ข้ามไปเนื้อหา

ไรเทอร์เด็งค์มาล (วินด์ฮุก)

พิกัด: 22°34′07″S 17°05′16″E / 22.56861°S 17.08778°E / -22.56861; 17.08778
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อนุสาวรีย์คนขี่ม้า
Reiterdenkmal
Südwester Reiter
ไรเทอร์เด็งค์มาลแห่งวินด์ฮุก ภาพถ่ายปี 2004
แผนที่
พิกัด22°34′07″S 17°05′16″E / 22.56861°S 17.08778°E / -22.56861; 17.08778
ที่ตั้งวินด์ฮุก ประเทศนามิเบีย
ผู้ออกแบบอาด็อล์ฟ เคือร์เลอ
ประเภทอนุสาวรีย์
วัสดุทองสัมฤทธิ์, หินแกรนิต
ความสูง9.5 เมตร (31 ฟุต)
วันที่อุทิศ27 มกราคม ค.ศ. 1912 (1912-01-27)
อุทิศแด่ทหารและพลเมืองชาวเยอรมันที่เสียชีวิตในสงครามเฮโรโรและนามากวา
วันที่รื้อค.ศ. 2013 (2013)

อนุสาวรีย์คนขี่ม้า (อังกฤษ: Equestrian Monument) หรือที่รู้จักในชื่อเดิมในภาษาเยอรมัน ไรเทอร์เด็งค์มาล (เยอรมัน: Reiterdenkmal) หรือ ซึดเวสแทร์ไรเทอร์ (เยอรมัน: Südwester Reiter; คนขี่ม้าแห่งตะวันตกเฉียงใต้) เป็นอนุสาวรีย์ที่ในอดีตตั้งอยู่ในวินด์ฮุก ประเทศนามิเบีย อนุสาวรีย์เปิดตัวในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1912 ในวาระวันคล้ายวันพระราชสมภพของ จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี อนุสาวรีย์นี้เป็นการเทิดเกียรติแด่ทหารและพลเมืองฝั่งเยอรมนีที่เสียชีวิตระหว่างสงครามเฮโรโรและนามากวาในระหว่างปี 1904–1907 ซึ่งเป็นสงครามที่มีประเด็นถกเถียงในสังคมอย่างมาก

อนุสาวรีย์ถูกรื้อถอนออกไปในปี 2009 จากตำแหน่งเดิมที่อยู่ตรงข้ามกับคริสทูซคีร์เชอในเขตศูนย์กลางธุรกิจของเมืองวินด์ฮุก ก่อนจะย้ายไปตั้งใหม่ในปี 2010 ห่างไปไม่กี่เมตรในบรืเวณอัลเทอเฟสเทอ กระนั้น อนุสาวรีย์นี้ยังเผชิญกับการต่อต้านจากสาธารณะ และท้ายที่สุดในปี 2013 ได้ถูกรื้อถอนออกจากการตั้งในที่สาธารณะเป็นการถาวร ปัจจุบันอนุสาวรีย์เก็บรักษาอยู่ในโกดังเก็บของในอัลเทอเฟสเทอ

อนุสาวรีย์ไรเทอร์เด็งค์มาลได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนเป็นการส่วนตัวและออกแบบโดยสถาปนิกชาวเบอร์ลิน อาด็อล์ฟ เคือร์เลอ อนุสาวรีย์มีความสูง 4.5 เมตร (15 ฟุต) เมตร ทำมาจากทองสัมฤทธิ์ หล่อขึ้นในเบอร์ลินและขนส่งมายังแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนีในปี 1911 โดยขึ้นท่าที่สวาคอปมุนด์และขนส่งทางรถไฟมายังวินด์ฮุก[1] ฐานของอนุสาวรีย์มีความสูง 5 เมตร (16 ฟุต) และทำมาจากหินแกรนิตราว 180 ก้อนจากโอคาฮันเดีย[2] ที่ฐานมีป้ายระลึกถึงทหารและพลเรือนชาวเยอรมันที่เสียชีวิตในสงครามเฮโรโรและนามากวา ปี 1904–1907 และจากการสำรวจทะเลทรายคาลาฮารีในปี 1908 ใจความของแผ่นป้ายระลึกกล่าวถึง[3] “นักรบชาวเยอรมันที่เสียชีวิตเพื่อจักรพรรดิและจักรวรรดิเพื่อปกป้องดินแดน”

