วากาบอนด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Vagabond)
วากาบอนด์
バガボンド
ชื่อภาษาอังกฤษVagaboand
แนวประวัติศาสตร์
มังงะ
เขียนโดยทาเคฮิโกะ อิโนอุเอะ
สำนักพิมพ์ญี่ปุ่น โคดันฉะ

วากาบอนด์ (ญี่ปุ่น: バガボンドโรมาจิBagabondoทับศัพท์: ทับศัพท์จาก Vagabond) การ์ตูนญี่ปุ่นที่เป็นผลงานการเขียนเรื่องหนึ่งของ ทาเคฮิโกะ อิโนอุเอะ โดยนำเค้าโครงเรื่องมาจาก "มิยาโมโตะ มุซาชิ" นวนิยายผลงานการประพันธ์ของ เอจิ โยชิคาวะ เริ่มลงตีพิมพ์ในนิตยสารมอร์นิ่งรายสัปดาห์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติชีวิตของซามูไรผู้เลื่องชื่อระดับตำนานของญี่ปุ่น มิยาโมโตะ มุซาชิ ซาซากิ โคจิโร่ ซึ่งถูกเขียนขึ้นด้วยลายเส้นอันสวยงามสลับกับพู่กันญี่ปุ่น

ในประเทศไทย วากาบอนด์ ได้ลิขสิทธิ์และจัดพิมพ์โดย เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์

คำว่า วากาบอนด์ (vagabond) มีความหมายว่า "บุคคลร่อนเร่" ในภาษาอังกฤษ จริงๆมีที่มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตว่า "ภควันต์"

เรื่องย่อ[แก้]

มิยาโมโตะ มุซาชิ ในวากาบอนด์

เนื้อเรื่องเริ่มต้นในช่วงหลังจากจบ สงครามทุ่งเซคิงาฮาระ ชินเม็ง ทาเคโซ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของ มิยาโมโตะ มุซาชิ ในวัยรุ่น ด้วยเป็นคนเกเรที่มีนิสัยรักการต่อสู้มาตั้งแต่เด็ก ชอบใช้กำลังจนออกจะเป็นอันธพาลและเป็นเด็กมีปัญหาของหมู่บ้าน จึงไม่ค่อยมีใครคบหานอกจากเพื่อนสนิทอีก 2 คน ฮอนอิเด็ง มาตาฮาชิ และ โอซึอุ ได้เดินทางออกจากหมู่บ้าน มิยาโมโตะ แคว้นซาคุ เข้าร่วมกับกองทหารเพื่อหวังจะสร้างชื่อจากสงครามแต่สุดท้ายฝ่ายที่เข้าร่วมกลับเป็นฝ่ายพ่ายศึก จนต้องหนีการตามล่าจากพวกตามล่าทหารหนีตาย ซึ่งมีทั้งทหารฝ่ายศัตรูและชาวบ้านที่โกรธแค้นเพราะสูญเสียคนอันเป็นที่รักไปในสงคราม จากนั้นจึงออกเดินทางเพื่อฝึกฝนวิชาและท้าประลองกับนักดาบที่มีชื่อเสียงทั่วแผ่นดิน ด้วยความหวังที่จะเป็นยอดนักดาบอันดับ 1 ของแผ่นดิน ที่นอกจากมีความทะเยอทะยานเป็นที่ตั้งแล้วยังเพื่อหนีจากปมด้อยในจิตใจที่เกิดจาก ชินเม็ง มุนิไซ ผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นยอดนักดาบระดับครูที่คอยข่ม ทาเคโซ มาตั้งแต่เด็กจนเป็นเหมือนเงาร้ายที่คอยครอบงำจิตใจอยู่ตลอดว่าตนเองจะไม่สามารถเก่งกว่าพ่อได้ ระหว่างเดินทาง มิยาโมโตะ มุซาชิ ได้พบกับผู้คนมากมายและหลากหลายจนเกิดการพัฒนาฝีมือขึ้น จากการประลองและเรียนรู้จาก ยอดฝีมือ ในแต่ละด้าน ซึ่งคนเหล่านี้เป็นทั้ง คู่ต่อสู้ และ อาจารย์ ไปพร้อมกัน จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงด้านความคิดและจิดใจที่จากเดิมเป็นคนที่ใช้แต่ กำลัง และ สัญชาตญาณดิบ ในการต่อสู้เหมือนกับพวก สัตว์ป่า คิดที่จะต่อสู้อย่างบ้าเลือด/เอาเป็นเอาตาย ค่อยๆ เรียนรู้ สัจจธรรม และ ปรัชญา ของชีวิต ไปพร้อมกับฝีมือดาบที่พัฒนาไปเรื่อยๆ เปลี่ยนจากคนที่มีแต่ความมุทะลุดุดันจนเป็นคนที่มีความสุขุมลุ่มลึก และคอยพูดคุยกับตัวเองอยู่เสมอว่าตนเองต้องการอะไร ความเป็นหนึ่งในปฐพี ที่ตนเองเคยต้องการมาตลอดนั้นคืออะไรกันแน่ ดำเนินเรื่องสลับไปกับชีวิตของเพื่อนอีก 2 คน (ฮอนอิเด็ง มาตาฮาชิ และ โอซึอุ) ที่ต่างแยกย้ายกันไปแล้ว วันดีคืนดีเส้นทางชีวิตของแต่ละคนก็กลับมาบรรจบพบกันเหมือนเส้นตรง 2 เส้น ที่มาตัดกันแล้วเพียงช่วงสั้นๆ ก็ต้องจากกันไปตามเส้นทางของแต่ละคน

