ข้ามไปเนื้อหา

โพรแลกติน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โปรแลคติน)
โครงสร้างโพรแลกติน

โพรแลกติน (บางตำราอ่านเป็น โพรแลกทิน)(อังกฤษ: prolactin ชื่อย่อ PRL) เป็นฮอร์โมนกลุ่มโปรตีน มีโครงสร้างคล้ายกับโกรทฮอร์โมน ประกอบด้วยกรดอะมิโนประมาณ 199 หน่วย จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า มีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างและหลั่งต่อมน้ำนม (lactation) ให้นมบุตร เพื่อเลี้ยงลูกอ่อนหลังคลอด โดย PRL มีผลโดยตรงต่อเนื้อเยื่อและต้องอาศัยการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอื่น ร่วมด้วย เช่นอีสโทรเจน(estrogen) โพรเจสเทอโรน(progesterone) คอร์ติโคสเตอโรน (corticosterone) และอินซูลิน (insulin) เมื่อต่อมน้ำนมได้รับฮอร์โมนเหล่านี้ก่อนแล้ว PRL จึงจะทำให้เกิดการหลั่งน้ำนมได้ อีกทั้งการทำงานของโพรแลกตินมีการทำงานคล้ายกับออกซิโทซิน[1]

การหลั่งของ PRL ถูกควบคุมโดยโพรแลกทิน รีลิสซิงฮอร์โมน แฟคเตอร์(prolactin releasing hormone factor: PRF) และโพรแลกทิน อินฮิบิทิงฮอร์โมน(prolactin inhibiting hormone:PIF ) จากไฮโพทาลามัส โดยมีการเปลี่ยนแปลงการหลั่งตามการเปลี่ยนแปลงของ ฮอร์โมนเพศในรอบเดือน (menstruation cycle)

ในช่วงระยะที่มีการเพิ่มของเซลล์เยื่อบุมดลูกก่อนที่มีการตกไข่ จะมีPIF จากไฮโพทาลามัส ไปยับยั้งการหลั่ง PRF ที่ต่อมใต้สมองส่วนหน้า เมื่อระดับอีสโทรเจนและโพรเจสเทอโรนลดน้อยลง ในระยะท้ายของหลังไข่ตก การหลั่ง PIF จะลดน้อยลง ระดับของ PRF จะสูงขึ้น อย่างไรก็ตามระดับของPRF ในเลือดไม่นานพอที่จะมีผลต่อเต้านม แต่ในบางคนอาจทำให้เต้านมนุ่มในรอบก่อนที่จะมีประจำเดือน[2]

หน้าที่ของฮอร์โมนโพรแลกติน

[แก้]

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ฮอร์โมนอีสโทรเจนจะกระตุ้นให้มีการเจริญเติบโตของเต้านม มีการสร้างสาขาของท่อน้ำนม(duct)ออกมากขึ้น หลังจากนั้นอีสโทรเจนจะให้โพรเจสเทอโรนร่วมทำงานทำให้ท่อน้ำนมและถุงน้ำนม(alveoli)เจริญอย่างสมบูรณ์ เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้นตึงตัวขึ้น (glandular development) ในขณะตั้งครรภ์ฮอร์โมนทั้งหมดนี้จะมีจำนวนมากขึ้นทำให้เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่โพรแลกทินยังไม่ได้กระตุ้นการสร้างน้ำนมเพราะถูกยับยั้งโดยฮอร์โมนอีสโทรเจนที่สร้างจากรกในระดับสูงในระดับที่สูงระหว่างตั้งครรภ์ หลังคลอดรกลอกตัวแล้วระดับฮอร์โมนอีสโทรเจนลดน้อยลง และการดูดนมของทารกจะกระตุ้นโพรแลกทินให้ทำงานได้เต็มที่ ในขณะที่ต่อมใต้สมองส่วนหลังจะมีการหลั่งออกซิโทซินออกมากระตุ้นให้ถุงน้ำนมขับน้ำนมออกมาสู่ท่อน้ำนมแล้วมาที่หัวนม(nipple)[3]

ความสำคัญ

[แก้]

ฮอร์โมนโพรแลกตินมีความสำคัญในระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ เป็นฮอร์โมนที่สำคัญในช่วงการตั้งครรภ์ของสัตว์บางชนิดเช่น สุนัข โรเด็นท์ (rodent) และเป็นฮอร์โมนที่สำคัญในสัญชาตญาณของการเป็นมารดาในสัตว์บางชนิด(maternal behavior) เช่น การทำรัง เป็นต้นนอกจากนี้โพรแลกทินมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน( immune function) โดยจากการศึกษาพบว่าหนูที่ทดลองเอายีนโพรแลกทินออกจะมีความผิดปกติของภูมิ คุ้มกัน ทั้งนี้เนื่องจากพบตัวรับสัญญาณโพรแลกทินในเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ลิมโพไซด์(lymphocytes) บางชนิด


ความผิดปกติของฮอร์โมนโพรแลกติน

[แก้]

ความผิดปกติของฮอร์โมนโพรแลกติน การมีภาวะโพรแลกตินในกระแสโลหิตสูงหรือเรียกว่าไฮเปอร์โพรแลคตินอีเมีย (hyperprolactinemia) ที่พบบ่อยคือการมีฮอร์โมนเพิ่มมากเกินไปซึ่งอาจเกิดจากการมีเนื้องงอกที่ต่อมใต้สมอง ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนออกมามากทำให้ระงับการตกไข่จึงไม่มีบุตร(infertile)ไม่มีรอบระดูหรืออะเมนนอรีเรีย (amenorrhea ) มีน้ำนมไหลหรือกาเลคโตเรีย (galactorrhea) ถ้าพบในผู้ชายจะทำให้ความรู้สึกทางเพศตรงข้ามลดลงและหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (impotence) เป็นหมัน เต้านมขยายเหมือนผู้หญิง (gynaecomastia)[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "prolactin การสังเคราะห์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-06. สืบค้นเมื่อ 2014-11-29.
  2. การควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนโพรแลกทิน
  3. หน้าที่ของฮอร์โมนโพรแลกติน
  4. โพรแลกติน