อ็องรี มาติส
อ็องรี มาติส | |
---|---|
ภาพอ็องรี มาติส โดย Carl Van Vechten, 1933. | |
เกิด | อ็องรี เอมีล เบอนัว มาติส 31 ธันวาคม ค.ศ. 1869 แคว้นนอร์-ปาดกาแล, ฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1954 นิส, ฝรั่งเศส | (84 ปี)
สัญชาติ | ฝรั่งเศส |
ขบวนการ | คติโฟวิสต์, นวยุคนิยม, ลัทธิประทับใจยุคหลัง |
อ็องรี เอมีล เบอนัว มาติส (ฝรั่งเศส: Henri-Émile-Benoît Matisse) (31 ธันวาคม ค.ศ. 1869 – 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1954) เป็นจิตรกร ประติมากร และช่างพิมพ์ ชาวฝรั่งเศส ถือกันว่าเขามีฐานะเป็นหัวหน้าและคนที่สำคัญที่สุดของกลุ่มคติโฟวิสต์ ผลงานการวาดรูปของเขาจะโดดเด่นในการที่ใช้สีสันตัดกันอย่างลื่นไหลลงตัว
ประวัติ
[แก้]อ็องรี มาติส เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1869 ที่เมืองเลอกาโต-ก็องเบรซี (Le Cateau-Cambrésis) แคว้นนอร์-ปาดกาแล (Nord-Pas-de-Calais) ประเทศฝรั่งเศส เติบโตในโบแอ็งน็องแวร์ม็องดัว (Bohain-en-Vermandois) เป็นบุตรชายของพ่อค้ามีฐานะมั่งคั่งคนหนึ่งในฝรั่งเศส บิดาต้องการให้เขาเป็นนักกฎหมาย ซึ่งเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอาชีพที่ดีในสังคมฝรั่งเศสในสมัยนั้น ในตอนแรกมาติสทำตามความปรารถนาของครอบครัวโดยการเข้าศึกษาวิชากฎหมาย จากนั้นเขาได้กลายเป็นจิตรกรโดยบังเอิญ เมื่อเขาล้มป่วยลงในปี ค.ศ.1889 ขณะนั้นเขายังเป็นนักศึกษากฎหมายอยู่ เพื่อนคนหนึ่งได้แนะนำให้เขาหัดวาดรูปเพื่อเป็นการแก้เบื่อหน่าย จนกระทั่งเขาหายป่วยเขาจึงตัดสินใจเลิกเรียนวิชากฎหมายและเข้าศึกษาที่โรงเรียนวิจิตรศิลป์ ในปี ค.ศ. 1895 มาติสได้เป็นศิษย์ของกุสตาฟว์ โมโร อาจารย์ศิลปะคนสำคัญในสมัยนั้น ขณะที่ศึกษาอยู่ในสถาบันสอนศิลปะแห่งนั้นเขาได้พบกับฌอร์ฌ รูโอ, อาลแบร์ มาร์แก ฯลฯ ซึ่งต่อมาเป็นผู้ร่วมคิดค้นคนสำคัญของศิลปะกลุ่มโฟวิสต์
อิทธิพล
[แก้]ต่อมาในปี ค.ศ.1897 มาติสเริ่มต้นศึกษาแนวคิดของศิลปินสมัยลัทธิประทับใจ ปอล เซซานเป็นศิลปินที่อิทธิพลต่อมาติสอย่างมาก โดยเขายกย่องว่าผลงานของเซซานมีความโดดเด่นโดยเฉพาะเรื่องของการใช้สี ซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดมวลปริมาตรที่มีความหนาแน่น โดยมาติสได้เขียนไว้ในบันทึกใจความว่า “ผลงานของเซซานอยู่บนรากฐานในพลังของเส้นและสี” นอกจากเซซานแล้ว ยังมีศิลปินกลุ่มอื่นที่เขาให้ความสนใจได้แก่ กลุ่มลัทธิประทับใจใหม่ ศิลปินคนสำคัญในยุคนี้เช่น ปอล โกแก็ง และปอล ซีญัก มาติสกล่าวว่า “กลุ่มลัทธิประทับใจใหม่ใช้กรรมวิธีการแต้มสีเป็นจุด เท่ากับเป็นการทำลายเอกภาพของสี เขาต้องการสร้างงานศิลปะให้มีการเคลื่อนไหว ไม่ใช่ดูนิ่งเหมือนพวกลัทธิประทับใจได้กระทำ และไม่ได้เป็นเครื่องบันทึกธรรมชาติที่ผ่านไปเฉย ๆ ดังเช่นที่ศิลปินลัทธิประทับใจทำ” บันทึกที่กล่าวมาล้วนอยู่ในบทความเรื่อง ‘คำให้การของจิตรกร’ ซึ่งมาติสตีพิมพ์ในวารสารเลอกรังค์รีวิวเมื่อปี ค.ศ.1908