ซาซากิ โคจิโร่ ในวากาบอนด์

‎ ต่อมาจึงเป็นเรื่องราวชีวิตของ ซาซากิ โคจิโร่ ยอดนักดาบผู้อาภัพเพราะพิการ หูหนวก และ เป็นใบ้ ตั้งแต่เด็ก เป็นคนที่มีใบหน้าไร้เดียงสาประดุจเด็กน้อยแต่กลับใช้ดาบยาวได้อย่างคล่องแคล่วและดุดัน ผิดกับบุคลิกที่เห็นจากภายนอก โดยเริ่มตั้งแต่ชาติกำเนิดที่แสนรันทดของครอบครัว จนถูก คาเนมากิ จิไซ อดีตครูดาบที่อยู่ในช่วง ตกต่ำ ของชีวิตมาพบเข้าและเก็บไปเลี้ยงจนเติบใหญ่ โดยที่ไม่เคยให้แตะต้องดาบหรือสอนเพลงดาบให้เลย ทั้งที่ตอนพบหนูน้อย โคจิโร่ นั้นข้างกายก็มีดาบเล่มยาว ซึ่งยาวกว่าดาบทั่วไปเป็นมรดกชิ้นเดียวของครอบครัวติดมาด้วย แม้ตอนเล็กๆ จะถือดาบยาวเล่มนี้ข้างกายอยู่ตลอดไม่เคยห่าง หากใครเอาดาบไปก็จะร้องไห้งอแงไม่ยอมหยุด แต่พอได้ดาบคืนมาก็จะหยุดร้องทันที จนเป็นภาพแปลกตาสำหรับผู้พบเห็น ที่เด็กตัวเล็กนิดเดียวกลับถือดาบที่มีความยาวมากว่าความสูงของตนเดินไปเดินมา ก่อนที่ คาเนมากิ จิไซ จะนำดาบไปซ่อนและไม่ให้แตะต้องมันอีกเพราะเกรงจะถูกคมดาบบาด รวมถึงไม่เคยคิดที่จะสอบเพลงดาบให้กับ โคจิโร่ เลย เพราะไม่ต้องการให้ โคจิโร่ ต้องมีชะตากรรมแบบเดียวกับที่ "ซาซากิผู้พ่อ" ซึ่งเป็นอดีตศิษย์ของตนและครอบครัว ที่ถูกสังหารล้างคร้วจนโคจิโร่ต้องเป็นกำพร้า แต่สุดท้ายเส้นทางชีวิตของ ซาซากิ โคจิโร่ ที่ถูกฟ้าลิขิตดั่งชีวิตที่ถูกขีดเขียนไว้แล้วให้เป็นยอดนักดาบก็มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ด้วยความที่เป็นนักดาบอยู่ในสายเลือดและรักการต่อสู้ไม่แพ้ มิยาโมโตะ มุซาชิ ประกอบกับ พรสวรรค์ ที่มีอยู่ในตัวทดแทน ประสาทสัมผัส ที่สูญเสียไป ทำให้ต้องออกเดินทางเพื่อฝึกฝนวิชาและพัฒนาฝีมือขึ้นมาเรื่อยๆ ระหว่างการเดินทางได้เคยพบ มิยาโมโตะ มุซาชิ เป็นครั้งแรกโดยบังเอิญ และต้องร่วมกันเคียงบ่าเคียงไหล่ต่อสู้กับเหล่าทหารหนีทัพจาก สงครามทุ่งเซคิงาฮาระ ในช่วงสั้นๆ ก่อนจะแยกจากกันไป และออกเดินทางเร่ร่อนไปเรื่อยเช่นเดียวกับ มุซาชิ

