ข้ามไปเนื้อหา

ตลับเทป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เทป (สื่อบันทึกเสียง))
ตลับเทป

ภาพเครื่องหมายการค้า Compact Cassette และตัวอย่างตลับเทป
ชื่อภาษาอังกฤษCompact Cassette
รูปแบบสื่อเทปแม่เหล็ก
วิธีอ่านสื่อด้านเดียว
ความจุมีความหลากหลายได้แก่
23 นาที ต่อด้าน
รวม 46 นาที
30 นาทีต่อด้าน
รวม 60 นาที
45 นาทีต่อด้าน
รวม 90 นาที
50 นาทีต่อด้าน
รวม 100 นาที
60 นาทีต่อด้าน
รวม 120 นาที)
เครื่องที่ใช้เล่นสื่อหัวเทป

ตลับเทป (อังกฤษ: Compact Cassette) หรือมักเรียกโดยย่อว่า เทป มักหมายถึงเทปเสียงหรือเทปเพลง คือรูปแบบการบันทึกเสียงลงสื่อรูปแบบหนึ่งโดยใช้แถบแม่เหล็ก เทปมีขนาดเล็กสามารถพกพาได้อย่างสะดวก ใช้งานตั้งแต่บันทึกเสียงในบ้านจนถึงเก็บข้อมูลต่าง ๆ ในไมโครคอมพิวเตอร์ ในช่วงแรกระหว่างต้นทศวรรษ 1970 และปลายทศวรรษ 1990 ตลับเทปเป็นหนึ่งในสองอย่างที่มักใช้ในการบันทึกเสียงเพลง ควบคู่ไปกับแผ่นเสียง ซึ่งต่อมามักใช้เป็นซีดีแทน[1]

คำว่า แคสเซต หรือ คาสเซต (ฝรั่งเศส: cassette) มีความหมายว่า ตลับหรือกล่องเล็ก ๆ

ประวัติ

[แก้]

ในปี 1935 ก่อนที่จะมีการนำเสนอเทปคาสเซ็ทพกพา (หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่าเทปคาสเซ็ท) บริษัท AEG แห่งประเทศเยอรมนีได้นำเสนอเครื่องอัดเทปแบบ Reel-to-reel เครื่องแรกของโลกในชื่อว่า “Magnetophon” โดยมีเทคโนโลยีพื้นฐานมาจากเทปแม่เหล็กที่คิดค้นโดย Fritz Pfleumer แต่ตัวเครื่องก็มีราคาสูงมาก (ราคาประมาณ 1600 – 3400 ยูโร หากเทียบตามค่าเงินปัจจุบัน) และยังมีขนาดที่ใหญ่ อันเนื่องมาจากต้องใช้หลอดสุญญากาศในการทำงาน ทำให้มีใช้กันเพียงแค่ในสถานีวิทยุหรือห้องอัดเสียงเป็นส่วนใหญ่ ไม่นิยมสำหรับการใช้งานภายในบ้าน และเครื่องอัด Magnetophon ก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงในช่วงปี 1950

และในช่วงปี 1960 ก็มีการคิดค้นทรานซิสเตอร์ที่มีขนาดเล็กกว่า ทนทานกว่า และราคาถูกกว่า มาใช้แทนหลอดสุญญากาศ ทำให้ขนาดและราคาของเครื่องอัดที่เปลี่ยนมาใช้ทรานซิสเตอร์แทนหลอดสุญญากาศ ลดลงจากเดิมเป็นอันมาก ทำให้มีการใช้เครื่องอัดนี้ตามบ้านเรือนมากขึ้น

จนกระทั่งในปี 1962 บริษัท Philips ได้คิดค้นเทปคาสเซ็ทพกพาออกมา (หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่าเทปคาสเซ็ท) โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้สำหรับเพลงโดยเฉพาะ และในต่อมาเทปคาสเซ็ทก็ได้รับความนิยมเหนือระบบเทปแบบอื่นอย่างรวดเร็ว อันเป็นเหตุมาจากที่ฟิลลิปถูกกดดันโดยโซนี่ ให้ปล่อยให้บริษัทอื่นสามารถผลิตเทปคาสเส็ทได้อย่างเสรี และต่อมาฟิลลิปก็ออกเครื่องเล่นและอัด Carry-Corder 150 ในยี่ห้อ Norelco ซึ่งทำให้เทปคาสเซ็ทยิ่งได้รับความนิยมขึ้นไปอีก ในปี 1968 เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ทจากกว่า 85 บริษัท สามารถขายออกได้ไปมากถึง 2.4 ล้านเครื่อง

