ข้ามไปเนื้อหา

จูดิธ เลย์สเตอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Judith Leyster)
จูดิธ เลย์สเตอร์

จูดิธ เลย์สเตอร์ (ดัตช์: Judith Jans Leijster, อังกฤษ: Judith Jans Leyster) (28 กรกฎาคม ค.ศ. 1609 - 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1660) เป็นหนึ่งในสามจิตรกรสตรีคนสำคัญชาวดัตช์ของยุคทองของเนเธอร์แลนด์ของคริสต์ศตวรรษที่ 17 (อีกสองคนคือราเชล รุยสช์ และ มาเรีย ฟาน อูสเตอร์วิค ผู้มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนจิตรกรรมภาพนิ่งของดอกไม้) เลย์สเตอร์ถนัดทางการเขียนภาพชีวิตประจำวันเป็นส่วนใหญ่ ภาพเขียนที่ระบุว่าเป็นงานของเลย์สเตอร์มีตั้งแต่ 20 จนถึง 35 ภาพ แต่จูดิธก็แทบจะเลิกเขียนภาพหลังจากการสมรสและมีบุตรธิดาห้าคน

ประวัติ

[แก้]

เลย์สเตอร์ฮาร์เล็มในประเทศเนเธอร์แลนด์[1] เป็นลูกหนึ่งในแปดคนของยาน วิลเล็มสซ์ เลย์สเตอร์ผู้มีอาชีพกลั่นเบียร์และทอผ้า รายละเอียดของการศึกษาไม่ทราบแน่นอน แต่ในวัยรุ่นเลย์สเตอร์ก็มีความสามารถพอที่จะได้รับการกล่าวถึงหนังสือ “Beschrijvinge ende lof der stadt Haerlem” (ค.ศ. 1621) ที่เขียนโดยซามูเอล แอมพ์ซิง ที่เดิมเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1621 และมาปรับปรุงในปี ค.ศ. 1626-1627 และตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1628

“The Happy Couple” โดย เลย์สเตอร์ ค.ศ. 1630 (พิพิธภัณฑ์ลูฟร์)

ในปี ค.ศ. 1633 เลย์สเตอร์ก็เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมเซนต์ลูค ซึ่งเป็นเพียงสมาชิกสตรีหนึ่งในสองคนที่ได้รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ภายในสองปีหลังจากนั้นเลย์สเตอร์ก็มีลูกศิษย์ฝึกงานเป็นชายสามคน จากหลักฐานทางเอกสารเลย์สเตอร์ฟ้องฟรันส์ ฮาลส์ว่าขโมยลูกศิษย์ไปคนหนึ่ง แม่ของลูกศิษย์จ่ายค่าเสียหายให้เลย์สเตอร์ 4 กิลเดอร์เพียงครึ่งหนึ่งของที่เรียกร้อง และแทนที่จะคืนลูกศิษย์ให้ฮาลส์ก็ยอมเสียค่าปรับ 3 กิลเดอร์ แต่เลย์สเตอร์เองก็ถูกปรับในฐานะที่ไม่ได้ลงทะเบียนลูกศิษย์ไว้กับสมาคม

ในปี ค.ศ. 1636 เลย์สเตอร์สมรสกับยาน มีนเซอ โมเลเนอร์ผู้เป็นจิตรกรผู้มีผลงานมากแต่มีความสามารถด้อยกว่า เลย์สเตอร์กับสามีย้ายอัมสเตอร์ดัมไปเพื่อไปหาช่องทางทางงานอาชีพที่ดีกว่า สองสามีภรรยาไปอยู่ได้สิบเอ็ดปีมีบุตรธิดาด้วยกันห้าคนแต่เพียงสองคนเท่านั้นที่รอดชีวิตมาจนโต ต่อมาก็ย้ายไปอยู่ที่ฮีมสเตดและไปเสียชีวิตที่นั่นในปี ค.ศ. 1660 เมื่ออายุได้ 50 ปี

งานเขียนส่วนใหญ่ของเลย์สเตอร์เขียนระหว่างปี ค.ศ. 1629 ถึงปี ค.ศ. 1635 ก่อนที่จะมีบุตรธิดา เท่าที่ทราบก็มีงานเขียนเพียงสองชิ้นเท่านั้นที่เขียนหลังปี ค.ศ. 1635 ที่เป็นภาพประกอบสองภาพสำหรับหนังสือเกี่ยวกับดอกทิวลิปที่เขียนในปี ค.ศ. 1643 และภาพเหมือนที่เขียนในปี ค.ศ. 1652