ตัวละคร[แก้]

มิยาโมโตะ มุซาชิ[แก้]

ตัวเอกของเรื่อง เดิมชื่อ ชินเม็ง เทเคโซ เป็นบุตรชายของ ชินเม็ง มุนิไซ ยอดนักดาบมีชื่อ เกิดที่เมืองมิยาโมโตะในแคว้นซาคุ ต้องการจะเป็นนักดาบอันดับ 1 ในปฐพี จึงออกเดินทางฝึกวิชาด้วยการท้าประลองกับยอดฝีมือทั่วแผ่นดินเพื่อเอาชนะไปทีละคนๆ หากไม่มีใครที่สามารถเอาชนะตนได้ก็แสดงว่าเป็น หนึ่งในปฐพี แล้ว แต่ระหว่างนั้นก็ค่อยๆ เรียนรู้ความหมายของคำว่า หนึ่งในปฐพี ว่าแท้จริงแล้วคืออะไร รวมถึงได้ฝึกฝนด้านจิตใจไปด้วยจนเรียนรู้ปรัชญาของชีวิตจนเป็นเลิศควบคู่ไปกับเพลงดาบด้วย

ซาซากิ โคจิโร[แก้]

ตัวเอกอีกคนหนึ่งของเรื่องหูหนวกแต่กำเนิดแต่สามารถเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ผ่านการอ่านหนังสือ 'กำพร้าตั้งแต่ยังเล็กเพราะครอบครัวถูกสังหารหมด รอดชีวิตเพราะบิดาส่งตัวมาให้กับ คาเนมากิ จิไซ ผู้เป็นครูดาบช่วยเลี้ยงดูโดยมีเพียงดาบเล่มยาวซึ่งถือเป็นมรดกเพียงชิ้นเดียวติดตัวมาด้วย ภายหลังได้ อิโต้ อิตโตไซ นักดาบชื่อดังที่เคยเป็นศิษย์ของ คาเนมากิ จิไซ ช่วยฝึกฝนให้ด้วยวิธีการปล่อยให้ต่อสู้เอาชีวิตรอดจากการต่อสู้จริงด้วยตัวเอง ก่อนที่จะเดินทางฝึกฝีมือเพียงลำพัง

ฮอนอิเด็ง มาตาฮาชิ[แก้]