ความหมาย

[แก้]

นอกจากจะตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงผู้วายชนม์แล้ว อนุสาวรีย์นี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะและการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้[3] เอลเคอ ซอยร์น (Elke Zuern) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ วิทยาลัยซาราห์ ลอวเรนซ์ ระบุไว้ว่าอนุสาวรีย์นี้ตั้งขึ้นเพื่อ[4] “เป็นสัญลักษณ์ถึงความยืนยงในการปกครอง” ของเยอรมนีเหนือดินแดนนี้ รวมถึงส่งข้อความ “เตือนแก่ใครก็ตามที่อาจจะยังคงต่อต้าน” การปกครองของเยอรมนี

ความหมายทางการเมืองของอนุสาวรีย์นี้แปรเปลี่ยนไปในสามปีให้หลัง เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุขึ้น และในปี 1915 แอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนีถูกโค่นล้ม และ ชุทซ์ทรุพเพอ ยอมแพ้ เยอรมนีสูญเสียอาณานิคมทั้งหมดหลังสงครามสิ้นสุด ระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง สุสานชาวเยอรมันที่วาเทอร์แบร์คและอนุสาวรีย์นี้ กลายมาเป็นสองสถานที่ที่สำคัญที่สุดสำหรับการระลึกถึงสงคราม และระลึกถึงชาวเยอรมันซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้[3] ในปี 1969 ในสมัยการแบ่งสีผิวในแอฟริกาใต้ อนุสาวรีย์นี้ได้รับการประกาศเป็นอนุสรณ์แห่งชาติโดยทางการแอฟริกาใต้[1]

ข้อถกเถียง

[แก้]

อนุสาวรีย์ไรเทอร์เด็งค์มาลเป็นประเด็นถกเถียงมาอย่างยาวนาน ในฐานะตัวแทนของความเหนือกว่าของชาวเยอรมัน และการรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตของเยอรมันในทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 อย่างเอนเอียงไปฝั่งเดียว ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตของชาวเฮโรโร และ ชาวดามารา สูงกว่าราวห้าสิบเท่าในสงครามกับเยอรมนี[5] อนุสาวรีย์กลายมาเป็นประเด็นวิจารณ์ทางการเมืองอย่างมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เรื่อยมา[3]

หลังนามิเบียได้รับเอกราชในปี 1990 พลเรือนผิวขาวชาวนามิเบียที่มีเชื้อสายเยอรมันกังวลว่ารูปปั้นนี้จะถูกทำลายลง กระนั้น รัฐบาลของ SWAPO มีความสนใจไปที่การสร้างอนุสรณ์ของตนเพื่อระลึกถึงการดิ้นรนเพื่อเอกราชมากกว่า[6]

ในปี 2008 มีการประท้วงบริเวณอนุสาวรีย์จำนวนมาก เช่นเมื่อเดือนกรกฎาคม มีการตั้งกางเขนไม้ 51 อันรอบรูปปั้น บนกางเขนไม้เป็นชื่อและคำแสดงอารมณ์เขียนด้วยภาษาโอตจีเฮโรโร ส่วนในเดือนตุลาคม มีการสอดธงชาตินามิเบียเข้าไปในปากกระบอกปืนของรูปปั้น ทุกครั้งที่มีการแสดงออกทางสัญลักษณ์เช่นนี้ ได้เกิดการพูดคุยเกี่ยวกับสถานะและความหมายของอนุสาวรีย์ซึ่งเชิดชูลัทธิล่าอาณานิคมของเยอรมนี เกิดขึ้นไปทั่วสื่อสังคม[7]

