ข้ามไปเนื้อหา

โยชิโตชิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โยะชิโทะชิ)
สึกิโอกะ โยชิโตชิ
เกิด30 เมษายน ค.ศ. 1839
เอโดะ ประเทศญี่ปุ่น
เสียชีวิต9 มิถุนายน ค.ศ. 1892 (53 ปี)
เรียวโงกุ, โตเกียว, ประเทศญี่ปุ่น
สัญชาติญี่ปุ่น
มีชื่อเสียงจากภาพอูกิโยะ
คู่สมรส
  • ซากามากิ ไทโกะ (สมรส 1884)
บุตร2

สึกิโอกะ โยชิโตชิ (ญี่ปุ่น: 月岡 芳年) หรือ ไทโซะ โยชิโตชิ (ญี่ปุ่น: 大蘇 芳年; 30 เมษายน ค.ศ. 1839 – 9 มิถุนายน ค.ศ. 1892) โดยทั่วไปแล้วถือกันว่าเป็นจิตรกร[1]ภาพพิมพ์แกะไม้อูกิโยะคนสำคัญคนสุดท้ายของสำนักศิลปินอูตางาวะชาวญี่ปุ่น และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการแสวงหาแนวใหม่ งานของโยชิโตชิคาบระหว่างสองสมัย คือ ปลายสมัยศักดินาของญี่ปุ่น และต้นญี่ปุ่นสมัยใหม่หลักจากการปฏิรูปเมจิ โยชิโตชิก็เช่นเดียวกับชาวญี่ปุ่นหลายคนที่มีความสนใจกับสิ่งแปลกๆ ใหม่จากโลกภายนอก แต่ในปีต่อๆ มาโยชิโตชิก็เริ่มมีความกังวลกับการสูญเสียวัฒนธรรมอันมีค่าหลายอย่างของญี่ปุ่นที่รวมทั้งศิลปะการทำภาพพิมพ์แกะไม้

เมื่อถึงตอนปลายของอาชีพโยชิโตชิก็แทบจะเป็นผู้เดียวที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับกาลเวลาและเทคโนโลยีที่คืบคลานเข้ามา ขณะที่โยชิโตชิยังคงใช้เวลาโบราณในการผลิตงานภาพพิมพ์ญี่ปุ่นก็เริ่มเข้าสู่ยุคการผลิตระดับอุตสาหกรรมตามแบบฉบับของโลกตะวันตกเช่นงานการถ่ายภาพ และ ภาพพิมพ์หิน แต่กระนั้นขณะที่ญี่ปุ่นหันหลังให้กับอดีตของตนเองโยชิโตชิก็พัฒนาศิลปะการทำภาพพิมพ์แกะไม้ตามธรรมเนียมญี่ปุ่นให้ขึ้นไปอีกระดับหนึ่งก่อนที่ศิลปะดังกล่าวจะตายตามโยชิโตชิไป

ชีวิตของโยชิโตชิอาจจะสรุปตามคำกล่าวของจอห์น สตีเฟนสันว่า:

ความกล้าหาญ ความเห็นการณ์ไกล และ พลานุภาพของโยชิโตชิเป็นแรงยืดอายุอูกิโยะออกไปอีกชั่วคนหนึ่ง และเป็นประทีปดวงสุดท้ายที่ให้ความรุ่งเรืองแก่ศิลปดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย
—จอห์น สตีเฟนสัน, Yoshitoshi's One Hundred Aspects of the Moon, ค.ศ. 1992

ชื่อเสียงของของโยชิโตชิมีแต่จะยิ่งเพิ่มขึ้นทั้งทางตะวันตกและในกลุ่มชาวญี่ปุ่นรุ่นเด็กเอง และในปัจจุบันก็ยอมรับกันว่าเป็นศิลปินคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่นของสมัยนั้น

