ช่องเขาขาด
ช่องเขาขาด | |
ส่วนของช่องเขาขาดเมื่อ พ.ศ. 2566 | |
ก่อตั้ง | 24 เมษายน พ.ศ. 2539 |
---|---|
ที่ตั้ง | จังหวัดกาญจนบุรี, ประเทศไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 14°21′38″N 98°56′43″E / 14.360524°N 98.945274°E |
ประเภท | อนุสรณ์สถานสงคราม, เส้นทางศึกษาธรรมชาติ, เส้นทางรถไฟสายที่ถูกทิ้งร้าง |
ภัณฑารักษ์ | Office of Australian War Graves/กองทัพไทย |
ขนส่งมวลชน | จากสถานีน้ำตกไทรโยคน้อย (18 กิโลเมตร (11 ไมล์)) |
ช่องเขาขาด หรือ ช่องไฟนรก (อังกฤษ: Hellfire Pass) เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า (ทางรถไฟสายมรณะ) ตลอดเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า มีหลายจุดที่มีเนินหิน ภูเขา หน้าผา หรือหุบเหว ขวางอยู่จึงต้องขุดให้เป็นช่องเพื่อที่รถไฟสามารถวิ่งผ่านไปได้ ซึ่งที่ช่องเขาขาด หรือ ช่องไฟนรก เป็นจุดที่ใหญ่ที่สุดบนเส้นทางนี้
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งความทรงจำ
[แก้]พิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำช่องเขาขาด ตั้งอยู่บริเวณกองส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อ.ไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับการออกแบบและสร้างสรรค์อย่างสวยงามโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อเป็นที่รวบรวมข้อมูล ภาพถ่าย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะ ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ มินิเธียร์เตอร์ที่มีการฉายภาพยนตร์เงียบ ขาวดำ ซึ่งถ่ายทำจากเหตุการณ์จริงในระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะ
ทางเดินตามทางรถไฟช่องเขาขาด-สถานีหินตก
[แก้]จากด้านหลังของพิพิธภัณฑ์มีบันไดเดินลงไปตามเส้นทางรถไฟสายมรณะ ซึ่งมีการปรับแต่งพื้นที่เพื่อให้สามารถเดินชมได้สะดวกขึ้นตั้งแต่บริเวณช่องเขาขาดไปจนถึงสถานีหินตก เป็นทางรถไฟเดิมซึ่งบางช่วงยังเหลือร่องรอยของทางรถไฟ ไม้หมอน และเหล็กสกัดให้เห็น ส่วนบริเวณสะพานหินตกซึ่งสร้างบนหุบเหวลึกชันไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้ว ในการก่อสร้างตัวสะพานพังลงมา 3 ครั้ง กว่าจะสร้างสำเร็จ มีป้ายอธิบายเป็นระยะ ๆ การเดินไปกลับตลอดระยะใช้เวลาไม่เกิน 4 ชม. 30 นาที แต่สามารถเลือกเดินระยะสั้น จากพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด ใช้เวลาราว 1 ชม. 30 นาที ทางเดินโรยกรวดก้อนใหญ่แบบทางรถไฟทั่วไป สองข้างทางเป็นป่าไผ่และไม้ใหญ่ บรรยากาศร่มรื่น ควรใส่รองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าพื้นแข็ง และเตรียมน้ำดื่มไปเองเพราะตลอดทางไม่มีร้านค้าระหว่างทาง
ประวัติ
[แก้]การขุดเจาะช่องเขาขาดเริ่มในเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2486 ปรากฏว่างานล่าช้ากว่ากำหนดจึงมีช่วงที่เร่งงานซึ่งแรงงานแต่ละกะต้องทำงานถึง 18 ชั่วโมง โดยงานส่วนใหญ่ล้วนใช้แรงคนทั้งสิ้น เช่นการสกัดภูเขาด้วยมือ ซึ่งเป็นการทำงานที่ทารุณยิ่ง เนื่องจากต้องปีนลงไปสกัดในช่องเขาซึ่งบางช่วงสูงถึง 11 เมตร จนแทบไม่มีอากาศหายใจทั้งยังต้องทำงานท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวในช่วงเดือนมีนาคม ในภาวะขาดแคลนน้ำและอาหาร เมื่อเจ็บป่วยแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็ไม่เพียงพอต่อการรักษา เชลยศึกและกรรมกรที่ช่องเขาขาดต้องทำงานตอนกลางคืนด้วยแสงไฟจากคบเพลิงและกองเพลิงทำให้สะท้อนเห็นเงาของเชลยศึกและผู้คุมวูบวาบบนผนัง ทำให้ที่นี่ได้รับการขนานนามว่า "ช่องไฟนรก" หรือ Hellfire Pass ในภาษาอังกฤษ
ระเบียงภาพ
[แก้]-
ป้ายอนุสรณ์ของออสเตรเลียในการตัดช่องเขา
-
ป้ายอนุสรณ์
-
พิพิธภัณฑ์ ถ่ายเมื่อปี 2556
-
ส่วนหนึ่งของทางรถไฟที่ช่องเขาขาด
-
สะพานสามชั้นหรือสะพานกองไผ่
อ้างอิง
[แก้]- กวี วรกวิน. แผนที่ความรู้ท้องถิ่นภาคตะวันตก.กรุงเทพฯ:บริษัทพัฒนาคุณภาพวิชาการ จำกัด,2547
- ปรุงศรี วัลลิโภดม(บรรณาธิการ)วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดกาญจนบุรี.กรุงเทพฯ:คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุใน คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.2543
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ช่องเขาขาด
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์