ค่ายกักกันราเวินส์บรึค
ค่ายกักกันราเวินส์บรึค | |
---|---|
นักโทษหญิงใน ค.ศ. 1939 | |
ปฏิบัติการ | |
ระยะเวลา | พฤษภาคม ค.ศ. 1939 – เมษายน ค.ศ. 1945 |
ที่ตั้ง | เฟือร์สเทินแบร์ค/ฮาเฟิล |
นักโทษ | |
จำนวนทั้งหมด | 130,000[1] ถึง 132,000[2] คน |
เสียชีวิต | 45,000–50,000[3] ถึง 117,000[2] คน จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ |
ค่ายกักกันราเวินส์บรึค (เยอรมัน: Konzentrationslager Ravensbrück) เป็นค่ายกักกันเยอรมันที่มีไว้เฉพาะสำหรับผู้หญิงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939–1945 ตั้งอยู่ทางตอนเหนือเยอรมนี ห่างจากกรุงเบอร์ลินไปทางทิศเหนือประมาณ 90 กิโลเมตร (65 ไมล์) ใกล้กับหมู่บ้านราเวินส์บรึค (ส่วนหนึ่งของเมืองเฟือร์สเทินแบร์ค/ฮาเฟิล) กลุ่มชนชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดประกอบไปด้วยผู้หญิงชาวโปแลนด์ประมาณ 40,000 คน นอกจากนั้นได้รวมไปถึงชาวยิวจากทุกประเทศจำนวนประมาณ 26,000 คน, ชาวรัสเซียจำนวน 18,800 คน, ชาวฝรั่งเศส 8,000 คน และชาวดัตช์จำนวน 1,000 คน มากกว่าร้อยละ 80 เป็นนักโทษทางการเมือง นักโทษแรงงานทาสจำนวนมากได้รับการว่าจ้างจากบริษัท Siemens & Halske ตั้งแต่ ค.ศ. 1942–1945 การทดลองทางการแพทย์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของตัวยาซัลโฟนาไมด์ได้ถูกปฏิบัติการ
ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงใน ค.ศ. 1941 หน่วยเอ็สเอ็สได้ตั้งค่ายเล็ก ๆ ติดกับค่ายราเวินส์บรึคสำหรับนักโทษชายซึ่งสร้างและดำเนินการจัดการห้องรมแก๊สของค่ายใน ค.ศ. 1944 จากนักโทษหญิงประมาณ 130,000 คนที่เข้าสู่ค่ายราเวินส์บรึค มีผู้เสียชีวิตจำนวนประมาณ 50,000 คน ถูกสังหารในห้องรมแก๊สประมาณ 2,200 คน และมีผู้รอดชีวิต 15,000 คนจนกระทั่งได้รับการปลดปล่อย