ประวัติชีวิตเบื้องต้น

[แก้]
"ทัศนียภาพ 100 มุมของพระจันทร์" หมายเลข 7, "พระจันทร์บนภูเขาอินาบะ" ซึ่งเป็นภาพของโทโยโตมิ ฮิเดโยชินำกลุ่มคนขึ้นไปโจมตีปราสาทบนภูเขาอินาบะ (ค.ศ. 1885) "ทัศนียภาพ 100 มุมของพระจันทร์" หมายเลข 7, "พระจันทร์บนภูเขาอินาบะ" ซึ่งเป็นภาพของโทโยโตมิ ฮิเดโยชินำกลุ่มคนขึ้นไปโจมตีปราสาทบนภูเขาอินาบะ (ค.ศ. 1885)
"ทัศนียภาพ 100 มุมของพระจันทร์" หมายเลข 7, "พระจันทร์บนภูเขาอินาบะ" ซึ่งเป็นภาพของโทโยโตมิ ฮิเดโยชินำกลุ่มคนขึ้นไปโจมตีปราสาทบนภูเขาอินาบะ (ค.ศ. 1885)
Tokaido Meisho no Uchi, "Maisaka" งานทะเลทัศน์ซึ่งเป็นงานสมัยต้นที่เป็นงานชุดที่ทำร่วมกับศิลปินผู้อื่น (ค.ศ. 1863)

คูนิโยชิเกิดในย่านชิมบาชิในเอโดะใน ค.ศ. 1839 บิดาของคูนิโยชิเป็นพ่อค้าที่มีฐานะมั่งคั่งผู้ใช้เงินในการเลื่อนฐานะตนเองขึ้นสู่ฐานะซามูไร เมื่ออายุได้สามขวบคูนิโยชิก็ออกจากบ้านไปพำนักอยู่กับลุงผู้เป็นเภสัชกรผู้ไม่มีลูกชายและรักคูนิโยชิ พออายุได้ห้าขวบคูนิโยชิก็เริ่มมีความสนใจในศิลปะและเริ่มเล่าเรียนกับลุง ในปี ค.ศ. 1850 เมื่ออายุ 11 ก็ไปฝึกงานกับอูตางาวะ คูนิโยชิผู้เป็นจิตรกรสำคัญที่สุดคนหนึ่งของศิลปะการทำภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่น คูนิโยชิให้นามใหม่แก่ลูกศิษย์ที่มีชื่อเดิมว่า โอวาริยะ โยะเนะยิโระ แม้ว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับกันว่าโยชิโตชิเป็นผู้สืบทอดงานพิมพ์ของอูตางาวะ คูนิโยชิในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าโยชิโตชิเป็นลูกศิษย์คนสำคัญที่สุดของอูตางาวะ คูนิโยชิ

ระหว่างการฝึกงานโยชิโตชิก็เน้นการศึกษาในด้านการร่างและเขียนภาพและทำงานก็อปปีจากงานของปรมาจารย์ คูนิโยชิเน้นการวาดจากชีวิตจริง ซึ่งแตกต่างเป็นอันมากไปจากการฝึกหัดการเขียนภาพแบบญี่ปุ่น เพราะหน้าที่ของศิลปินคือการแสดงหัวเรื่องที่วาดมิใช่การตีความหมายสิ่งที่วาด นอกจากนั้นแล้วโยชิโตชิก็ยังศึกษาองค์ประกอบของเทคนิคของการวาดภาพแบบตะวันตก และ ทัศนมิติโดยการศึกษาจากงานสะสมภาพพิมพ์ของตะวันตกของคูนิโยชิ

งานพิมพ์ชิ้นแรกของโยชิโตชิสร้างในปี ค.ศ. 1853 แต่ก็ไม่มีงานชิ้นอื่นที่ตามมาอยู่อีกหลายปี ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความเจ็บป่วยของปรมาจารย์คูนิโยชิในบั้นปลายของชีวิต แม้ว่าจะประสบกับความลำบากหลังจากการเสียชีวิตของอาจารย์ในปี ค.ศ. 1861 โยชิโตชิก็มีผลงานบ้างที่รวมทั้ง งานภาพพิมพ์ 44 ภาพจากปี ค.ศ. 1862 ในช่วงสองปีต่อมาโยชิโตชิก็มีงานออกแบบภาพพิมพ์ 63 ภาพที่ส่วนใหญ่เป็นภาพคาบูกิ นอกจากนั้นก็ยังช่วยในการออกแบบภาพชุด Tokaido ในปี ค.ศ. 1863 ของศิลปินของสำนักศิลปินอูตางาวะที่จัดขึ้นโดยอูตางาวะ คูนิซาดะ

ภาพนองเลือดที่สร้างความนิยมในหมู่ประชาชน

[แก้]
การฆาตกรรมยี่สิบสี่กรณีพร้อมคำบรรยาย (ค.ศ. 1867) การฆาตกรรมยี่สิบสี่กรณีพร้อมคำบรรยาย (ค.ศ. 1867)
การฆาตกรรมยี่สิบสี่กรณีพร้อมคำบรรยาย (ค.ศ. 1867)
"Seiriki Tamigorô committing suicide" (เซริกิ ทามิโกโรฆ่าตัวตาย) จากชุด Kinsei kyôgiden series (ค.ศ. 1865)