เกิดที่เมืองมิยาโมโตะ เป็นเพื่อนกับ มุซาชิ และ โอซึอุมา ตั้งแต่เด็ก เป็นคนไม่เอาไหนซึ่งถึงแม้จะเป็นเพื่อนสนิทกันแต่ลึกๆ แล้วมีความอิจฉามุซาชิอยู่ เพราะเป็นคนเก่ง แข็งแรง ทำอะไรด้วยความมั่นใจ จึงพยายามจะเอาอย่างและเอาชนะให้ได้ จริงๆ แล้วเป็นคนดีแต่ก็มักจะแพ้ใจตัวเองเสียทุกที เคยอ้างชื่อของ ซาซากิ โคจิโร่ ไปใช้หากินในสถานการณ์ที่คล้ายกับ ตกบันไดพลอยโจน ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ต้องทำอย่างนั้นก็ได้ ซึ่งก็เป็นเพราะไอ้ความแพ้ใจตัวเองนี้ที่ทำให้ตามมุซาชิไม่ทันเสียที ต่อมา มาตาฮาชิในวัย64ปีได้เอาชนะความขี้ขลาดของตัวเองลงได้และได้เล่านิทานเรื่องนึงให้กับคนรุ่นต่อต่อไปให้ฟัง และเรื่องที่เป็นความสนใจมากที่สุดคือเรื่องมิยาโมโต้ มุซาชิ และ ซาซากิ โคจิโร่

โอซึอุ[แก้]

เป็นเด็กกำพร้าที่บ้าน ฮอนอิเด็ง เก็บมาเลี้ยงตั้งแต่เล็กโดยที่มีเพียงขลุ่ยเลาเดียวติดตัวมา เป็นเพื่อนกับ มุซาชิ และ มาตาฮาชิ มาตั้งแต่เด็ก รวมถึงเป็นคู่หมั่นของมาตาฮาชิที่ผู้ใหญ่หมั่นหมายให้ตั้งแต่เล็ก เคยคิดว่าตนเองชอบมาตาฮาชิ แต่ต่อมารู้ตัวว่าแท้จริงแล้วชอบมุซาชิอยู่โดยที่ไม่รู้ตัวมาก่อน (สาเหตุที่คิดว่าชอบมาตาฮาชินั้นก็เพราะมาตาฮาชิยอมเป็นเพื่อนกับมุซาชิ ทั้งที่ไม่มีใครยอมคบกับมุซาชิในวัยเด็กเลย)

ทาคุอัน[แก้]

พระแห่งวัดชิปโปที่ไม่เหมือนกับนักบวชทั่วไป ทั้งด้านการดำเนินชีวิตและวิธีการสอนสั่ง ชอบออกเดินทางไปตามที่ต่างๆ เป็นคนแรกที่เริ่มชี้ทางสว่างให้กับมุซาชิ จนเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเปลี่ยนชื่อจาก ชินเม็ง ทาเคโซ เป็น มิยาโมโตะ มุซาชิ เพื่อไม่ให้ลืมตัวตนที่แท้จริงซึ่งมาจาก หมู่บ้านมิยาโมโตะ แล้วออกเดินทางเพื่อฝึกฝนตัวเองเพื่อเป็นหนึ่งในปฐพี

ซึจิคาเสะ โคเฮ[แก้]

หนึ่งใน กลุ่มโจรซึจิคาเสะ ผู้เป็นน้องชายของ ซึจิคาเสะ เท็นมะ หัวหน้ากลุ่มโจร จนถูกขนานนามว่า "เทพเจ้าแห่งความตาย" เป็นผู้มีความเคลื่อนไหวคล่องแคล่วคล้ายกับพวกนินจา เคยต่อสู้กับมุซาชิเพราะโกรธแค้นที่สังหารพี่ชายตน แต่กลับโกรธแค้นเพราะพี่ชายถูกมุซาชิตัดหน้าสังหารเสียก่อน เนื่องจากต้องการที่จะเป็นคนสังหารพี่ชายด้วยมือตัวเองเพราะความแค้นส่วนตัวในอดีต ที่ได้บีบกล่องดวงใจ ทำให้ไม่สามารถมีอะไรกับผู้หญิงได้

ซึจิคาเสะ เท็นมะ[แก้]

