จัสตา กราตา โฮโนเรีย
จัสตา กราตา โฮโนเรีย Justa Grata Honoria | |
---|---|
จัสตา กราตา โฮโนเรียสวมมงกุฎเป็นออกัสตาโดยพระหัตถ์ของพระเจ้า | |
บิดามารดา |
|
จัสตา กราตา โฮโนเรีย (อังกฤษ: Justa Grata Honoria) จัสตา กราตา โฮโนเรียเป็นพระขนิษฐาของจักรพรรดิวาเล็นติเนียนที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันตะวันตก จากเหรียญกษาปณ์ทำให้ทราบได้ว่าโฮโนเรียได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ออกัสตา” ซึ่งเป็นตำแหน่งสำหรับสตรีเทียบเท่าตำแหน่ง “ออกัสตัส”
ประวัติ
[แก้]โฮโนเรียเป็นพระราชธิดาองค์เดียวของจักรพรรดิคอนสแตนติอัสที่ 3 และ กาลลา พลาซิเดีย โฮโนเรียมีพระเชษฐาร่วมพระมารดาคนหนึ่งจากการแต่งงานครั้งแรกของพลาซิเดียกับ Ataulf ผู้เป็นวิซิกอธ ทีโอโดเซียสพระเชษฐาร่วมพระมารดาประสูติที่บาร์เซโลนาในปี ค.ศ. 414 แต่มาสิ้นพระชนม์ในปีต่อมาซึ่งเท่ากับเป็นการสิ้นสุดของสายโรมัน-วิซิกอธ[1][2] แต่โฮโนเรียมีพระเชษฐาจักรพรรดิวาเล็นติเนียนที่ 3 ร่วมพระราชบิดามารดาผู้ประสูติเมื่อปี ค.ศ. 419 นักประวัติศาสตร์พอลเดอะดีคอนกล่าวถึงโฮโนเรียก่อนในบรรดาพระราชโอรสธิดาที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่าพระองค์ทรงเป็นลูกคนโตที่สุด[3]
กาลลา พลาซิเดียเป็นพระราชธิดาของจักรพรรดิธีโอโดเซียสที่ 1 กับพระมเหสีองค์ที่สอง[4] พระเชษฐาองค์โตของพลาซิเดียสิ้นพระชนม์ตั้งแต่อยังทรงพระเยาว์ พระราชมารดาเสด็จสวรรคตเมื่อทรงให้กำเนิดทารกในปี ค.ศ. 394[5] กาลลา พลาซิเดียเป็นลูกพี่ลูกน้องทางพระราชบิดากับจักรพรรดิโฮโนริอัส
โฮโนเรียได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความทะเยอทะยานและมีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ และใช้ความเป็นสตรีในการสร้างความก้าวหน้าให้แก่ตนเอง โฮโนเรียทรงถือว่าพระเชษฐาของพระองค์เป็นผู้ที่อ่อนแอและเกียจคร้าน โฮโนเรียจึงล่อลวงเสนาบดียูเจเนียสด้วยมนตร์เสน่ห์และสมรู้ร่วมคิดกันในการวางแผนปลงพระชนม์พระเชษฐาเพื่อชิงราชบัลลังก์ แต่มาถูกเปิดเผยเสียก่อน ยูเจเนียสถูกประหารชีวิต ขณะที่โฮโนเรียถูกส่งไปเข้าไปอยู่ในคอนแวนต์ที่คอนสแตนติโนเปิลตามที่กาลลา พลาซิเดียร้องขอชีวิต
โฮโนเรียพยายามหลบหนีหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ พระเชษฐาจึงทรงจับโฮโนเรียให้สมรสกับสมาชิกวุฒิสภาโรมัน โฮโนเรียพยายามหาทางเลี่ยงโดยหันไปให้อัตติลาช่วยโดยการส่งสาส์นถึงพระองค์พร้อมกับแหวนหมั้นในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 450 โฮโนเรียอาจจะมิได้ตั้งใจที่เสนอการแต่งงาน แต่อัตติลาตีความหมายของการสื่อสารดังว่าและยอมตกลง โดยขอดินแดนครึ่งหนึ่งของจักรวรรดิโรมันตะวันตกเป็นสินสอดทองหมั้น เมื่อจักรพรรดิวาเล็นติเนียนทราบแผน แทนที่จะทรงสั่งให้ฆ่าโฮโนเรีย พระองค์ก็ทรงสั่งเนรเทศตามคำร้องของของพระราชมารดากาลลา พลาซิเดีย และแล้วก็ทรงส่งพระราชสาส์นไปถึงอัตติลาปฏิเสธความถูกต้องของการขอแต่งงานของโฮโนเรียอย่างแข็งขัน แต่อัตติลาผู้ทรงตั้งใจมานานแล้วที่จะรุกรานโรมก็ทรงส่งราชทูตไปยังราเวนนาเพื่อไปประกาศความบริสุทธิ์ของโฮโนเรีย และยืนยันว่าการขอแต่งงานของโฮโนเรียเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และพระองค์จะทรงเดินทางมารับโฮโนเรียผู้ที่ทรงถือว่าเป็นของพระองค์อย่างถูกต้อง ในปี ค.ศ. 451 อัตติลาจึงใช้ข้ออ้างนี้เดินทางเข้ามารุกรานโรมในฐานะ “สามีผู้ถูกทรยศ” แต่โรมรอดตัวมาได้วยความช่วยเหลือของวิซิกอธ อัตติลาจึงไม่ได้ช่วยโฮโนเรีย และในที่สุดโฮโนเรียก็ถูกส่งตัวกลับโรม แต่จักรพรรดิวาเล็นติเนียนทรงพยายามเลี่ยงข้อครหาโดยมิได้ทรงสั่งให้ประหารชีวิต แต่ก็ไม่ทรงต้องการที่จะเนรเทศโฮโนเรียอีก ในที่สุดโฮโนเรียก็ต้องสมรสกับสมาชิกวุฒิสภาเฟลเวียส บัสซัส เฮอร์คิวลานัสผู้ที่พยายามหลีกเลี่ยงมาตั้งแต่แรก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Profile of Ataulf in "Medieval Lands" by Charles Cawley
- ↑ "Ralph W. Mathisen, "Galla Placidia"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-13. สืบค้นเมื่อ 2009-12-22.
- ↑ Profile of Constantius III in "Medieval Lands" by Charles Cawley
- ↑ Her profile in "Medieval Lands" by Charles Cawley
- ↑ "David Woods, "Theodosius I (379-395 A.D.)"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-15. สืบค้นเมื่อ 2009-12-22.
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Justa Grata Honoria by J. B. Bury
- Scheming princess behind Empire's fall - Article from CNN by Mark S. Longo.