ภาพพิมพ์ส่วนใหญ่ของโยชิโตชิของคริสต์ทศวรรษ 1860 เป็นภาพที่มีเนื้อหารุนแรงและเกี่ยวกับความตาย หัวข้อการเขียนมีแรงบันดาลใจบางส่วนมาจากความตายของบิดาในปี ค.ศ. 1863 และจากสังคมที่โหดร้ายปราศจากกฎหมายของสังคมรอบตัว ที่นำมาซึ่งการสลายตัวของระบบศักดินาที่บริหารโดยรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ รวมทั้งผลของการติดต่อกับโลกตะวันตก ในปลายปี ค.ศ. 1863 โยชิโตชิก็เริ่มเขียนภาพความโหดร้ายและในที่สุดก็รวมเข้าเป็นภาพพิมพ์เกี่ยวกับการต่อสู้อันเต็มไปด้วยการนองเลือด สาธารณชนนิยมภาพประเภทนี้ซึ่งทำให้โยชิโตชิกลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายและเพิ่มอันดับความสำคัญในหมู่ศิลปินภาพอูกิโยะในเอโดะ ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ในระหว่างสงครามโยชิโตชิก็ช่วยให้ผู้ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้มีประสบการณ์จากภาพที่ตนออกแบบ สาธารณชนมิได้นิยมงานของโยชิโตชิเฉพาะแต่การวางองค์ประกอบของภาพและฝีมือการวาด แต่การลงแรงลงใจในหัวข้อและเนื้อหาที่เขียนด้วย นอกจากนั้นจะต้องการที่จะสนองความต้องการงานภาพพิมพ์ของสำนักพิมพ์และผู้ซื้อภาพแล้ว โยชิโตชิก็ยังพยายามที่จะกำจัดสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ที่เพื่อนร่วมชาติกำลังต้องประสบอีกด้วย

เมื่อมีชื่อเสียงมากขึ้นโยชิโตชิก็สามารถพิมพ์งานออกแบบภาพพิมพ์อีก 95 ชิ้นในปี ค.ศ. 1865 ที่ส่วนใหญ่เป็นภาพที่เป็นหัวเรื่องเกี่ยวกับทหารหรือประวัติศาสตร์ได้ ในบรรดาภาพเหล่านี้ก็มีภาพสองชุดที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในทางสร้างสรร ความเป็นต้นฉบับ และ ความมีจินตนาการของโยชิโตชิ ชุดแรกคือ Tsûzoku saiyûki (“การเดินทางไปยังตะวันตก”) ซึ่งเป็นภาพชุดที่เกี่ยวกับวีรบุรุษของประชาชนชาวจีน ชุดที่สองโยชิโตชิ Wakan hyaku monogatari (“ร้อยเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่นและจีน”) ซึ่งเป็นภาพเกี่ยวกับปีศาจ ภาพที่เต็มไปด้วยจินตนาการทำให้งานของโยชิโตชิแตกต่างจากศิลปินร่วมสมัยคนอื่นๆ

ระหว่างปี ค.ศ. 1866 จนถึงปี ค.ศ. 1868 โยชิโตชิก็สร้างงานที่สร้างความกระทบกระเทือนทางอารมณ์ให้แก่ผู้ชมเป็นอันมากโดยเฉพาะในชุด Eimei nijûhasshûku (การฆาตกรรมยี่สิบสี่กรณีพร้อมคำบรรยาย) ภาพชุดนี้แสดงให้เห็นการฆ่าคนด้วยวิธีต่างอย่างชัดแจ้งเช่นการฆ่าโดยการตัดร่างของสตรีเป็นชิ้นโดยมีรอยมือของฆาตกรประทับอยู่บนเสื้อผ้าทั้งของฆาตกรและเหยื่อ ตัวอย่างอื่นก็ได้แก่ภาพในชุดที่สร้างในปี ค.ศ. 1866 Kinsei kyôgiden (ประวัติชีวิตของคนสมัยใหม่) ซึ่งเป็นภาพความขัดแย้งทางอำนาจระหว่างกลุ่มนักเล่นการพนันสองกลุ่ม และ ภาพในชุดที่สร้างในปี ค.ศ. 1867 Azuma no nishiki ukiyo kôdan ที่สร้างหลังจากยุทธการอูเอโนะ ในปี ค.ศ. 1868 โยชิโตชิสร้างภาพชุด Kaidai hyaku sensô ซึ่งเป็นภาพของทหารร่วมสมัยในเครื่องแต่งกายแบบโบราณแบบกึ่งตะวันตก โดยใช้มุมมองที่ใกล้ตัวและที่แปลกออกไป ที่มักจะแสดงจุดสุดยอดของการต่อสู้ที่แสดงสีหน้าอันสิ้นหวัง

