มะเร็งในวัยเด็ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Childhood cancers)
มะเร็งในวัยเด็ก
ชื่ออื่นมะเร็งในวัยเด็ก
สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์

มะเร็งในวัยเด็ก ตามมาตรฐานของสหรัฐ หมายถึง มะเร็งที่พบตั้งแต่อายุ 0–14 ปี[1][2] แต่บางทีนิยามของมะเร็งในวัยเด็กรวมถึงวัยรุ่นอายุระหว่าง 15–19 ปีด้วย วิทยามะเร็งเด็ก (Pediatric oncology) เป็นแขนงของวิชาแพทยศาสตร์ที่ว่าด้วยการวินิจฉัยและรักษามะเร็งในเด็ก

มีการประมาณว่ามะเร็งในวัยเด็กทั่วโลกมีอุบัติการณ์กว่า 175,000 คนต่อปี และมีอัตราตายประมาณ 96,000 คนต่อปี[3] มะเร็งในวัยเด็กในประเทศพัฒนาแล้วมีอัตราตายประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยทั้งหมด ตรงข้ามกับในประเทศที่ขาดแคลนทรัยากรมีอัตราตายประมาณร้อยละ 80 หรืออาจมากถึงร้อยละ 90 ในประเทศที่ยากจนมากที่สุดของโลก[4] อุบัติการณ์ในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศเพิ่มขึ้นช้า ๆ โดยอัตรามะเร็งในวัยเด็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ต่อปีระหว่างปี 1975 ถึง 2002 ในสหรัฐ[5] และร้อยละ 1.1 ต่อปีระหว่างปี 1978 ถึง 1997 ในทวีปยุโรป[6]

อาการและอาการแสดง[แก้]

เด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งมีความเสี่ยงเกิดปัญหาการคิดหรือการเรียนรู้หลายอย่าง[7] ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บของสมองที่เกิดจากมะเร็งเอง เช่น เนื้องอกสมองหรือการกระจายสู่ระบบประสาทส่วนกลาง หรือจากผลข้างเคียงของการรักษามะเร็งอย่างเคมีบำบัดและรังสีบำบัด การศึกษาหลายการศึกษาแสดงว่าเคมีบำบัดและรังสีบำบัดอาจเป็นอันตรายต่อเนื้อขาวและรบกวนกัมมันตภาพของสมอง

ปัจจัยเสี่ยง[แก้]

มีการระบุปัจจัยครอบครัวและพันธุกรรมในผู้ป่วยมะเร็งในวัยเด็กร้อยละ 5–15 มีการสัมผัสสิ่งแวดล้อมและปัจจัยภายนอกร่างกายที่ทราบน้อยกว่าร้อยละ 5–10 เช่น การสัมผัสยาสูบ รังสีเอกซ์หรือยาบางชนิดก่อนเกิด[8] ทว่า สำหรับผู้ป่วยร้อยละ 75–90 ที่เหลือไม่ทราบสาเหตุของปัจเจก ในผู้ป่วยส่วนใหญ่สันนิษฐานว่ามะเร็งเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงและตัวแปรหลายประการเช่นเดียวกับการเกิดมะเร็งโดยทั่วไป[9]

ลักษณะบางอย่างที่ทำให้ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งในวัยเด็กแตกต่างจากมะเร็งในผู้ใหญ่ ได้แก่

  • มีการสัมผัสภัยสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างจากมะเร็งในผู้ใหญ่ ซึ่งบางครั้งไม่พบในมะเร็งในผู้ใหญ่
  • ระบบสรีรวิทยาที่ยังไม่เติบโตเพื่อกำจัดหรือนำสสารสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการเมแทบอลิซึม
  • การเจริญเติบโตของเด็กในช่วงที่เรียก "หน้าต่างการเจริญ" (developmental window) ทำให้เกิด "หน้าต่างวิกฤตความเสี่ยงสูง" (critical windows of vulnerability)[10]

นอกจากนี้ อายุคาดหมายในเด็กที่ยาวขึ้นทำให้มีเวลาสำหรับกระบวนการมะเร็งที่มีระยะแฝงนานยาวในการปรากฏมากขึ้น ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งบางชนิดในช่วงชีวิตภายหลัง[10]

มีสาเหตุของมะเร็งในวัยเด็กที่ป้องกันได้ เช่น การใช้รังสีไอออนมากเกินและการใช้รังสีดังกล่าวในทางที่ผิดจากการถ่ายภาพส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์เมื่อการทดสอบไม่มีข้อบ่งชี้หรือเมื่อใช้เกณฑ์วิธีแบบผู้ใหญ่[11][12]

การวินิจฉัย[แก้]

มะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ร้อยละ 32) เนื้องอกสมอง (ร้อยละ 18) และมะเร็งปุ่มน้ำเหลือง (ร้อยละ 11)[6][13] ในปี 2005 เยาวชนอายุน้อยกว่า 20 ปีในสหรัฐ 4.1 คนต่อ 100,000 คนได้รับวินิจฉัยด้วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว และมีผู้เสียชีวิต 0.8 คนต่อ 100,000 คน จำนวนผู้ป่วยใหม่สูงสุดในกลุ่มอายุ 1–4 ปี แต่จำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดอยู่ในกลุ่มอายุ 10–14 ปี

