คดีพรหมพิราม
คดีพรหมพิราม | |
---|---|
พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ "เผยสาวหัวขาด คดีฆ่าข่มขืนโหด ผัวยืนยัน 30 คนเถื่อนโทรมเมียตาย" | |
สถานที่ | อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก |
วันที่ | 27 กรกฎาคม 1977 ประมาณ 23:00 นาฬิกา (UTC+7) |
ประเภท | การชักพาไป การข่มขืนกระทำชำเรา ฆาตกรรม |
ผู้เสียหาย | 1 คน |
ผู้โจมตี | 30 คน |
คดีพรหมพิราม เป็นคดีรุมโทรมแล้วฆ่าในอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 ผู้เสียหายเป็นหญิงผู้หนึ่งซึ่งถูกชาวบ้านอำเภอดังกล่าวร่วมกันชำเราแล้วบีบคอตาย ก่อนนำศพมาวางให้รถไฟทับขาดเพื่ออำพรางคดี แต่ตำรวจไม่ยอมดำเนินคดี เพราะเกรงกลัวอิทธิพลของผู้กระทำความผิด จึงยุติคดีว่าเป็นอุบัติเหตุ จนชาวบ้านบางกลุ่มจากอำเภอเดียวกันนำเรื่องร้องเรียนสื่อมวลชน ทำให้สื่อมวลชนสืบสวนและตีแผ่ นำมาสู่การรับรู้และความสนใจในวงกว้าง ตำรวจจึงจำต้องรื้อฟื้นขึ้นสืบสวนใหม่[1][2]
การสืบสวนของตำรวจพบว่า ผู้ก่อเหตุมีมากถึง 30 คน แต่ที่สุดแล้ว ดำเนินคดีและลงโทษได้ราว 10 คน ที่เหลือต้องปล่อยไปเพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอ[3]
คดีนี้ได้รับการเรียบเรียงเป็นนวนิยายและภาพยนตร์[4]
ความเป็นมา
[แก้]คดีนี้เริ่มจากการพบศพหญิงถูกรถไฟทับที่อำเภอพรหมพิรามเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2520 แต่ตำรวจไม่ยอมสืบสวนต่อ โดยยุติคดีว่าเป็นอุบัติเหตุ[2] ต่อมาในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2520 ชาวบ้านราว 20 คนจากอำเภอดังกล่าวเข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชนว่า กรณีนี้เป็นการฉุดหญิงไปชำเราจนตาย แล้วนำร่างไปวางให้รถไฟทับเพื่ออำพรางคดี แต่ตำรวจเพิกเฉย เพราะผู้กระทำความผิดเป็นลูกหลานของตำรวจเองและเป็นผู้มีอิทธิพล[1][4] ทำให้สื่อมวลชนเข้าสืบสวนและตีแผ่ จนเป็นที่สนใจในวงกว้าง และตำรวจจำต้องรื้อฟื้นขึ้นสืบสวนใหม่[2]
การสืบสวน
[แก้]พันตำรวจเอก สมชาย ไชยเวช ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายให้ทำคดีนี้[1][5]
ไม่มีรายละเอียดมากนักเกี่ยวกับผู้เสียหาย นอกจากว่า เป็นหญิงอายุราว 20 ปี ผิวดำแดง สูง 155 เซนติเมตร หน้ากลม ผมสั้น วันเกิดเหตุสวมเสื้อสีน้ำตาลและกระโปรงผ้าดิบสีขาว[1] บางแหล่งข้อมูลว่า ผู้เสียหายชื่อ สำเนียง[5] ตำรวจพบญาติผู้เสียหายในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2520 โดยได้บิดาและมารดาของผู้เสียหายมายืนยันศพ และให้การว่า ผู้เสียหายมีสติไม่สมประกอบ เคยถูกชำเราจนตั้งครรภ์มาแล้ว เมื่อคลอดแล้วออกจากบ้านไปโดยขึ้นรถไฟที่สถานีบ้านดารา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์[1]
การสืบสวนต่อได้ความว่า วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 เวลาราว 23 นาฬิกา ผู้เสียหายขึ้นรถไฟขบวนเร็วที่ 37 เชียงใหม่–กรุงเทพฯ จากสถานีบ้านดาราโดยไม่มีตั๋ว จึงถูกเจ้าหน้าที่ไล่ลงบริเวณสถานีพรหมพิราม[4] เมื่อลงรถไฟแล้ว ผู้เสียหายเดินโซเซด้วยความหิว เพราะไม่มีเงินติดตัว จนไปพบชายวัยรุ่นสองคนบอกว่า จะพาไปรับประทานอาหารที่งานแต่งงานอีก 300 เมตรข้างหน้า แต่กลับพาไปไร่ข้าวโพด แล้วเรียกเพื่อนอีกสองคนออกมาช่วยกันฉุดลากเข้าไปชำเราทีละคน[1] เมื่อคนที่งานแต่งงานทราบเรื่อง ก็พากันมาร่วมชำเราด้วย[1] การชำเราดังกล่าวดำเนินไปสองชั่วโมง โดยมีชาวบ้านในละแวกนั้นซุ่มดู แต่ไม่มีผู้ใดช่วยเหลือผู้เสียหาย[1] จนกระทั่งผู้เสียหายถูกบีบคอตายระหว่างถูกชำเรา จากนั้น ผู้ชำเราช่วยกันแบกศพผู้เสียหายไปวางให้รถไฟทับบนรางรถไฟเพื่ออำพรางคดี โดยเจาะจงให้ทับตรงอวัยวะเพศเพื่อทำลายร่องรอยการชำเราด้วย[1] รถไฟขบวนเชียงใหม่–พิษณุโลกแล่นมาทับร่างผู้เสียหายจนศีรษะขาดในเวลา 3 นาฬิกาของวันถัดมา กลุ่มผู้ชำเราจึงหิ้วศีรษะผู้เสียหายไปทางทิศตะวันตกห่างจากทางรถไฟไป 20 เมตรเพื่อทำพิธีไสยศาสตร์[1] พิธีนี้ทำขึ้นเพื่อสะกดวิญญาณ และเป็นเบาะแสหนึ่งที่ทำให้ตำรวจเห็นว่า ความตายครั้งนี้ไม่ใช่อุบัติเหตุ[5]