ซึจิคาเสะผู้พี่ผู้เป็นหัวหน้า กลุ่มโจรซึจิคาเสะ พา ซึจิคาเสะ โคเฮ น้องชายและลูกสมุนออกปล้นสะดมจนเป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้าน เป็นคนฆ่าแม่แท้ๆ ของตนเองตาย และยังมีความหลังครั้งอดีต และเป็นความลับระหว่างตนกับโคเฮผู้เป็นน้องชายแท้ๆ บางอย่างอยู่ จนทำให้โคเฮโกรธแค้นและเกลียดชังเท็นมะแบบฝังใจ ขนาดที่ตั้งใจว่าเป็นคนฆ่าพี่ชายด้วยมือตัวเอง ต่อมาพบกับมุซาชิและมาตาฮาชิจนต่อสู้กัน สุดท้ายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และถูกมุซาชิซึ่งเด็กว่าหลายปีฆ่าตาย

โยชิโอกะ เซจูโร่[แก้]

โยชิโอกะผู้พี่ผู้สืบทอดตำแหน่งเจ้าสำนักโยชิโอกะ สำนักดาบชื่อก้องแห่งเกียวโต ด้วยรูปร่างหน้าตาที่บอบบางคล้ายผู้หญิง ประกอบกับนิสัยที่เป็นคนเจ้าสำราญ เอาแต่ดื่มสุราเคล้านารีไปวันๆ ทำให้ดูเหมือนคนไม่เอาไหน ไม่เหมาะสมจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งเจ้าสำนัก แต่แท้จริงแล้วเป็นมีผู้มีฝีมือดาบสูงส่งขนาดที่ว่ากันว่าถือเป็นอันดับ 1 ของเกียวโตเลยทีเดียว และมักจะคอยแอบช่วยเหลือ เด็นชิจิโร่ ผู้เป็นน้องชายอย่างลับๆ อยู่เสมอ เคยสอนเชิงมุซาชิจนฝากรอยแผลเป็นไว้กลางหน้าผากของมุซาชิ ตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในฝีมือดาบของทั้งคู่ในช่วงแรก และในช่วงสุดท้ายของชีวิตภายในค่ำคืนของวันขึ้นปีใหม่ เซจูโร่ได้พยายามลอบสังหารมุซาชิ เพื่อปกป้องเด็นชิจิโร่จากการประลองของทั้งสองที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ก็ต้องพบกับความพ่ายแพ้และถูกมุซาชิสังหารในที่สุด

โยชิโอกะ เด็นชิจิโร่[แก้]

โยชิโอกะผู้น้อง มีรูปร่างสูงใหญ่น่าเกรงขาม เปี่ยมไปด้วยพละกำลัง ไม่พอใจ เซจูโร่ พี่ชายที่มักจะทำตัวไม่สมกับเป็นเจ้าสำนัก และมักแสดงออกเหมือนตนมีฝีมือไม่ด้อยกว่าพี่ชายเสมอ ทั้งที่ลึกๆ แล้วยอมรับในฝีมือและความอัจฉริยะของพี่ชายอยู่ก็ตาม ยามปกติจะทำตัวเหมือนเป็นเจ้าสำนักคอยปกครองสำนักด้วยตนเองอยู่เสมอ ต่อมาภายหลังได้ประลองกับ มิยาโมโตะ มุซาชิ และได้พ่ายแพ้ไปในที่สุด

กิอน โทจิ[แก้]

