ธรรมทายาทสูตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธรรมทายาทสูตร หรือ ธัมมทายาทสูตร เป็นพระสูตรในพระสุตตันตปิฎก หมวดมัชฌิมนิกาย หมวดมูลปัณณาสก์ อยู่ในวรรคคือ มูลปริยายวรรค สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ แก่พระภิกษุทั้งหลาย ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ที่สร้างโดยท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีในนครสาวัตถี โดยสมเด็จพระบรมศาสนาทรงสั่งสอนด้วยความเอ็นดู ให้ภิกษุทั้งหลายเป็นธรรมทายาทของพระองค์ อย่าได้เป็นอามิสทายาทของพระองค์ จากนั้น พระสารีบุตร อัครสาวกได้แสดงธรรมต่อถึงหนทางในการปฏิบัติธรรม เพื่อยังให้เกิดความสงัดขึ้นแก่ตน และอริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นหนทางแห่งการดับทุกข์ [1]

ที่มา[แก้]

ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ได้พรรณนาเหตุเกิดขึ้นของพระสูตรนี้ว่า มหาชนได้ถวายสักการะลาภสักการะเป็นอันมากเแก่พระพุทธองค์ อันเป็นอานิสงส์ที่พระศาสดาได้ทรงสั่งสมทานบารมี ให้บริบูรณ์แล้ว ตั้ง 4 อสงไขย บรรดาพระภิกษุทั้งหลายก็พลอยได้รับลาภสักการะนั้นด้วย [2]

อย่างไรก็ตาม เมื่อภิกษุบางประเภทได้รับอานิสงส์จากการที่มหาชนถวายสักการะพระศาสดา จนกลายเป็นผู้ติดในปัจจัย แต่โดยที่พระตถาคตไม่สามารถจะบัญญัติสิกขาบท ห้ามว่าปัจจัยเป็นของไม่สมควร จึงทรงแสดงธรรมทายาทปฏิปทา ซึ่งจักเป็นเหมือนการบัญญัติสิกขาบทแห่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ใคร่ต่อการศึกษา [3]

โดยตรัสยกตัวอย่างว่า พระองค์ฉันพระกระยาหารเหลือ ภิกษุ ๒ รูปหิวเป็นกำลังมาเฝ้าพระองค์ก็ทรงอนุญาตว่า ถ้าจะฉันก็ฉันได้ ถ้าไม่ฉันก็จะทรงเททิ้ง พระภิกษุรูปหนึ่งทนหิว ไม่ฉัน ด้วยระลึกถึงพระพุทธพจน์ที่ให้รับมรดกธรรม ไม่รับมรดกอามิส แต่อีกรูปหนึ่งฉันอาหารที่เหลือนั้น พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ทรงสรรเสริญภิกษุที่ยอมหิวมากกว่า [4]

เนื้อความโดยย่อ[แก้]

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาท อย่าเป็นอามิสทายาท ของเราตถาคตเลย" [5] จากนั้น พระสารีบุตรได้แจกแจงต่อจากพระศาสดาว่า ภิกษุผู้เป็นอามิสทายาท ย่อมถูกตำหนิด้วยเหตุ 3 ประการ คือ 1.ไม่ศึกษาความสงัดตามพระศาสดา 2.ไม่ละธรรมที่พระศาสดาตรัสให้ละ 3. มักมาก ย่อหย่อน ตกอยู่ในอำนาจนิวรณ์ 5 [6] ภิกษุผู้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดา ได้รับสรรเสริญ 3 ประการ คือ 1. ศึกษาความสงัด ตามพระศาสดา 2.ละธรรมที่พระศาสดาตรัสให้ละ 3.ไม่มักมากในลาภ ไม่เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่ตกอยู่ในอำนาจนิวรณ์ 5 (ธรรมทายาทสูตร) 17/207/14 [7] ธรรมอันลามกได้แก่ โลภะ โทสะ ผูกโกรธ ริษยา ตระหนี่ มายาโอ้อวด หัวดื้อ แข่งดี ถือตัว ดูหมิ่น มัวเมา เลินเล่อ ภิกษุอาศัยข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง คือ อริยมรรคมีองค์ 8 เพื่อละธรรมอันลามกเหล่านั้น [8]

อ้างอิง[แก้]

  1. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, ธรรมทายาทสูตร หน้า 202 - 210
  2. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย, ธรรมทายาทสูตร หน้า 211
  3. พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย, ธรรมทายาทสูตร หน้า 213
  4. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550) หน้า 206 - 207
  5. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, ธรรมทายาทสูตร หน้า 202
  6. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, ธรรมทายาทสูตร หน้า 206
  7. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, ธรรมทายาทสูตร หน้า 207
  8. มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, ธรรมทายาทสูตร หน้า 209

บรรณานุกรม[แก้]

  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1, ธรรมทายาทสูตร
  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 1 ภาค 1,
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพมหานคร. กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.

ตัวบท[แก้]

ธรรมทายาทสูตร

Dhammadayada Sutta