ภายหลังในปี ค.ศ.1899 มาติสได้พบเดอแร็งและวลาแม็งก์ ซึ่งเป็นศิลปินที่นำไปสู่การเกิดกลุ่มคติโฟวิสต์ในเวลาต่อมา อีกทั้งมาติสยังได้สร้างงานและเปิดเผยแพร่ข้อมูลในบันทึกเกี่ยวกับศิลปะออกมา ทำให้ศิลปินรุ่นต่อมาต่างรู้สึกว่าพวกศิลปินรุ่นเก่าในอดีตและศิลปินสมัยใหม่บางพวก เช่น พวกสัญลักษณ์นิยมนั้นต่างปิดบังคุณค่าอันบริสุทธิ์ของภาพไว้ ทำให้พวกเขาไม่ยอมรับในเรื่องการใช้สีที่ดูลี้ลับแต่เพียงอย่างเดียว พวกลัทธิสัญลักษณ์นิยมเริ่มเสื่อมลง ขณะเดียวกันการใช้สีในภาพวาดขนาดเล็กของเปอร์เซียและลายผ้าของอียิปต์โบราณได้เข้ามามีบทบาทต่อความคิดของมาติสและกลุ่มคติโฟวิสต์ โดยกล่าวว่า รูปแบบที่เหมือนตามธรรมชาติจะต้องเปลี่ยนรูปไป แสงจะต้องไม่ลอกเลียนแบบธรรมชาติ แต่ต้องแสดงออกให้เห็นถึงความรู้สึกของสี และมีความงดงามคล้ายศิลปะการตกแต่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจุดมุ่งหมายของมาติสและศิลปินกลุ่มคติโฟวิสต์
คติโฟวิสต์
[แก้]เป็นลัทธิที่เกิดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 Fauvism เป็นคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศสแปลว่า สัตว์ป่า (Wild-Beast) โดยใช้เป็นชื่อเรียกศิลปินกลุ่มหนึ่งที่แสดงงานในปี ค.ศ.1905 ที่งานแสดงศิลปะชาลอนโตตอน ในงานนั้นมีผลงานปะปนกันหลากหลาย ได้แก่ผลงานประติมากรรมของโดนาเตลโลแห่งยุคเรอเนสซองส์ ส่วนศิลปะสมัยใหม่คือผลงานที่ให้ความรู้สึกที่รุนแรง ดุดัน หยาบคายอีกทั้งยังให้ความรู้สึกตื่นเต้นในเวลาเดียวกัน จนทำให้หลุยส์ โวแซล (Louis Vauxcelles) นักวิจารณ์ศิลปะให้ความเห็นไว้ว่า “โดนาเตลโลถูกล้อมรอบด้วยฝูงสัตว์ป่า” ศิลปินกลุ่มดังกล่าวจึงนำคำว่า “Fauvism” มาตั้งเป็นชื่อกลุ่มและลัทธิของตน
แนวคิดของศิลปินคติโฟวิสต์
[แก้]กลุ่มคติโฟวิสต์เชื่อว่าศิลปะสร้างผลงงานโดยการแสดงออกถึงความรู้สึกภายในด้วยเส้นและสี สามารถแสดงถึงความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญในการแสดงออกถึงอารมณ์ของศิลปิน โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งที่ตาเห็น แต่คำนึงถึงความรู้สึกและประสบการณ์ของศิลปินที่เกิดขึ้นโดยตรง ซึ่งเป็นการตอบโต้แนวความคิดของกลุ่มลัทธิประทับใจ ซึ่งวาดตามสิ่งที่ตาเห็น แต่สิ่งที่ศิลปินกลุ่มคติโฟวิสต์นั้นได้สร้างผลงานจิตรกรรมแนวใหม่ขึ้นมา คือ มีรูปทรงอิสระ ใช้สีที่ตัดกันรุนแรง พวกเขาสร้างขึ้นตามสัญชาตญาณแห่งการแสดงออกอย่างเต็มที่ ผลงานที่ปรากฏจะให้ความรู้สึกสนุกสนานในลีลาของรอยแปรง จังหวะของสิ่งต่าง ๆ มีอารมณ์จินตนาการและภาพลักษณ์แปลกแยกออกไปจากการวาดของพวกลัทธิประทับใจ ซึ่งจะเล่นแต่เรื่องของสี แสง และบรรยากาศตามสภาพที่เป็นอยู่ในธรรมชาติ กลุ่มคติโฟวิสต์ได้นำลีลาของเส้นมาสังเคราะห์ใช้ใหม่ เช่นการตัดเส้นรอบนอกของสิ่งต่าง ๆ เพื่อเน้นให้เด่นชัดดัดแปลงรูปทรงที่ไม่จำเป็นให้มีรูปแบบเรียบง่าย ต้องการแสดงทั้งรูปทรงและแสงไปพร้อม ๆ กัน สีที่จิตรกรกลุ่มนี้นิยมใช้เป็นอย่างมาก ได้แก่ สีเขียว สีส้ม สีน้ำเงิน สีแดงของอิฐ และสีม่วง พวกเขาใช้สีดังกล่าวนี้ให้ตัดขัดแย้งกันอย่างรุนแรง แต่ประสานกันได้อย่างเป็นเอกภาพ ผลที่ออกมาของภาพบางภาพดูนุ่มนวลและเด่นชัด แนวคิดของกลุ่มคติโฟวิสต์นี้ จังหวะและลีลาของสีนั้นจะทำหน้าที่สำคัญมากกว่าสิ่งใดทั้งหมด สีจะมีความสำคัญมากกว่าเรื่องของวิชาทัศนียภาพและเรื่องรูปทรง