การดำเนินคดี
[แก้]ตำรวจได้ผู้ต้องหา 30 คน[4] ผู้ต้องหาอายุน้อยที่สุด 9 ปี มากที่สุด 65 ปี[6] พันตำรวจเอก สมชาย ไชยเวช ยังระบุว่า ระหว่างสืบสวน มีผู้ต้องหาบางคนข่มขู่พยานให้ปิดปากเงียบ โดยพบจดหมายข่มขู่ว่า ถ้าขืนปากมาก จะจับพยานขึงพืดขวางรางรถไฟเหมือนผู้เสียหาย[1][7]
อย่างไรก็ดี ทางการไทยสามารถดำเนินคดีและลงโทษได้จริงเพียง 7–8 คน[3] บางแหล่งข้อมูลว่า 8–9 คน[2] และบางแหล่งว่า 10 คน[1] ส่วนที่เหลือต้องปล่อยไปเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ[3]
ยังมีตำรวจอีกสองคนถูกดำเนินการทางวินัยฐานปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง เนื่องจากไม่พิมพ์ลายนิ้วมือผู้เสียหายเก็บไว้ ทำให้สืบสวนยาก[1]
ผลสืบเนื่อง
[แก้]คดีนี้ทำให้ชาวอำเภอพรหมพิรามถูกมองในแง่ลบมาจนถึงปัจจุบัน[3] และถูกเชื่อมโยงบ่อยครั้งเมื่อเกิดกรณีชำเรา เช่น การเชื่อมโยงกับกรณีชาย 40 คนร่วมกันชำเราเด็กหญิงอายุ 14 ปีที่บ้านเกาะแรด ตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เมื่อ พ.ศ. 2560[4][8]
เมื่อได้ยินคดีนี้ ชาวอำเภอพรหมพิรามบางคนฉุนเฉียว บางคนชินชา และบางคนต้องการให้สังคมลืมเลือน[3]
ในวัฒนธรรมประชานิยม
[แก้]นที สีทันดร (นามปากกาของสันติ เศวตวิมล) นำคดีนี้มาเขียนนวนิยายชื่อ พรหมพิลาป ซึ่งสหมงคลฟิล์มนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ชื่อ คนบาป พรหมพิราม ออกฉายใน พ.ศ. 2546 แต่ก่อนฉาย ถูกชาวอำเภอพรหมพิรามต่อต้าน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น คืนบาป พรหมพิราม[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 ไทยรัฐออนไลน์ (2017-09-05). "'พอแล้ว กลัวแล้ว' คำขอสุดท้ายเหยื่อคดีประวัติศาสตร์ คืนบาปพรหมพิราม". ไทยรัฐ. กรุงเทพฯ: วัชรพล. สืบค้นเมื่อ 2022-02-28.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 "เปิดสถิติคดีข่มขืนปี 2552-2556 ผู้ก่อเหตุส่วนมากยังลอยนวล". สำนักข่าวไทย. กรุงเทพฯ. 2017-09-04. สืบค้นเมื่อ 2022-02-28.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "นอภ. พรหมพิรามวอนสังคมหยุดพูดโยนบาปคดีข่มขืนโหดให้คนพรหมพิราม". มติชนออนไลน์. กรุงเทพฯ: มติชน. 2017-09-07. สืบค้นเมื่อ 2022-02-28.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 MGR Online (2017-09-09). "จาก "พรหมพิราม" ถึง "บ้านเกาะแรด" ปรากฏการณ์ "ข่มขืน" สะท้านโลก???". ผู้จัดการออนไลน์. กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ. สืบค้นเมื่อ 2022-02-28.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 admin (2017-06-13). "คดีจริงที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้… "คดีข่มขืน-ฆ่า ณ พรหมพิราม" ที่มีผู้ต้องหามากกว่า 30 คน!!! แทบทั้งหมู่บ้าน ข่มขืนผู้หญิงเพียงคนเดียว". onenee.com. กรุงเทพฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-28. สืบค้นเมื่อ 2022-02-28.
- ↑ admin (2021-03-15). "คืนบาป พรหมพิราม คดีข่มคืนสะเทือนขวัญ จากข่าวในตำนาน". ข่าวดัง. กรุงเทพฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-17. สืบค้นเมื่อ 2022-02-28.
- ↑ "เรียกเจ้าพ่อบ้านใต้สอบสวนเครียด ผู้กำกับขอพบการ์ดรถไฟ"ไล่สาว" มือมืดส่วจดหมายขู่ฆ่าพยานสำคัญ". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 2 September 1977. p. 16.
- ↑ โชติพงษ์ วงศ์พนารักษ์ (2017-03-04). "ผวจ. พังงา ตั้งกรรมการสอบคดี รุมโทรม ดญ. วัย 14 ปี". วอยซ์ออนไลน์. กรุงเทพฯ: วอยซ์ทีวี. สืบค้นเมื่อ 2022-02-08.