เชื่อกันว่างานของโยชิโตชิของสมัย "นองเลือด" มีอิทธิพลต่อนักเขียนเช่น จุงอิจิโร ทานิซากิ (ค.ศ. 1886–ค.ศ. 1965) และรวมทั้งศิลปินเช่น ทาดาโนริ โยโกโอะ และ มาซามิ เทราโอกะ แม้ว่าโยชิโตชิจะสร้างชื่อเสียงจากงานประเภท "นองเลือด" แต่อันที่จริงแล้วงานประเภทนี้เป็นเพียงส่วนน้อยของงานทั้งหมดที่สร้างขึ้น แต่เป็นงานที่มักจะถูกได้รับการเน้นมากกว่างานประเภทอื่น ซึ่งเป็นการสร้างภาพพจน์อันไม่ถูกต้องของโยชิโตชิ และทำให้เป็นการมองข้ามงานประเภทอื่นๆ และ ความลึกซึ้งของงานของโยชิโตชิ

สมัยกลาง: ความยากเข็ญและการฟื้นตัว

[แก้]
งานออกแบบอันมีชื่อเสียงของสตรีของโยชิโตชิ Fuzoku Sanjuniso (ค.ศ. 1888)
ภาพหนึ่งจากชุด Mitate Tai Zukushi

เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1869 โยชิโตชิก็ถือกันว่าเป็นศิลปินภาพพิมพ์แกะไม้ผู้ที่มีฝีมือดีที่สุดในญี่ปุ่น แต่ไม่นานหลังจากนั้นโยชิโตชิก็หยุดได้รับงานจ้าง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสาธารณชนเกิดความเบื่อหน่ายกับงานที่เป็นฉากของความทารุณโหดร้าย เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1871 โยชิโตชิก็ตกอยู่ในอารมณ์อันซึมเศร้าอย่างหนัก และชีวิตส่วนตัวก็เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงและดำเนินต่อมาเป็นช่วงเช่นนั้นจนกระทั่งเสียชีวิต โยชิโตชิดำรงชีวิตอยู่ในสภาพอันลำบากแสนเข็ญกับภรรยาน้อยโอโกโตะผู้ภักดี ผู้ยอมขายเสื้อผ้าและทรัพย์สมบัติของตนเองเพื่อเลี้ยงดูโยชิโตชิ ความยากไร้ถึงจุดต่ำสุดครั้งหนึ่งเมื่อถึงกับต้องเผาพื้นบ้านเพื่อทำความร้อน เชื่อกันว่าในปี ค.ศ. 1872 โยชิโตชิก็เสียสติหลังจากที่ประสบกับปฏิกิริยาที่ขาดความนิยมต่องานชิ้นล่าสุดที่ไม่ได้คาดของงานที่เพิ่งออกแบบ

แต่ในปีต่อมาสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปเมื่อสภาวะทางจิตใจค่อยกระเตื้องขึ้น และโยชิโตชิก็เริ่มออกแบบงานเพิ่มขึ้น ก่อนปี ค.ศ. 1873 ลงชื่อบนงานเขียนเกือบทุกชิ้นว่า "อิกไกไซ โยชิโตชิ" แต่หลังจากนั้นโยชิโตชิใช้ชื่อ "ไทโซะ" (ที่แปลว่า "การฟื้นฟูครั้งสำคัญ") เพื่อแสดงความมั่นใจในตนเอง ในช่วงนั้นก็มีการเริ่มหนังสือพิมพ์กันขึ้น โยชิโตชิได้รับการเชิญชวนให้สร้าง "news nishikie" ซึ่งเป็นงานภาพพิมพ์แกะไม้สำหรับภาพทั้งหน้าเพื่อประกอบบทความ ซึ่งมักจะเป็นภาพเชิงกระพือข่าวเช่นเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรม ฐานะทางการเงินของโยชิโตชิก็ยังอยู่ในสภาพที่ไม่ไคร่ดีนัก แต่ในปี ค.ศ. 1876 ภรรยาน้อยโอโกโตะตามธรรมเนียมการเสียสละของญี่ปุ่นเพื่อแสดงความภักดีต่อสามีก็ขายตัวให้แก่ซ่องเพื่อช่วยสามี