จิตรกรคนสำคัญอื่น ๆ ของคติโฟวิสต์ได้แก่ มอริส วลาแม็งก์ (Maurice Vlaminck), อ็องเดร เดอแร็ง (Andre Derain), ฌอร์ฌ รูโอ (Georges Rouault) เป็นต้น ความเคลื่อนไหวของศิลปินกลุ่มคติโฟวิสต์เกิดขึ้นและหมดความนิยมลงในประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ผลของความคิดนี้กลับไปผูกพันคล้ายคลึงกับคตินิยมทางศิลปะอีกแบบหนึ่งซึ่งเรียกว่า กลุ่มลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ ซึ่งเจริญในประเทศเยอรมนี และต่อมาทั้งสองกลุ่มนี้กลายเป็นต้นเค้าทำให้เกิดศิลปะกลุ่มนิยมนามธรรมไปในที่สุด
ชีวิตบั้นปลาย
[แก้]ในปี พ.ศ. 2484 เขาป่วยเป็นโรคมะเร็งและเข้ารับการผ่าตัด จนต้องนั่งรถเข็น มาติสไม่ย่อท้อปล่อยให้การนั่งรถเข็นเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ด้วยความช่วยเหลือจากผู้อื่นเขาเริ่มสร้างงานศิลปะแบบตัดปะกระดาษที่เรียกว่า "gouaches découpés" การทดลองนี้ทำให้เขาได้ทำงานศิลปะในสื่อชนิดใหม่อันเรียบง่ายแต่สนุกสนานรื่นเริงด้วยสีสันและรูปทรงเรขาคณิต
มาติส ประสบความสำเร็จในชั่วชีวิตเขาในฐานะจิตรกร ประติมากร และช่างพิมพ์ ปัจจุบันภาพเขียนของมาติส มีค่าสูงถึง 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2002 ประติมากรรม Reclining Nude I (Dawn) ของเขาขายได้ 9.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นสถิติที่สูงสำหรับประติมากรรมของศิลปินคนหนึ่ง
มาติสเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ในวัย 84 ปี ที่เมืองนิส ประเทศฝรั่งเศส
ผลงาน
[แก้]ด้านจิตรกรรม
[แก้]ในด้านงานจิตรกรรมมาติสได้ผลิตงานออกมาเรื่อย ๆ งานของเขาถือเป็นผู้นำของการเคลื่อนไหวทางศิลปะในลักษณะโฟวิสต์ เขามีนิทรรศการครั้งแรกในปี ค.ศ. 1901 และมีนิทรรศการเดี่ยวในปีค.ศ. 1904 การใช้สีสันสดใสชัดเจนของเขาโดดเด่นจนเป็นที่สังเกตเห็นได้ชัด
การเสื่อมลงของการเคลื่อนไหวทางศิลปะในลักษณะโฟวิสต์ ในปีค.ศ. 1906 มิได้มีผลกับชื่อเสียงของมาติส งานของเขาก้าวหน้าไปไกลกว่าและผลงานชั้นดีที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1901 ถึง ค.ศ. 1912
ด้านประติมากรรม
[แก้]ในวงการประติมากรด้วยกัน แม้ว่าจะไม่ค่อยมีคนนิยมชมชอบในประติมากรรมของมาติส แต่ในหมู่นักวิจารณ์และนักประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ต่างก็เห็นว่า งานของเขามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่างานจิตรกรรมของเขาในด้านของการบุกเบิกรูปแบบ และแนวคิดใหม่ ในงานประติมากรรมของเขาก็ใช้หลักเดียวกันกับจิตรกรรมคือการทำขึ้นมาเพื่อคัดค้านโต้ตอบวิธีการที่ทำแค่ตาเห็นของลัทธิประทับใจ
อ้างอิง
[แก้]- กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554. (ISBN 978-974-03-2765-3)
- จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2552. (ISBN 974-7383-32-2)
- วุฒิ วัฒนสิน. ประวัติศาสตร์ศิลปะ. กรุงเทพฯ สิปประภา, กรุงเทพ, 2552. (ISBN 978-616-7133-03-4)