คนสนิทและเป็นผู้ติดตาม โยชิโอกะ เซจูโร่ ไปทุกๆ แห่ง เป็นเสมือนแกะดำของสำนักโยชิโอกะที่เชื่อมั่นในฝีมือของตัวเอง และไม่ให้ความยอมรับนับถือใครในสำนักเลยแม้แต่ โยชิโอกะ เด็นชิจิโร่ ที่เป็นผู้สืบทอดลำดับที่ 2 และเป็นเสมือนหนึ่งเจ้าสำนักด้วย จะมีก็เพียงแต่เซจูโร่ผู้เป็นนายเพียงคนเดียวที่ยอมรับว่าเหนือกว่า ทำให้แม้แต่ศิษย์ร่วมสำนักไม่ค่อยชอบเท่าใดนัก และภายหลังจากที่ 'มิยาโมโตะ มุซาชิ' ได้เข้าบุกรุกสำนักโยชิโอกะ ก็ได้ติดตามไล่ล่า 'มิยาโมโตะ มุซาชิ' แต่ด้วยสุราและขาดการฝึกซ้อมฝีมือดาบ ทำให้ฝีมือถดถอยลงไปมาก ต่อมาเมื่อเจอ 'มิยาโมโตะ มุซาชิ' อีกครั้ง ก็ได้เข้าไปมุ่งทำร้าย และถูกสังหารในที่สุด

อุเอดะ เรียวเฮ[แก้]

ศิษย์เอกแห่งสำนักโยชิโอกะ เสมือนเป็นพ่อบ้านของบ้านโยชิโอกะที่คอยดูแลความเรียบร้อยต่างๆ ภายในสำนัก และยังเป็นผู้ที่คอยติดตามเด็นชิจิโร่อยู่เสมอ เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ต่อสำนักและว่ากันว่าเป็นผู้มีฝีมือสูงที่สุดในบรรดาศิษย์สำนักโยชิโอกะ ภายหลังจากพี่น้องโยชิโอกะ ได้ถูก 'มิยาโมโตะ มุซาชิ' สังหารก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าสำนัก และรวบรวมศิษย์ร่วมสำนักโยชิโอกะกว่า 70 ชีวิตเข้าสังหารมุซาชิ แต่ก็ถูกมุซาชิสังหารเกือบทั้งหมด และตัวเองก็พ่ายแพ้ในการต่อสู้ในครั้งนั้นด้วย

โจทาโร่(ยางิว โจโนะสุเกะ)[แก้]

เด็กที่ชื่นชมในตัวมุซาชิ และคอยติดตามมุซาชิในฐานะศิษย์โดยหวังว่าจะพัฒนาให้เป็นคนเก่งและแข็งแกร่งขึ้นไปด้วย แต่มูซาชิกลับทิ้งเขาไป หลังจากที่โจทาโร่นั้น ได้ไปอาศัยอยู่ในปราสาท ยางิวก็ไม่ได้เจอกับมุซาชิอีกเลยแต่โจทาโร่นั้นยังเคารพและนับถือในตัวมุซาชิอยู่ หลังจากนั้น โจทาโร่ได้เป็นชื่อตัวเองเป็น ยางิว โจโนะสุเกะ และได้เป็นซามูไรที่แข็งแกร่งอย่างที่เคยสัญญาไว้กับอาจารย์ตัวเองไว้ได้ถึงแม้ อาจารย์ของโจทาโร่อย่างมุซาชิจะไม่ได้เห็นตอนที่ โจทาโร่ หรือ โจโนะสุเกะนั้นได้ประสบความสำเร็จแล้ว

โฮโซอิน อินเอย์[แก้]

โฮโซอินรุ่นแรกที่รู้จักกันในนาม หอกแห่งโฮโซอิน พระผู้บรรลุในวิชาหอกและการฝึกฝนจิตใจ ปัจจุบันออกจากวงการแล้ว วันๆ เอาแต่ปลูกผักและปฏิบัติธรรม แต่เดิมมุซาชิตั้งใจจะไปหาเพื่อประลองด้วยหมายจะพิชิตอินเอย์ให้ได้ แต่เมื่อพบกับพลังจิตที่แผ่ออกมาถึงกับทำให้มุซาชิก้าวขาไม่ออก และกลายมาเป็นอาจารย์ สอนวิชาให้กับมุซาชิด้วยหวังว่าจะช่วยสอนให้ อินชุน ศิษฐ์เอกผู้สืบทอดวิชาให้รู้จักกับ "ความกลัว" ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่อินชุนยังขาดอยู่ โดยกล่าวกับมุซาชิว่า "สำหรับผู้ที่แข่งแกร่งทุกคน ในการต่อสู้ทุกครั้งย่อมต้องมีความกลัว แต่ต่างกันที่คนๆ นั้นจะสามารถต่อสู้กับ "ความกลัว" นั้น โดยไม่สนใจมันได้หรือไม่"

