บริเวณร้องเพลงสวด” ของมหาวิหารปาเล็นเซียในประเทศสเปน
ภาพแสดงให้เห็นที่นั่งของนักบวชสองข้างหน้าแท่นบูชาเอกที่ทำด้วยไม้ที่สลักเสลาอย่างงดงามที่วัดในเมืองบาดชูสเซนรีด ที่เดิมเป็นสำนักสงฆ์ในประเทศเยอรมนี

บริเวณร้องเพลงสวด (อังกฤษ: 'Choir หรือ quire') ในทางสถาปัตยกรรม “บริเวณร้องเพลงสวด” เป็นบริเวณภายใน คริสต์ศาสนสถาน หรือมหาวิหารที่มักจะตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของบริเวณพิธี (chancel) ระหว่างทางเดินกลาง (nave) และบริเวณศักดิ์สิทธิ์ (sanctuary) (ที่เป็นที่ตั้งแท่นบูชา) แต่บางครั้ง “บริเวณร้องเพลงสวด” ก็อาจจะตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของทางเดินกลาง ในวัดของสำนักสงฆ์บางแห่งบริเวณนี้ก็จะตั้งอยู่ทางตะวันตกของทางเดินกลางซึ่งเป็นการสมดุลกับบริเวณพิธีและบริเวณศักดิ์สิทธิ์

ประวัติ

[แก้]

ในวัดคริสต์ศาสนายุคแรกบริเวณศักดิ์สิทธิ์จะสร้างติดกับทางเดินกลาง ส่วน “บริเวณร้องเพลงสวด” ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทางเดินกลางและแยกจากกันโดยระเบียงเตี้ย ๆ ที่เรียกว่า “cancelli” ที่มาเพี้ยนเป็น “chancel” (บริเวณพิธี) ในภาษาอังกฤษ การวิวัฒนาการของ “บริเวณร้องเพลงสวด” เป็นผลของความเปลี่ยนแปลงทางศาสนาหลังจากการหยุดยั้งการไล่ประหัตประหารผู้นับถือคริสต์ศาสนาในรัชสมัยของจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 และการขยายตัวระบบสำนักสงฆ์ คำว่า “choir” ใช้เป็นครั้งแรกโดยนักเขียนของคริสต์ศาสนจักรตะวันตก (Western Church) นักบุญอิสซิดอเรแห่งเซวิลล์ และนักบุญฮอนโนเรียสแห่งออทุน กล่าวว่าเป็นคำที่มาจากคำว่า “corona” (มงกุฎ) ซึ่งหมายถึงวงนักบวชหรือนักร้องเพลงสวดที่ล้อมรอบแท่นบูชาเหมือนมงกุฎ

เมื่อคำนี้เริ่มใช้กันก็มักจะใช้กับคำว่ายกพื้น (bema) ที่ยกสูงขึ้นมาตรงกลางทางเดินกลางซึ่งใช้เป็นที่นั่งของนักบวชผู้มีบรรดาศักดิ์สูงกว่าผู้อื่นและเป็นที่ตั้งของแท่นอ่าน (lectern) สำหรับการอ่านพระคัมภีร์ การจัดลักษณะนี้ยังคงพบที่มหาวิหารซานตามาเรียมายอเรในกรุงโรม ต่อมาบริเวณร้องเพลงสวดก็ค่อย ๆ เลื่อนออกไปด้านทางตะวันออกของวัดจนกระทั่งถึงที่ตั้งที่ใช้อยู่โดยทั่วไปในปัจจุบัน ในบางวัดบริเวณนี้ก็จะอยู่ในบริเวณมุขตะวันออก (apse) ทางด้านหลังของแท่นบูชา

ในมหาวิหารบางแห่งในยุโรป บริเวณร้องเพลงสวดหลังแท่นบูชาเอกเปิดออกไปทางตะวันออกไปสู่คูหาชาเปลที่อยู่ด้านหลังสุดของวัด (หมายเลข 10 บนผัง) การออกแบบก็เพื่อเป็นการใช้สอยในการขับเพลงสวดของภราดรนักบวชของสำนักสงฆ์หรือคณะนักบวชแคนนอน

แท่นเทศน์และแท่นอ่านก็มักจะเป็นสิ่งประกอบอีกอย่างหนึ่งของบริเวณนี้ และอาจจะมีแท่นอ่านที่วางโดดอยู่กลางบริเวณอีกแท่นหนึ่งที่หันไปทางบริเวณศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้นแล้วก็อาจจะมีออร์แกน แต่บางครั้งออร์แกนก็จะตั้งอยู่ในส่วนอื่นของวัดเช่นเหนือประตูทางด้านตะวันตกหรือด้านข้างของทางเดินกลางเป็นต้น

ที่นั่ง

[แก้]

บริเวณร้องเพลงสวดก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 17 มักจะมีเก้าอี้สำหรับนักบวชหรือผู้ร้องเพลงสวดสองข้างที่อาจจะแกะสลักจากไม้อย่างสวยงามที่เรียกว่า “Choir stall” (เก้าอี้สำหรับนักร้อง) ซึ่งเป็นเก้าอี้สำหรับนั่ง, คุกเข่า หรือยืนระหว่างพิธีศาสนา เก้าอี้อาจจะเป็นเพียงม้ายาวหรือเป็นเก้าอี้สำหรับเฉพาะคน ถ้าเป็นวัดใหญ่ ๆ ก็อาจจะมีหลายแถว ถ้าเป็นวัดระดับมหาวิหาร บริเวณนี้ก็จะเป็นที่ตั้งของอาสนะสังฆราช[1]ด้วย

การใช้เก้าอี้มักจะเป็นการใช้ในสำนักสงฆ์และวัดระดับคอลเลจิเอท (collegiate church) เก้าอี้สำหรับนักบวชของสำนักสงฆ์มักจะเป็นเก้าอี้แบบที่พับขึ้นลงได้สำหรับแต่ละบุคคล เมื่อพับขึ้นมาทางด้านหลังหรือด้านใต้ของบานพับก็จะมีคันแคบ ๆ ยื่นออกมาที่เรียกกันว่า “เก้าอี้อิง” คันนี้ใช้เป็นอิงเมื่อต้องยืนสวดมนต์นาน ๆ ตำแหน่งของเก้าอี้ของผู้ใดก็ขึ้นอยู่กับความสำคัญของผู้นั้น การจะนั่งหรือจะยืนก็เป็นตามกฎต่างของพิธีที่ระบุไว้

ส่วนม้านั่งยาวสำหรับนักบวชมักจะใช้กันในวัดประจำท้องถิ่นวัดประจำท้องถิ่น (parish church) และมักจะมีเบาะให้ใช้ในการหนุนเมื่อต้องคุกเข่าด้วย

อ้างอิง

[แก้]
  1. Herbermann, Charles, บ.ก. (1913). "Stalls" . สารานุกรมคาทอลิก. New York: Robert Appleton Company.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ บริเวณร้องเพลงสวด

ระเบียงภาพ

[แก้]