ข้ามไปเนื้อหา

ฌ็อง อานูย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฌอง อานุยห์)
(1940)

ฌ็อง มารี ลูว์เซียง ปีแยร์ อานูย (ฝรั่งเศส: Jean Marie Lucien Pierre Anouilh) เป็นนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1910 ที่เมืองบอร์โด ประเทศฝรั่งเศส พ่อของเขาชื่อ ฟร็องซัว อานูย (François Anouilh) เป็นช่างตัดเสื้อ แม่ของเขาชื่อ มารี–มากเดอแลน ซูลูว์ (Marie–Magdeleine Soulue) เป็นนักไวโอลิน

ประวัติ

[แก้]
หลุมฝังศพของ Anouilh ลูกสาวคนโตของเขา Catherine (1934-1989) และหุ้นส่วนคนสุดท้ายของเขา Ursula Wetzel (1938-2010) ในสุสาน Pully ใกล้เมืองโลซานน์

เขาเข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนกอลแบร์ (Colbert) จากนั้นเขาก็เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยชัปตาล (collège Chaptal) ซึ่งเขาได้เริ่มต้นเรียนทางด้านกฎหมายที่นี่ หลังจากที่เขาเรียนจบทางด้านกฎหมายแล้ว เขาได้ใช้เวลา 2 ปี ในโรงพิมพ์ ซึ่งทำให้เขาได้รับประสบการณ์เป็นอย่างมาก เมื่อเขาอายุได้ 18 ปี เขาได้เข้ามาอยู่ที่กอเมดีเดช็องเซลีเซ (Comédies des Champs–Elysées) ซึ่งมีหลุยส์ ฌูแวร์ (Louis Jouvert) เป็นหัวหน้า เขาได้เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะผู้ช่วยของหลุยส์ ฌูแวร์ และในปี ค.ศ. 1930 เขาต้องลาออกจากกอเมดีเดช็องเซลีเซเนื่องจากต้องไปรับราชการทหาร

ต่อมาในปี ค.ศ. 1931 หลังจากที่เขากลับมาจากรับราชการทหารแล้ว เขาได้แต่งงานกับนักแสดงที่ชื่อ มอแนล วาล็องแต็ง (Monelle Valentin) และมีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน คือ กาเตอรีน (Catherine)

ในปี ค.ศ. 1932 เขาได้เขียนบทละครเรื่อง L’Hermine ซึ่งบทละครเรื่องนี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยบทละครเรื่องนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบทละครที่ดี แต่ผลงานอีก 2 เรื่องถัดมา ก็ประสบความล้มเหลว ได้แก่ เรื่อง Mandarine และเรื่อง Y avait un prisonnier

ในปี ค.ศ. 1937 บทละครเรื่อง Le voyageur sans bagage ก็จัดว่าเป็นบทละครที่ประสบความสำเร็จอีกบทละครหนึ่ง ซึ่งบทละครเรื่องนี้ถูกนำมาเล่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึง 190 ครั้ง

ในปี ค.ศ. 1944 ได้มีการนำบทละครเรื่อง Antigone ออกมาแสดง ซึ่งบทละครเรื่องนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก บทละครเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงโศกนาฏกรรม ที่สะท้อนให้เห็นถึงชะตากรรมของมนุษย์ ผู้ผยองในความยิ่งใหญ่ของตนเอง จนก่อให้เกิดเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความพินาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในปี ค.ศ. 1953 เขาได้แต่งงานใหม่อีกครั้งกับ ชาร์ล็อต ชาร์ดง ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ แคโรลีน (Caroline), นีกอลา (Nicolas) และมารี-กอลงบ์ (Marie–Colombe)

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา ผลงานของเขาก็เริ่มน้อยลง เนื่องจากเขารู้สึกเบื่อหน่ายกับการวิจารณ์ ดังนั้นเขาจึงใช้ชีวิตอยู่อย่างสันโดษ จะสังเกตได้ว่า ช่วงนี้ผลงานของเขาจะออกมาน้อยมาก อีกทั้งผลงานที่ออกมานั้นก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

ฌ็อง อานูยเสียชีวิตในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1987 ที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวมอายุได้ 77 ปี

ผลงานโดยรวม

[แก้]

บทละครที่เป็นแนวโศกนาฏกรรม ตอนจบของเรื่องจะไม่สุขสมหวัง (Pièces noires)