การปฏิวัติซัตสึมะปี ค.ศ. 1877 ที่ฝ่ายศักดินาพยายามเป็นครั้งสุดท้ายที่จะหยุดยั้งความก้าวหน้าของญี่ปุ่น หนังสือพิมพ์ก็ขายได้เหมือนเทน้ำ ซึ่งทำให้จิตรกรภาพพิมพ์แกะไม้เป็นที่ต้องการตัวกันมาก และทำให้ความนิยมในตัวโยชิโตชิเริ่มฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ภาพพิมพ์ที่ออกแบบทำให้สาธารณชนรู้จักผลงาน รายได้ก็ค่อยดีขึ้นแต่ก็ไม่จนกระทั่งปี ค.ศ. 1882 ที่เรียกได้ว่ามีฐานะมั่นคง

ในปลายปี ค.ศ. 1877 โยชิโตชิก็มีภรรยาน้อยคนใหม่เป็นเกอิชาชื่อโอรากุ ผู้เช่นเดียวกับโอโกโตะผู้ยอมขายเสื้อผ้าและทรัพย์สมบัติของตนเองเพื่อเลี้ยงดูโยชิโตชิ และหลังจากที่อยู่ร่วมกันได้ปีหนึ่ง โอรากุก็ขายตัวเข้าซ่อง

ในปี ค.ศ. 1878 โยชิโตชิออกแบบงานบิจิงะชุด Bita shichi yosei ที่ก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองให้แก่โยชิโตชิขึ้น เพราะเป็นภาพของสตรีเจ็ดคนที่มีหน้าที่ในราชสำนัก และระบุชื่อด้วยกันทุกคน อาจสาเหตุอาจจะเป็นได้ว่าตัวพระจักรพรรดินีเองไม่ทรงพอพระทัยกับลักษณะของภาพเหมือนของพระองค์ในภาพชุดดังกล่าวก็เป็นได้

ในปี ค.ศ. 1880 โยชิโตชิก็พบสตรีอีกคนหนึ่งที่เคยเป็นเกอิชาที่มีลูกสองคนชื่อซากามากิ ไทโกะ สองคนสมรสกันในปี ค.ศ. 1884 ขณะที่โยชิโตชิยังคงมีปัญหาแต่ความอดทนและความอ่อนโยนของซากามากิ ไทโกะดูเหมือนจะเป็นเครื่องที่ช่วยให้โยชิโตชิสงบลงบ้าง

ในปี ค.ศ. 1885 นิตยสารศิลปะและแฟชั่น "Tokyo Hayari Hosomiki" ลำดับโยชิโตชิเป็นที่หนึ่งในบรรดาศิลปินภาพอูกิโยะที่มีความสามารถเหนือกว่าศิลปินเมจิร่วมสมัยเช่นอูตางาวะ โยชิอิกุ และ โทโยฮาระ คูนิชิดะ ซึ่งทำให้โยชิโตชิได้รับชื่อเสียงและความนิยมในอันดับสูงสุด

เมื่อมาถึงช่วงนี้อุตสาหกรรมภาพพิมพ์แกะไม้ก็แทบจะไม่มีหลงเหลืออยู่แล้ว ศิลปินภาพพิมพ์แกะไม้ชั้นครูของต้นคริสต์ศตวรรษเช่นฮิโรชิเงะ, อูตางาวะ คูนิซาดะ และ อูตางาวะ คูนิโยชิ ต่างก็เสียชีวิตกันไปหลายสิบปีก่อนหน้านั้น และศิลปะภาพพิมพ์แกะไม้ก็เป็นศิลปะที่หมดความสำคัญลงท่ามกลางญี่ปุ่นที่ก้าวไปข้างหน้า

โยชิโตชิเน้นการรักษามาตรฐานของคุณภาพอันสูงส่งในการสร้างภาพพิมพ์แกะไม้ ซึ่งก็เป็นการพยุงชีวิตจากการเสื่อมโทรมของศิลปะอยู่ชั่วระยะหนึ่ง โยชิโตชิกลายมาเป็นปรมาจารย์ผู้มีลูกศิษย์คนสำคัญเช่นโทชิกาตะ มิซูโนะ, โทชิฮิเดะ มิงาตะ และอื่นๆ