“Serenade”, ค.ศ. 1629 (พิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งอัมสเตอร์ดัม)

แม้ว่าจะเป็นจิตรกรผู้มีชื่อเสียงและเป็นผู้ที่ได้รับความนับถือจากผู้ร่วมสมัยในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่งานของเลย์สเตอร์ก็ถูกลืมกันไปหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว และมาได้รับการรื้อฟื้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1893 พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ซื้อภาพที่เชื่อกันว่าเขียนโดยฟรันส์ ฮาลส์แต่กลับพบว่าเป็นภาพที่เขียนโดยเลย์สเตอร์ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ตั้งแต่นั้นมามักจะถือว่าเลย์สเตอร์เป็นจิตรกรที่เขียนงานลอกเลียนแบบหรือผู้ที่เขียนตามแบบฟรันส์ ฮาลส์ แต่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาทัศนคติดังว่าก็เริ่มจะเปลี่ยนไป

เลย์สเตอร์ และ ฟรันส์ ฮาลส์

[แก้]

นอกไปจากการฟ้องร้องที่กล่าวข้างต้นแล้วความสัมพันธ์ทางอาชีพระหว่างเลย์สเตอร์ และ ฟรันส์ ฮาลส์ก็ไม่กระจ่างแจ้งว่าเป็นไปในรูปใด เลย์สเตอร์อาจจะเป็นลูกศิษย์หรือเป็นเพื่อนร่วนอาชีพ และอาจจะเป็นพยานในพิธีรับศีลจุ่มของมาเรียลูกสาวของฮาลส์เมื่อราวต้นคริสต์ทศวรรษ 1630 ก็เป็นได้ ตามหลักฐานจากบันทึกของจูดิธ ยานส์ แต่ก็ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับจูดิธ ยานส์ในฮาร์เล็ม และไม่มีหลักฐานด้วยว่าเลย์สเตอร์ฝึกงานกับฮาลส์ แม้ว่างานของเลย์สเตอร์ “Merry Drinker” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1629 ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งอัมสเตอร์ดัม มีลักษณะคล้ายงานเขียนของฮาลส์ชื่อ “The Jolly Drinker” ของปี ค.ศ. 1627-1628 ที่ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งอัมสเตอร์ดัมเช่นกัน นักประวัติศาสตร์บางคนให้ความเห็นว่าเลย์สเตอร์น่าจะเป็นลูกศิษย์ของฮาลส์เพราะลักษณะการเขียนภาพที่ใกล้เคียงกัน

งานจิตรกรรม

[แก้]

เลย์สเตอร์เป็นจิตรกรผู้มีความคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับการเขียนภาพชีวิตประจำวันภายในที่อยู่อาศัย ที่จะเขียนภาพสตรีที่อยู่ในบ้านซึ่งไม่ได้นิยมเขียนกันมาจนกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1650 งานเขียนอื่นๆ ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับจิตรกรร่วมสมัยเช่นฮาลส์, ยาน สตีน, และจิตรกรกลุ่มคาราวัจจิโออูเทร็คช์ เฮ็นดริค เทอร์บรุกเก็น และ เจอราร์ด ฟาน โฮนท์ฮอร์สต์

อ้างอิง

[แก้]
  1. Harris, Anne Sutherland and Linda Nochlin, Women Artists: 1550-1950, Los Angeles County Museum of Art, Knopf, New York, 1976
  • Chadwick, Whitney, Women, Art, and Society, Thames and Hudson, London, 1990
  • "Leyster, Judith" in Gaze, Delia, ed. Dictionary of Women Artists. 2 vols. Chicago: Fitzroy Dearborn, 1997.
  • Harris, Anne Sutherland and Linda Nochlin, Women Artists: 1550-1950, Los Angeles County Museum of Art, Knopf, New York, 1976
  • Broersen, Ellen, 'Judita Leystar': A Painter of 'Good, Keen Sense', from Judith Leyster: A Dutch Master and Her World, Yale University, 1993

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ จูดิธ เลย์สเตอร์