[แก้]
  • Hermine (1932)
ฟร็อง” ชายหนุ่มผู้ซึ่งตกหลุมรัก “โมนีม” หญิงสาวผู้ซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยฐานะ แต่ด้วยเพราะฟร็องเป็นคนที่ไม่มีฐานะและไม่มียศถาบรรดาศักดิ์อื่นใด ทำให้ป้าของโมนีมกีดกันการแต่งงาน สิ่งนี้เองทำให้ฟร็องต้องฆ่าป้าของโมนีม เมื่อตอนแรกที่โมนีมรู้เรื่องก็ถึงกับต่อว่าฟร็อง แต่ในท้ายที่สุดแล้วเธอก็ได้บอกกับเขาตอนที่เขากำลังถูกตำรวจจับว่าเธอรักเขามาก
  • Le voyageur sans bagage (1937)
เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มผู้ความจำเสื่อม เขาได้ปฏิเสธที่จะกลับไปที่บ้านเพื่อพบกับครอบครัวเนื่องจากเขาได้พบว่าเขาเป็นญาติกับเด็กกำพร้าคนหนึ่ง ซึ่งในที่สุดเขาก็ได้จากไปพร้อมกับเด็กคนดังกล่าว
  • La sauvage (1938)
"แตแคส" นักไวโอลินสาว เธอมีฐานะยากจน เธอตกหลุมรัก “ฟลอค็องก์” นักแสดงหนุ่มผู้ร่ำรวยและมีชื่อเสียง แต่เธอกลับล้มเลิกที่จะแต่งงานกับเขา เพราะเธอไม่สามารถใช้ชีวิตในแบบที่เขาเป็นได้ เพราะเธอไม่ชอบชีวิตที่หรูหรา และถึงแม้ว่าเธอจะพยายามที่จะปรับตัวเองเท่าใด แต่เธอก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้
  • Roméo et Jeannette (1946)
"เฟรเดริก" ตอนแรกเขาจะต้องแต่งงานกับ "จูเลีย" หญิงสาวที่เรียบร้อย แต่เขากลับหลงรัก "เชอแนต" ซึ่งเป็นน้องสาวของจูเลีย ซึ่งแม้ว่าคนภายนอกจะมองดูว่าแปลก แต่เค้าก็ไม่สนใจและเขาทั้งสองคนกลับพากันหนีไปและหนีไปกระโดดน้ำตายด้วยกันทั้งคู่

Pièces grinçantes

[แก้]

เป็นลักษณะบทละครที่เป็นแนวเสียดสีทางสังคมหรือการเมือง

  • La Valse de toréadors (1952)
ข้าทาสของภรรยาเขาได้แกล้งป่วยและนักร้องก็ได้ลาออกทำให้นายพลแซงก์ เป ต้องปลอบใจตัวเองเหมือนกับอย่างที่เขาได้ทำกับคนอื่นๆ แต่เขาก็ได้พบกับความรักใหม่ที่ดีกับผู้ช่วยของเขานั่นเอง
  • Le Boulanger, la boulangère et le petit mitron (1968)
ย้อนกลับไปในช่วงสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นเรื่องราวของพระราชินีและรัชทายาท เป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยการเสียดสีและการนองเลือดที่ซึ่งพบว่าในเรื่องมีความขัดแย้งในฉากที่เป็นจริงและฉากที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ผ่านทางตัวละครที่เป็นเด็ก 2 ตัวละคร ที่ต่อมาในภายหลังพบว่าทั้งสองคนเป็นเด็กกำพร้า

บทละครเกี่ยวกับความรัก (Pièces roses)

[แก้]
  • Le Bal des voleurs (1938)
ด้วยความเข้าใจของ Lady Hurf ที่คิดว่า พวกโจรเป็นพวกที่ใหญ่โตและมีอำนาจของประเทศสเปน อีกทั้งพวกโจรกลุ่มนี้ยังทำให้ Lady Hurf รู้สึกชอบใจ ดังนั้นจึงทำให้พวกโจรสามารถที่จะเข้าไปอยู่ในปราสาทของเธอได้ไม่ยาก อีกทั้งชายหนุ่มที่โรแมนติกที่สุดของพวกโจรได้แต่งงานกับหญิงสาวที่โรแมนติกที่สุดของพวกโจร การแต่งงานจึงไม่มีการคัดค้านอะไร อีกทั้ง Lady Hurf ยังสนับสนุนอีกด้วย
  • Le Rendez – vous de Senlis (1941)
เพิ่อที่จะได้แต่งงานกับ Isabelle หญิงสาวที่เขาหลงรัก Georges จึงสร้างพ่อแม่ที่เป็นไปตามแบบฉบับของกวีที่สุดขึ้นมา และเขาได้ดึงตัวเองออกมาจากชีวิตที่เหลวไหล ซึ่งเขามีทั้งภรรยาและเมียน้อยอยู่แล้ว แต่เขาก็เพิกเฉยไม่สนใจ

บทละครที่มีการกล่าวกินจริงและเนื้อเรื่องจะไม่สมจริง (Pièces faceuses)

[แก้]
  • Colombe (1951)
คู่สมรสของ Julien ต้องไปรับราชการทหารและขอเงินช่วยเหลือจากแม่ไม่เป็นผลสำเร็จ มาดาม Alexandra บ้าละครมาก Colombe จึงตัดสินใจไปเป็นนักแสดง เมื่อกลายเป็นดาราละคร ตัวเองก็ชอบละครไปด้วย จากเดิมที่ไม่ชอบละคร