โฮโซอิน อินชุน[แก้]

ไฟล์:Inshun.JPG

โฮโซอินรุ่นที่ 2 ผู้ที่ถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดโฮโซอินต่อจาก อินเอย์ เป็นผู้มีความเป็นเลิศด้านการต่อสู้โดยเฉพาะ"หอก" แต่ก็ยังไม่สามารถสมบูรณ์ได้เนื่องจากยังมีสิ่งหนึ่งที่ยังขาดไป นั่นคือ "ความกลัว" ทำให้อินเอย์ผู้เป็นอาจารย์เกรงว่าวันใดที่ต้องพบกับ "ความกลัว" อินชุนจะไม่สามารถเผชิญหน้ากับมันได้ อินชุนเคยปะทะกับมุซาชิถึง 2 ครั้ง และเป็นผู้หยิบยื่นความพ่ายแพ้ให้กับมุซาชิเป็นครั้งแรก ซึ่งในครั้งนั้นทำให้มุซาชิบาดเจ็บอาการสาหัสทั้งทางกายและจิตใจ เพราะนอกจากเป็นครั้งแรกที่แพ้แล้ว ยังทำให้มุซาชิรู้จักคำว่า "กลัว" อย่างลึกซึ้งขนาดทำให้มุซาชิต้องวิ่งหนีเอาชีวิตรอดอย่างไม่รู้ตัว ก่อนที่จะมาพ่ายให้กับมุซาชิในการประลองครั้งที่ 2

ยางิว เซคิชูไซ[แก้]

ผู้มีความล้ำลึกในด้านเพลงดาบ จนถูกขนานนามว่าเป็น เจ้าแห่งดาบ จนว่ากันว่าเป็น หนึ่งในปฐพี และยังมีจิตใจที่ลึกล้ำแผ่พลังออกมา จนทำให้คู่ต่อสู้พ่ายแพ้ไปด้วยตัวเองทั้งที่ยังไม่ได้สู้กัน ครั้งที่มุซาชิลอบเข้าไปในบ้านยางิวหมายจะสังหารเพื่อได้ชื่อเป็นหนึ่งในปฐพีแทน แต่กลับต้องแพ้ทั้งที่เป็นเพียงแค่คนแก่ซึ่งกำลังหลับอยู่ เพราะพลังจิตที่แผ่ออกมาอย่างรุนแรงจนมุซาชิไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นให้มุซาชิกลับมาทบทวนความหมายของคำว่า หนึ่งในปฐพี อีกครั้งว่าคืออะไรกันแน่ และพูดคุยกับมุซาชิด้วยจิตว่า "ถ้ายังมัวว่ายอยู่ในทะเล ก็จะไม่รู้ว่าทะเลกว้างแค่ไหน" ซึ่งหมายถึงว่าหากยังหมกมุ่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกินไป ก็จะไม่เห็นสิ่งอื่นที่จะทำให้เรา สามารถเข้าใจความหมายของสิ่งที่เรากำลังค้นหาได้อย่างแท้จริง เพราะแท้จริงแล้ว หนึ่งในปฐพี ก็เป็นเพียงแค่ คำๆ หนึ่ง เท่านั้น

เฮียวโกะโนะสึเกะ[แก้]

หลานชายหัวแก้วหัวแหวนของ ยางิว เซคิชูไซ ผู้มีความละม้ายคล้ายกับมุซาชิในด้านสัญชาตญาณการต่อสู้ และมีฝีไม้ลายมือด้านเชิงดาบไม่น้อยหน้าผู้เป็นปู่ เป็นคนมีความสุขุมลุ่มลึก เคยพบกับมุซาชิระหว่างเดินทาง 2 ครั้ง ในช่วงที่มุซาชิเดินทางไปท้าประลองกับ "ยางิยู เซคิชูไซ" โดยที่ทั้งคู่ต่างก็ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายเป็นใคร

