ดาส โบท
ดาส โบท | |
---|---|
กำกับ | วูล์ฟกัง ปีเตอร์เซน |
เขียนบท | วูล์ฟกัง ปีเตอร์เซน (บทภาพยนตร์) โลทาร์-กุนเทอร์ บุชไฮม์ (นวนิยาย) |
อำนวยการสร้าง | กุนเทอร์ โรห์บาจ |
นักแสดงนำ | เยือร์เกิน พร็อคโน เฮอร์เบิร์ต โกรนเมเยอร์ เคลาซ์ เวนเนมานน์ |
ผู้บรรยาย | เฮอร์เบิร์ต โกรนเมเยอร์ |
กำกับภาพ | Jost Vacano |
ตัดต่อ | Hannes Nikel |
ดนตรีประกอบ | Klaus Doldinger |
ผู้จัดจำหน่าย | Columbia Pictures |
วันฉาย | 17 กันยายน ค.ศ. 1981 (เยอรมนีตะวันตก) |
ความยาว | 150 นาที (ฉบับฉายในโรง) 209 นาที (ฉบับผู้กำกับ) 293 นาที (ฉบับ original uncut) 330 นาที (ฉบับฉายทางโทรทัศน์ ปี 1985) |
ประเทศ | เยอรมนีตะวันตก |
ภาษา | ภาษาเยอรมัน |
ทุนสร้าง | 35 ล้านมาร์กเยอรมัน |
ดาส บูท (เยอรมัน: Das Boot; อังกฤษ: The Boat; ฉายในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2525 ใช้ชื่อว่า อู 96 นรกใต้สมุทร) เป็นภาพยนตร์ภาษาเยอรมันที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2524 กำกับโดยวูล์ฟกัง ปีเตอร์เซน สร้างจากนวนิยายในชื่อเดียวกับภาพยนตร์ ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2520 เขียนโดยโลทาร์-กุนเทอร์ บุชไฮม์ นักข่าวสงครามที่มีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายภาพและเขียนสารคดีสำหรับใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ บนเรือดำน้ำอู 96 ของเยอรมนี ในยุทธบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
ภาพยนตร์กล่าวถึงภารกิจของเรืออู 96 ที่ปฏิบัติการทำลายขบวนเรือสินค้าของอังกฤษแถบทะเลเมดิเตอเรเนียนและมหาสมุทรแอตแลนติก ก่อนจะถูกกองเรือของอังกฤษโจมตีจนเสียหายอย่างหนักระหว่างเล็ดลอดผ่านช่องแคบยิบรอลตา [1] เพื่อไปเทียบท่าเพื่อเติมน้ำมันและเสบียงอาหารที่ลา โรเชล ประเทศฝรั่งเศส [2] และถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรจมลงขณะจอดอยู่ที่ท่าเรือ ในวันคริสต์มาส พ.ศ. 2484 [3]
ปีเตอร์เซนนำเสนอภาพยนตร์ผ่านมุมมองของโลทาร์-กุนเทอร์ บุชไฮม์ (รับบทโดย เฮอร์เบิร์ต โกรนเมเยอร์) โดยเน้นถึงความเป็นอยู่ของลูกเรือขณะใช้ชีวิตอยู่ในเรือดำน้ำ รวมไปถึงความเครียด ความอึดอัด ความหวาดกลัวขณะทำการรบใต้น้ำ ภาพยนตร์ใช้เวลาถ่ายทำนานถึงสองปี ใช้กล้องมือถือติดตามถ่ายทำนักแสดงที่ใช้ชีวิตอยู่ในฉากเป็นเวลานานหลายเดือน โดยไม่มีโอกาสได้ออกมาอยู่กลางแจ้ง หนวดเครา สีผิวที่ซีดเซียวเนื่องจากไม่ถูกแสงแดด รวมถึงอาการอิดโรยของนักแสดงในภาพยนตร์ก็เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ได้ใช้การแต่งหน้าแต่อย่างใด
ภาพยนตร์สร้างด้วยงบประมาณสูงถึง 35 ล้านมาร์กเยอรมัน เนื่องจากผู้กำกับต้องการให้มีความสมจริงในทุกด้าน นับเป็นภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างสูงสุดเป็นอันดับสองของเยอรมนี รองจาก เมโทรโพลิส ภาพยนตร์ของฟริตซ์ แลงที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2470 ในการถ่ายทำภาพยนตร์ ปีเตอร์เซนได้รับคำปรึกษาจากไฮน์ริช เลห์มาน-วิลเลนบร็อก อดีตกัปตันเรืออู 96 ลำเดียวกับที่กล่าวถึงในภาพยนตร์ [4] และฮานส์-โจอาคิม ครุก อดีตต้นเรือ อู 219
ภาพยนตร์ได้รับเสนอชื่อเข้าชิง 6 รางวัลออสการ์ ในสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลง ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม การถ่ายภาพ การตัดต่อ การตัดต่อเสียง และเทคนิคพิเศษด้านเสียง [5] ภาพยนตร์ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับเรือดำน้ำที่ดีที่สุด [6][7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://uboat.net/boats/u96.htm
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-26. สืบค้นเมื่อ 2009-11-19.
- ↑ ในความเป็นจริง เรืออู 96 ถูกปลดประจำการจากการรบในปี 1943 และใช้ในการฝึก และอับปางลงเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2488 เนื่องจากถูกระเบิดจากเครื่องบินสหรัฐอเมริกา ที่โจมตีเมืองท่าวิลเฮล์มสฮาเฟน (Wilhelmshaven) นีเดอร์ซัคเซ่น ประเทศเยอรมนี [1]
- ↑ http://www.9thflottilla.de/flot9c.htm
- ↑ http://www.imdb.com/title/tt0082096/awards
- ↑ 10 With Great Depth!
- ↑ Ten Best Submarine films~~ {{{((DIVE....{{{(Dive... {{(dive
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]-
อู 96 ขณะออกจากท่าเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 1942
-
กัปตันไฮน์ริช เลห์มาน-วิลเลนบร็อก ในปี 1941
-
กล้องเพอริสโคปในห้องบังคับการ อู 96
-
กัปตันวิลเลนบร็อก ในปี 1942
-
แผนผังเรืออู Type VIIc แบบเดียวกับ อู 96
-
ท่าเทียบเรือดำน้ำที่เมือง La Rochelle ประเทศฝรั่งเศส ที่อู 96 ถูกทิ้งระเบิดจมลงในภาพยนตร์
-
เรืออู 995 Type VIIc แบบเดียวกับในภาพยนตร์ จัดแสดงที่เมืองคีล ประเทศเยอรมนี