บทละครที่ตัวละครจะแต่งตัวอย่างสวยงาม (Pièces costumées)

[แก้]
  • L’Alouette (1952)
เกิดขึ้นในยุคของ ฌานดาร์ก ซึ่งในตอนนั้นเธอถูกทรมาน และตัวละครของเรื่อง คือ โกชง ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนในการช่วยชีวิตเธอให้รอดพ้นจากพวกทหารอังกฤษที่ทรมานเธอ
  • Becket ou l’honneur de Dieu (1959)
โศกนาฏกรรมที่เกิดโดยทันทีทันใดและเกิดจากระบบราชาธิปไตยที่ผู้ปกครองเป็นใหญ่ เรื่องดังกล่าวว่าด้วยลัทธิการปกครองแบบกดขี่ของกษัตริย์อังกฤษที่ไม่เคยได้ยอมรับจากพระเจ้า ทำให้ผู้ที่สนับสนุนในเรื่องของศาสนาถึงกับยอมตายเพื่อศาสนา

อิทธิพลของผลงานที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยและสังคมฝรั่งเศส

[แก้]
ผลกระทบที่มีต่อสังคมไทย

ละครเรื่องนี้ได้มีการแปลออกมาเป็นภาษาไทยโดยใช้ชื่อว่าอันตราคนี และได้มีการจัดแสดงที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2519 โดยได้มีการดัดแปลงให้เข้ากับสภาพสังคมไทยอยู่ 2 ประการ ประการแรกคือมีการแปลงชื่อตัวละครและสถานที่แบบกรีกโดยใช้ชื่อให้เป็นแบบไทย ประการที่สองคือบทละครเรื่องนี้ได้มีการเสริมขยายคำพูดบางคำพูดเข้าไปเพื่อให้พาดพิงถึงเหตุการณ์ร่วมสมัยของไทยในช่วงนั้น กล่าวคือละครเรื่องนี้แสดงในช่วงเดือนกรกฎาคม 2519 ซึ่งเกิดก่อนเหตุการณ์มหาวิปโยคในช่วงเดือนตุลาคม 2519 ไม่นาน ซึ่งเป็นการแสดงในช่วงที่มีกิจกรรมทางประชาธิปไตยสูงสุดยุคหนึ่งของประเทศ ซึ่งเราสามารถอนุมานได้ว่าบทละครเรื่องนี้ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐกับสิทธิของพลเมือง ผ่านทางตัวละครหลัก 2 ตัวคือ Créon ซึ่งพออนุมานได้ว่าเป็นตัวแทนของพวกผู้นำทรราชย์ในยุคนั้น ส่วนตัวละครอีกตัวหนึ่งคือ Antigone คือตัวแทนของประชาชนหรือนักศึกษาที่กล้าลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจเผด็จการในยุคนั้น บทละครเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเมืองในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยตรง แต่ก็เป็นหนึ่งในบทละครที่เสียดสีและสะท้อนสภาพทางการเมืองและสังคมในยุคดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ผลกระทบต่อประเทศฝรั่งเศส

โดย จุดประสงค์ที่อานูยเขียนเรื่องนี้ในปี 1942 และนำละครเรื่องนี้ออกแสดงในปี 1944 เนื่องจาก ในปี 1944 ช่วงนั้นเป็นช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945) เป็นช่วงที่ลัทธินาซีได้แผ่อำนาจปกครองยุโรปรวมทั้งประเทศฝรั่งเศสด้วยซึ่งทำให้ชาวฝรั่งเศสถูกกดขี่ข่มเหงและถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งละครเรื่องนี้อานูยต้องการที่จะนำผลงานชิ้นนี้เปรียบเสมือนเป็นกระจกสะท้อนให้แก่ชาวฝรั่งเศสในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพกลับคืนมา โดยเปรียบ Antigone เป็นชาวฝรั่งเศส และเปรียบ Créon เป็นนาซีนั่นเอง

เมื่อละครเรื่องนี้ได้นำออกแสดงในปี 1944 นั้นอานูยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของแต่ละฝ่ายซึ่งต่างก็มีปรัชญาชีวิตและอุดมการณ์ของตน ฝ่ายหนึ่งจำต้องทำหน้าที่เพื่อรักษากฎหมายและความสงบสุขของบ้านเมืองให้ดีที่สุดแม้จะต้องทำในสิ่งที่ขัดต่ออุดมการณ์ของตัวนั่นก็คือ Créon อีกฝ่ายหนึ่งบูชาอุดมการณ์แม้จะต้องตายก็คือ Antigone อานูยสามารถชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของแต่ละฝ่ายนี้ได้ ซึ่งแม้แต่ฝ่ายเผด็จการนาซียังยอมให้นำเรื่องนี้ออกแสดงและละครเรื่องนี้ยังส่งผลให้ชาวฝรั่งเศสหลายๆคนลุกขึ้นสู้กับอำนาจเผด็จการเพื่อเรียกร้องอิสรภาพกลับคืนสู่ประเทศฝรั่งเศส