ในปี 2001 คณะรัฐมนตรีนามิเบีย ลงคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ว่าจะทำการสร้างพิพิธภัณฑ์เอกราชขึ้นตรงข้ามกับโบสถ์พระคริสต์วินด์ฮุก โดยสร้างขึ้นทับจุดที่อนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่ และการรื้อถอนอนุสาวรีย์ออกได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ[8]

ในปี 2009 ได้เริ่มต้นการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ อนุสาวรีย์ถูกรื้อถอนและนำไปเก็บรักษาในโกดัง[1] ที่ตั้งโกดังถูกเก็บเป็นความลับเพื่อป้องกันการถูกรุกรานโดยคนที่ต้องการจะเก็บสะสมของที่ระลึกจากอนุสาวรีย์นี้[9]

กระทั่งในปี 2010 อนุสาวรีย์ถูกตั้งขึ้นใหม่ที่ด้านหน้าของอัลเทอเฟสเทอ[1] ซึ่งกระตุ้นการพูดคุยถกเถียงเกี่ยวกับอนุสาวรีย์นี้อีกครั้ง[10] ในปลายปี 2013 พื้นที่โดยรอบด้านหน้าของอัลเทอเฟสเทอ ได้ถูกปิดล้อมเพื่อป้องกันสาธารณชนและสื่อมวลชนเข้าไปใกล้อนุสาวรีย์มากจนเกินไป ต่อมามีการยืนยันว่าอนุสาวรีย์จะถูกรื้อถอนออกอีกครั้ง[11] รูปปั้นถูกรื้อถอนออกจากฐานในวันเดียวกันกับที่มีการประกาศยืนยันดังกล่าว[12] และถูกนำไปเก็บรักษาในที่เก็บของของอัลเทอเฟสเทอแทน[10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Bause, Tanja (30 มกราคม 2012). "Monument's centenary remembered". The Namibian (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 มีนาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2023.
  2. Schreiber, Irmgard (27 มกราคม 2010). "Reiter verbingt Geburtstag im Container". Allgemeine Zeitung (ภาษาเยอรมัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2011. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2023.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Zeller, Joachim (2007). "Das Reiterdenkmal in Windhoek/Namibia". www.freiburg-postkolonial.de (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2023.
  4. Zuern, Elke (2010). "Memorial Politics - Challenging Power and Inequity in Namibia (Draft)". www.gc.cuny.edu (ภาษาอังกฤษ). CUNY Graduate Center. p. 2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (DOC)เมื่อ 16 มิถุนายน 2010. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2023.
  5. "Germany admits Namibia genocide". BBC News. 14 สิงหาคม 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 ธันวาคม 2005. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2023.
  6. Zuern, Elke (กันยายน 2012). "Memorial politics: challenging the dominant party's narrative in Namibia". The Journal of Modern African Studies. 50 (3): 493–518. doi:10.1017/S0022278X12000225. S2CID 154609786. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2023.
  7. Fischer, Stefan (24 ตุลาคม 2008). "Reiter mit Fahne geschmückt". AZ.com (ภาษาเยอรมัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 ตุลาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2023.
  8. Hofmann, Eberhard (2 ตุลาคม 2009). "Staat verlangt Kommandohöhe". AZ.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 ตุลาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2023.
  9. Mach, Marco (11 สิงหาคม 2009). "Pferd hat wohl einen hohlen Bauch" [The horse likely has a hollow body]. Allgemeine Zeitung (ภาษาเยอรมัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 สิงหาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2023.
  10. 10.0 10.1 Steynberg, Francoise (27 ธันวาคม 2013). "Ruiter val op heiligste dag". Die Republikein (ภาษาแอฟริกานส์). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 กรกฎาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2023.
  11. "Reiterdenkmal gallops again on Christmas". The Namibian. 26 ธันวาคม 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 ธันวาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2023.
  12. "Eilmeldung: Reiterdenkmal ist abgesägt" [Reiterdenkmal has been done away with]. Allgemeine Zeitung (ภาษาเยอรมัน). 26 ธันวาคม 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 พฤษภาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2023.