นกศิวะหางสีตาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Minla strigula)
นกศิวะหางสีตาล
ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตำบลบ้านหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Leiothrichidae
สกุล: Minla
สปีชีส์: M.  strigula
ชื่อทวินาม
Minla strigula
(Hodgson, 1837)
ชื่อพ้อง
  • Chrysominla strigula

นกศิวะหางสีตาล หรือ นกศิวะหางตาล (อังกฤษ: Bar-throated minla, Chestnut-tailed minla; ชื่อวิทยาศาสตร์: Minla strigula) เป็นนกในวงศ์นกกะรางและนกหางรำ (Leiothrichidae) พบในอนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

ลักษณะ[แก้]

นกศิวะหางสีตาลเป็นนกที่มีขนาดปานกลาง ตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน ทางด้านบนของตัวมีสีเขียวมะกอก ด้านล่างมีสีอ่อนกว่าบนหลัง รอบตามีสีเหลือง หางและปีกบางส่วนมีสีน้ำตาลแกมแดง หน้าผากมีสีน้ำตาลแดง ที่คอมีลายขวางสีดำ มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ16-18.5 เซนติเมตร มีหัวสีน้ำตาลอมส้มซึ่งค่อยๆจางลงจนกลมกลืนกับสีของหลัง ไหล่ สะโพกซึ่งเป็นสีเขียวอ่อนแกมเทา คางสีเหลืองเข้ม ใต้คอสีขาวมีลายบั้งสีดำขวางอยู่หลายๆบั้ง ทำให้ดูเหมือนเป็นนกที่มีคอลายๆ ปากสีน้ำตาลเข้ม ขนคลุมส่วนล่างของลำตัวเป็นสีเหลืองออกเขียวอ่อนนิดๆ ขนปีกมีสีเป็นชุดเดียวกับขนหางคือสีน้ำตาลแกมแดง ดำ และ ขาว มีจุดเด่นซึ่งเป็นที่มาของชื่อคือขนหางคู่บนสุดมีสีน้ำตาลแกมแดง ปลายหางเป็นสีขาวอมเหลือง ขอบขนและขนหางคู่อื่นเป็นสีดำ ตัวผู้และตัวเมียหน้าตาคล้ายคลึงกัน

ลักษณะของนกศิวะหางตาล
นกศิวะหางตาลเกาะบนต้นไม้

การกระจายพันธุ์[แก้]

พบในอนุทวีปอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, กระจายพันธุ์ข้ามไปยังภูฐาน, อินเดีย, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, เนปาล, ไทย, ทิเบต และเวียดนาม อาศัยในป่าดิบเขาเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน สูงจากระดับน้ำทะเล 1500-3700 เมตร สำหรับในประเทศไทย พบในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ พบได้บ่อยมากที่ดอยอินทนนท์ โดยชนิดย่อยที่พบในเมืองไทยคือชนิดย่อย M.s.castanicauda ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในประเทศพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2420 และพบในเมืองไทยที่ดอยอินทนนท์เมื่อ พ.ศ. 2477 นอกจากดอยอินทนนท์แล้วยังสามารถพบนกศิวะหางสีตาลได้ที่ดอยผ้าห่มปก เชิงยอดเขาโมโกจู จังหวัดกำแพงเพชร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก

นกศิวะหางตาลเมื่อถึงฤดูหนาวจะอาศัยกินพวกน้ำหวานจากดอกไม้

พฤติกรรม[แก้]

ทำรังวางไข่ในช่วงฤดูฝน เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์นกในฝูงจะแยกย้ายกันไปอยู่เป็นคู่ ในการเกี้ยวพาราสีนกแต่ละคู่จะเบียดกันแนบชิดตลอดเวลา ทำรังเป็นรูปถ้วยสูงจากพื้นดิน1-3เมตร ทำรังด้วยหญ้า ใบไผ่ มอส เปลือกต้นก่อที่นำมาขัดสานเป็นรูปถ้วยแล้วรัดภายนอกด้วยไลเคนส์ทำให้รังดูแข็งแรงและกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม รองก้นรังด้วยขนสัตว์ รากไม้เล็กๆ ฝอยลม ใบสน วางไข่ครอกละ 2-4 ฟอง เปลือกไข่สีเขียวอมฟ้าหรือน้ำเงินเข้ม หรือน้ำเงินแกมเขียว ทั้งพ่อและแม่นกช่วยกันเลี้ยงลูกอ่อน การกินอาหารกินพวกแมลง หนอน เมื่อถึงฤดูหนาวจะอาศัยกินพวกน้ำหวานจากดอกไม้

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Minla strigula ที่วิกิสปีชีส์