ชิชิโดะ ไบเค็ง[แก้]

ผู้ใช้ "เคียวโซ่" จนเป็นที่ล่ำลือกันในหมู่ผู้ฝึกวิชา หรือพยายามจะสร้างชื่อในวงการซามูไร แต่เดิมเป็นเพียงอันธพาลและโจรกระจอกที่คอยลักขโมย ปล้น ฆ่า และ รีดไถ ภายหลังถูก ซึจิคาเสะ โคเฮ สังหารพร้อมกับลูกน้อง แล้วใช้ชื่อของ "ชิชิโดะ ไบเค็ง" นับแต่นั้นมา มีเพียงชาวบ้านในพื้นที่ไม่กี่คนที่รู้ว่าไบเค็ง(ตัวจริง)ตายไปแล้ว ซึ่งก็สังเกตเห็นว่านับตั้งแต่ที่ชิชิโดะ ไบเค็ง(ตัวจริง)ตายไป กลับมีบรรดาผู้มีฝีมือเดินทางมาเพื่อประลองหรือขอดูวิชา "เคียวโซ่" กันเป็นจำนวนมาก ผิดกับตอนที่ชิชิโดะ ไบเค็ง(ตัวจริง)ยังมีชีวิตอยู่ ที่มีแต่พวกซามูไรร่อนเร่ หรืออันธพาลทั่วไปเดินทางมาหา จึงคิดว่านักดาบมีฝีมือเหล่านี้(ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือมุซาชิด้วย)คงจะเดินทางมาต่อสู้กับ "วิญญาณของชิชิโดะ ไบเค็ง" เป็นแน่

คาเนมากิ จิไซ[แก้]

อดีตครูดาบที่มีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง แต่นับจากที่พ่ายแพ้ให้กับ อิโต้ อิตโตไซ ศิษย์ที่ตนสอนมากับมือ ชีวิตก็เริ่มตกต่ำลงจนหลีกหนีจากวงการกลายมาเป็นเพียงแค่ตาแก่คนหนึ่งที่มาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านชนบทริมทะเล แถมยังถูกชาวบ้านและเด็กๆ มองว่าเป็นคนบ้า ก่อนที่จะเก็บโคจิโร่มาเลี้ยง หลังจากที่ซาซากิผู้พ่อซึ่งเป็นหนึ่งในอดีตศิษย์ของตนถูกสังหารและครอบครัวต้องล่มสลาย

อิโต้ อิตโตไซ[แก้]

นักดาบมีชื่อผู้เคยเป็นศิษย์ของ คาเนมากิ จิไซ แต่ด้วยนิสัยที่มีความมั่นใจในฝีมือและคิดว่าเรียนรู้มาจากอาจารย์หมดสิ้นทุกอย่างแล้ว จึงพิสูจน์ด้วยการท้าประลองกับผู้เป็นครูก่อนจะเอาชนะมาได้อย่างไม่ยาก ภายหลังเดินทางฝึกฝนวิชาไปเรื่อย ระหว่างทางก็จะมีผู้คนไม่น้อยที่มาฝากขอตัวเป็นศิษย์หรือขอประลองขอคำชี้แนะเสมอ ต่อมาได้รับโคจิโร่เป็นศิษย์แต่สอนด้วยวิธีของตนซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ตนเองใช้ฝึกมาตลอด ก็คือให้ต่อสู้จริงโดยเอาชีวิตเข้าแลกที่หากรอดชีวิตมาได้ครั้งหนึ่งเท่ากับได้เรียนรู้มากกว่าการฝึกฝนทั่วไปหลายสิบปี

รายชื่อตอน[แก้]

ภาพจากวากาบอนด์[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]