ช้างสุมาตรา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Elephas maximus sumatranus)
ช้างสุมาตรา
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Proboscidea
วงศ์: Elephantidae
สกุล: Elephas
สปีชีส์: Elephas maximus
สปีชีส์ย่อย: E.  m. sumatranus
Trinomial name
Elephas maximus sumatranus
Temminck, 1847[1]

ช้างสุมาตรา (อังกฤษ: Sumatran elephant; ชื่อวิทยาศาสตร์: Elephas maximus sumatranus) เป็นชนิดย่อยของช้างเอเชีย (E. maximus) ชนิดหนึ่ง จัดเป็นช้างที่พบได้เฉพาะบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เท่านั้น

ช้างสุมาตรา มีรูปร่างที่เล็กกว่าช้างเอเชียชนิดอื่น ๆ มีลำตัวสีเทาจางและมีรอยด่างน้อยกว่าช้างเอเชียชนิดอื่น โดยมีจุดสีชมพูเฉพาะบนใบหูเท่านั้น ช้างสุมาตราตัวเต็มวัยมีความสูงจากพื้นถึงไหล่วัดได้ 2-3.2 เมตร น้ำหนักระหว่าง 2,000-4,000 กิโลกรัม มักอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าและถิ่นที่อยู่ปกคลุมด้วยต้นไม้บางส่วน[2]

ปัจจุบันช้างสุมาตราตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤต คาดว่ามีจำนวนประชากรทั้งหมดไม่เกิน 1,000 ตัว โดยสาเหตุสำคัญที่สุดของการสูญพันธุ์ คือ การไล่ล่าจากพรานป่าเพื่อเอาอวัยวะและงาไปขายในตลาดมืด ถือเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดมากกว่าการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย หรือโรคระบาดเสียอีก แม้ปัจจุบันจะมีการตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างสุมาตราขึ้นภายในอุทยานแห่งชาติเวย์แคมบัส แต่ทว่ารอบ ๆ ศูนย์อนุรักษ์ก็ยังคงมีปัญหาการไล่ล่าอยู่ ในระยะแรก ๆ ที่มีการตั้งศูนย์อนุรักษ์ขึ้นมา ก็ปรากฏมีพรานป่าแอบเข้ามาลักขโมยช้างออกไปฆ่าจนมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง ได้รับความเสียหายทั้งสองฝ่าย จึงมีการคล้องโซ่ช้างไว้เพื่อให้ได้ยินเสียงในเวลากลางคืน มิได้เป็นไปเพื่อการล่ามหรือกักขังแต่อย่างใด

ช้างสุมาตราในศูนย์อนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติเวย์แคมบัส

ปัจจุบันที่ศูนย์อนุรักษ์แห่งนี้มีจำนวนช้างสุมาตราเลี้ยงไว้ราว 80 เชือก เป็นช้างที่เชื่องต่อผู้เลี้ยงเหมือนช้างบ้าน ซึ่งภาวะเช่นนี้เสี่ยงอย่างมากต่อการสูญเสียพฤติกรรมตามธรรมชาติไป อีกทั้งในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทางศูนย์ก็ยังได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมได้อีก เพื่อต้องการเงินนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู, ศึกษา และอนุรักษ์ต่อยอดขึ้นไปในอนาคต แม้ช้างที่เลี้ยง ณ ที่นี่มีการขยายพันธุ์ได้ลูกช้างบางส่วนแล้วก็ตาม แต่การปล่อยคืนสู่ธรรมชาติยังมิอาจทำได้ เพราะปัญหาการไล่ล่าที่ยังคงมีอยู่ [3]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Gopala, A., Hadian, O., Sunarto, Sitompul, A., Williams, A., Leimgruber, P., Chambliss, S. E., Gunaryadi, D. (2011). "Elephas maximus ssp. sumatranus". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.2.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. "ช้างเอเชีย". สถาบันคชบาลแห่งชาติ. 17 October 2012. สืบค้นเมื่อ 15 November 2014.[ลิงก์เสีย]
  3. "สุดหล้าฟ้าเขียว: Indonesia". ช่อง 3. 15 November 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-29. สืบค้นเมื่อ 15 November 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Elephas maximus sumatranus ที่วิกิสปีชีส์