บั้นปลาย

[แก้]
บ้านโดดเดี่ยวบนเนินอาดาจิ (ค.ศ. 1885)

บั้นปลายของชีวิตเป็นช่วงที่โยชิโตชิผลิตผลงานมากที่สุดที่รวมทั้งภาพชุด "ทัศนียภาพ 100 มุมของพระจันทร์" (ค.ศ. 1885–1892) และ ชุด "ปีศาจ 36 ตน" (Shinkei Sanjurokuten) (ค.ศ. 1889–1892) และภาพชุดของนักแสดงคะบูกิและฉาก

ในปี ค.ศ. 1885 โยชิโตชิสร้างงานชิ้นอื้อฉาวแต่มีพลังชื่อ “Oshu adachigahara hitotsuya no zu” (บ้านโดดเดี่ยวบนเนินอาดาจิ) ที่ไม่แต่จะเป็นงานที่ถือกันว่าเป็นไอคอนแต่ยังเป็นงานที่มีอิทธิพลต่อประวัติของการพันธนาการ (kinbaku) สมัยใหม่ที่มีอิทธิพลต่อผู้มีความสนใจต่อมาเช่น Seiu Ito

ในช่วงเดียวกันนี้โยชิโตชิก็ร่วมมือกับเพื่อนที่เป็นนักแสดงDanjuroและผู้อื่นในการพยายามที่จะอนุรักษ์ศิลปะโบราณของญี่ปุ่น

ในช่วงสองสามปีสุดท้ายของชีวิตอาการทางจิตก็เริ่มหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อต้นปี ค.ศ. 1891 โยชิโตชิเชิญชวนเพื่อนมาร่วมการพบปะกับกลุ่มศิลปินที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง นอกจากนั้นสุขภาพก็เสื่อมโทรมลง และ มาทับถมด้วยการสูญเสียทรัพย์สินเงินทองไปหมดเมื่อบ้านถูกโจรกรรม หลังจากที่อาการกำเริบหนักขึ้นโยชิโตชิก็ถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลโรคจิต และก็ออกจากโรงพยาบาลเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1892 แต่ไม่ได้กลับบ้าน แต่ไปเช่าห้องอยู่

โยชิโตชิเสียชีวิตอีกสามอาทิตย์ต่อมาในห้องเช่าเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1892 เมื่อมีอายุได้เพียง 53 ปี จากเส้นโลหิตในสมองแตก แผ่นหินอนุสรณ์แด่โยชิโตชิได้รับการสร้างขึ้นใน Higashi-okubo ที่โตเกียวในปี ค.ศ. 1898

holding back the night
with its increasing brilliance
the summer moon
-- โคลงมรณะแด่โยชิโตชิ

[2]

ข้อสังเกตย้อนหลัง

[แก้]
"Priest Raigo of Mii Temple" (ค.ศ. 1891) หนึ่งในภาพชุด "ปีศาจ 36 ตน" ที่ออกแบบโดยโยชิโตชิ

ในช่วงชีวิตการเขียนโยชิโตชิเขียนภาพหลายชุด และบานพับภาพอีกหลายชิ้น ภาพสองชุดในสามชุดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดคือชุด "ทัศนียภาพ 100 มุมของพระจันทร์" และ ชุด "ปีศาจ 36 ตน" (Shinkei Sanjurokuten) ซึ่งเป็นชุดที่มีงานชิ้นเอกหลายชิ้นรวมอยู่ด้วย ชุดที่สาม "ประเพณีและพฤติกรรม 32 ทัศนะ" ถือกันว่าเป็นงานที่มีฝีมือดีอยู่เป็นเวลานานแต่ไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับสองชุดแรก ภาพชุดอื่นๆ ที่มีงานฝีมือดีอยู่บ้างก็ได้แก่ "นายพลคนสำคัญของญี่ปุ่น" และ "ชีวิตของคนสมัยใหม่"