ในปี 2005 ผู้มีอายุ 0–19 ปี 2.9 คนต่อ 100,000 คนพบว่ามีมะเร็งสมองหรือมะเร็งระบบประสาทส่วนกลาง และมีผู้เสียชีวิต 0.7 คนต่อ 100,000 คน มะเร็งชนิดนี้พบบ่อยสุดในเด็กอายุระหว่าง 1 ถึง 4 ปี แต่ผู้เสียชีวิตสูงสุดอยู่ในกลุ่มอายุ 5–9 ปี ชนิดย่อยหลักของเนื้องอกสมองและระบบประสาทส่วนกลางในเด็ก ได้แก่ มะเร็งแอสโทรไซต์ (astrocytoma) เนื้องอกเกลียก้านสมอง (brain stem glioma) เนื้องอกกะโหลกและคอหอย (craniopharyngioma) เนื้องอกเซลล์ประสาทและเกลียทารกแบบเดสโมเพลเชีย (desmoplastic infantile ganglioglioma) เนื้องอกอีเพนไดมา (ependymoma) เนื้องอกเกลียระดับสูง เนื้องอกสมองน้อยวัยอ่อน (medulloblastoma) และเนื้องอกรูปแท่งคล้ายทารกวิรูปนอกแบบ (atypical teratoid rhabdoid tumor)[14]

พยากรณ์โรค[แก้]

ผู้รอดชีวิตจากมะเร็งในวัยเด็กเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะประสบความยากลำบากทางกายภาพ จิตวิทยาและสังคมบางประการ

โรคหัวใจก่อนกำหนดเป็นภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่สำคัญของผู้รอดชีวิตจากมะเร็งในวัยเด็กเมื่อเป็นผู้ใหญ่ บุคคลดังกล่าวมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงกว่าประชากรทั่วไป 8 เท่า และกว่าครึ่งของเด็กที่ได้รับการรักษาโรคมะเร็งเกิดความผิดปกติของหัวใจบางชนิด แม้ความผิดปกตินั้นอาจไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยเกินกว่าจะเข้าเกณฑ์การวินิจฉัยทางคลินิกโรคหัวใจ[15]

อ้างอิง[แก้]

  1. Bahadur, G. (2000). "Age definitions, childhood and adolescent cancers in relation to reproductive issues". Human Reproduction. 15: 227. doi:10.1093/humrep/15.1.227.
  2. Childhood Cancers: Basic Facts & Figures เก็บถาวร 2017-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน from Minnesota Department of Health. Retrieved Dec, 2012
  3. About childhood cancer เก็บถาวร 2013-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at Childhood Cancer 2012, by Children With Cancer UK
  4. International Childhood Cancer Day – 15 February 2013 เก็บถาวร 2016-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at educationscotland.gov.uk. Retrieved Dec, 2012
  5. Ward EM, Thun MJ, Hannan LM, Jemal A (Sep 2006). "Interpreting cancer trends". Annals of the New York Academy of Sciences. 1076 (1): 29–53. Bibcode:2006NYASA1076...29W. doi:10.1196/annals.1371.048. PMID 17119192.
  6. 6.0 6.1 Kaatsch P, Sikora E, Pawelec G (June 2010). "Epidemiology of childhood cancer". Cancer Treatment Reviews. 36 (4): 277–85. doi:10.1016/j.ctrv.2010.02.003. PMID 20231056.
  7. Children Diagnosed With Cancer: Returning to School เก็บถาวร 2016-12-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน from American Cancer Society. Last Medical Review: 07/02/2012
  8. Children and Cancer, in Children's Health and the Environment, a WHO Training Package for the Health Sector, World Health Organization. In turn citing:
    • Birch JM. Genes & Cancer" Arch Dis Child 1999, 80:1-3.
    • Lichtenstein P et al" N Engl J Med 2000, 13;343(2) 78-85
  9. Children and Cancer, in Children's Health and the Environment, a WHO Training Package for the Health Sector, World Health Organization. In turn citing: Anderson LM et al. Critical Windows of Exposure for Children’s Health: Cancer in Human Epidemiological Studies and Neoplasms in Experimental Animals Models. Environ Health Perspect, 2000, 108(suppl 3) 573-594.
  10. 10.0 10.1 Children and Cancer, in Children's Health and the Environment, a WHO Training Package for the Health Sector, World Health Organization.
  11. "Radiology Safety - What can I do?". Image Gently. Alliance for Radiation Safety in Pediatric Imaging. สืบค้นเมื่อ 8 February 2016.
  12. Swensen, Stephen; Duncan, James; Gibson, Rosemary (September 2014). "An Appeal for Safe and Appropriate Imaging of Children". Journal of Patient Safety. 10 (3): 121–124. doi:10.1097/PTS.0000000000000116. PMID 24988212. สืบค้นเมื่อ 8 February 2016.
  13. "UpToDate".
  14. Childhood Cancer overview from American Society of Clinical Oncology (ASCO). Retrieved January 2013
  15. Lipshultz, Steven E.; Franco, Vivian I.; Miller, Tracie L.; Colan, Steven D.; Sallan, Stephen E. (2015-01-01). "Cardiovascular Disease in Adult Survivors of Childhood Cancer". Annual Review of Medicine. 66 (1): 161–176. doi:10.1146/annurev-med-070213-054849. PMC 5057395. PMID 25587648.