ขณะที่ความต้องการงานพิมพ์ของโยชิโตชิยังคงมีอยู่เป็นเวลาหลายปีต่อมา แต่ในที่สุดก็มายุติลงทั้งในญี่ปุ่นและในต่างประเทศทั่วโลก ทัศนคติทั่วไปเกี่ยวกับงานพิมพ์ที่เป็นที่ยึดมั่นกันในยุคนั้นคืองานพิมพ์ของช่างพิมพ์รุ่นเดียวกับฮิโรชิเงะเป็นงานภาพพิมพ์ที่เยี่ยมที่สุดรุ่นสุดท้าย และนักสะสมงานประเภทนี้บางคนถึงกับยุติการสะสมงานตั้งแต่ที่ทำกันก่อนหน้าฮิโรชิเงะ ตั้งแต่สมัยศิลปินอุตะมะโระ และ โทะโยะคุนิ

แต่เมื่อมาถึงคริสต์ทศวรรษ 1970 ก็เริ่มมีการฟื้นฟูความสนใจในงานภาพพิมพ์ของโยชิโตชิกันขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และมองเห็นกันว่าเป็นงานที่มีคุณภาพ ความเป็นต้นฉบับ และ ความเป็นอัจฉริยะอย่างเด่นที่สุด และคุณค่าของการที่โยชิโตชิพยายามรักษาศิลปะการทำภาพพิมพ์แกะไม้ดั้งเดิมของญี่ปุ่นเอาไว้ ขณะที่ผสานความคิดใหม่ๆ จากโลกตะวันตก และ ความคิดสร้างสรรของตนเองเข้ามาในงานเขียน

ภาพพิมพ์ชุด

[แก้]

ภาพพิมพ์บางชุด:

  • One Hundred Stories of Japan and China (ค.ศ. 1865–ค.ศ. 1866)
  • Biographies of Modern Men (ค.ศ. 1865–ค.ศ. 1866)
  • Twenty-Eight Famous Murders with Verses (ค.ศ. 1866–ค.ศ. 1869)
  • One Hundred Warriors (ค.ศ. 1868–ค.ศ. 1869)
  • Biographies of Drunken Valiant Tigers (ค.ศ. 1874)
  • Mirror of Beauties Past and Present (ค.ศ. 1876)
  • Famous Generals of Japan (ค.ศ. 1876–ค.ศ. 1882)
  • A Collection of Desires (ค.ศ. 1877)
  • Eight Elements of Honor (ค.ศ. 1878)
  • Twenty-Four Hours with the Courtesans of Shimbashi and Yanagibashi (ค.ศ. 1880)
  • Warriors Trembling with Courage (ค.ศ. 1883–ค.ศ. 1886)
  • Yoshitoshi Manga (ค.ศ. 1885–ค.ศ. 1887)
  • One Hundred Aspects of the Moon (ค.ศ. 1885–ค.ศ. 1892)
  • Personalities of Recent Times (ค.ศ. 1886–ค.ศ. 1888)
  • Thirty-Two Aspects of Customs and Manners (ค.ศ. 1888) "Fuzoku sanjuniso - Aitasou"
  • New Forms of Thirty-Six Ghosts (ค.ศ. 1889–ค.ศ. 1892)

อ้างอิง

[แก้]
  1. Nussbaum, Louis Frédéric. (2005). "Tsukoka Kōgyō" in Japan Encyclopedia, p. 1000.
  2. Stevenson, John (1992). Yoshitoshi's One Hundred Aspects of the Moon. San Francisco Graphic Society. p. 49. ISBN 0963221809.


บรรณานุกรม

[แก้]
  • Eric van den Ing, Robert Schaap, Beauty and Violence: Japanese Prints by Yoshitoshi 1839-1892 (Havilland, Eindhoven, 1992; Society for Japanese Arts, Amsterdam) is the standard work on him
  • Shinichi Segi, Yoshitoshi: The Splendid Decadent (Kodansha, Tokyo, 1985) is an excellent, but rare, overview of him
  • T. Liberthson, Divine Dementia: The Woodblock Prints of Yoshitoshi (Shogun Gallery, Washington, 1981) contains small illustrations of many of his lesser works
  • John Stevenson, Yoshitoshi's One Hundred Aspects of the Moon (San Francisco Graphic Society, Redmond, 1992)
  • John Stevenson, Yoshitoshi's Women: The Print Series 'Fuzoku Sanjuniso' (Avery Press, 1986)
  • John Stevenson, Yoshitoshi's Thirty-Six Ghosts (Weatherill, New York, 1983)
  • John Stevenson, Yoshitoshi’s Strange Tales (Amsterdam. Hotei Publishing 2005).

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]