ในช่วงแรกของเทปคาสเซ็ท คุณภาพเสียงที่ได้นั้นยังไม่ดีนัก อยู่เพียงแค่ระดับที่พอฟังได้ แต่มาเข้าสู่ช่วงปี 1970 คุณภาพเสียงของเทปคาสเซ็ทก็ปรับปรุงขึ้นมามาก ส่งผลให้เทปคาสเซ็ทเริ่มกลายเป็นทางเลือกสำหรับคอเพลงคุณภาพสูงบางกลุ่ม แข่งกับแผ่นไวนิลที่เป็นเจ้าตลาดเดิม

ความนิยมของเทปคาสเซ็ทยิ่งพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิมในช่วงปี 1980 หลังจากที่โซนี่เปิดตัวเครื่องเล่นพกพา Walkman แต่ว่ากว่าที่ส่วนแบ่งของเทปคาสเซ็ทจะสามารถแซงแผ่นไวนิลได้ ก็ล่วงเข้ามาในช่วงปี 1990 อันเป็นช่วงที่เทปคาสเซ็ทมีความนิยมสูงสุด และค่อยๆ ลดความนิยมลง หลังจากที่ความนิยมของแผ่นซีดีเริ่มเพิ่มมากขึ้น

เสื่อมความนิยมของเทป

[แก้]

ในยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ ส่วนแบ่งตลาดของเทปเพลงค่อยๆ ลดต่ำลงเรื่อยๆ จากจุดสูงสุดในปี 1980 อันเนื่องมาจากการมาของ CD เพลงในช่วงปี 1990, ในปี 1993 มีการส่งมอบเครื่องเล่น CD มากขึ้นมาถึง 5 ล้านเครื่อง (เพิ่มขึ้น 21% จากปี 1992) ในขณะที่เครื่องเล่นเทปเพลง กลับลดการส่งมอบลงไปเหลือเพียง 3.4 ล้านเครื่องเท่านั้น และจนมาถึงปี 2001 ในบรรดาเพลงที่ขายออกไปได้ มีเทปคาสเซ็ทที่ขายได้คิดเป็นเพียงแค่ 4% เท่านั้น และยังคงลดต่อมาเรื่อยๆ และในปี 2007 ยอดขายของเทปเพลงก็เหลือเพียง 247,000 ตลับ และยิ่งเลวร้ายลงไปอีกในปี 2009 ที่เหลือยอดขายเพียง 34,000 ตลับเท่านั้น เทียบกับในปี 1990 ที่มียอดจำหน่ายสูงถึง 442 ล้านตลับ (สถิติในสหรัฐอเมริกา) จากสัญญาณนี้ทำให้ค่ายเพลงหลายๆ ค่าย ได้ลดกำลังผลิต หรือยกเลิกการผลิตเทปเพลงลงตั้งแต่ช่วงปี 2002 – 2003 อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังคงมีเทปคาสเซ็ทเปล่าขายอยู่ตามร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป

ในช่วงปี 1990 แม้เครื่องเล่นซีดีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่เทปเพลงก็ยังคงครองตลาดในบางกลุ่ม เช่นเครื่องเล่นเพลงในรถยนต์ เนื่องจากเทปเพลงมีปัญหาเกี่ยวกับฝุ่น ความร้อน และการกระตุกเมื่อรถสั่น น้อยกว่าซีดีติดรถยนต์ในสมัยนั้น แต่ในเวลาต่อมา เมื่อมีการคิดค้นระบบป้องกันการสั่นสำหรับซีดีติดรถยนต์ รวมถึงระบบเครื่องเสียงภายในรถที่คุณภาพดีขึ้น ทำให้ในช่วงปี 2000 เครื่องเล่นเทปติดรถยนต์ก็ถูกแทนที่ด้วยซีดีติดรถยนต์อย่างรวดเร็ว และกลายมาเป็นเครื่องเล่นเพลงประจำรถในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2010 เครื่องเพลงซีดีติดรถยนต์ก็เริ่มถูกแทนที่ด้วยเครื่องเล่นเพลงที่อ่านข้อมูลจาก USB Flash drives แล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีศิลปินบางกลุ่มที่ยังคงออกผลงานมาเป็นเทปคาสเซ็ท เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายนั้นเป็นผู้สูงอายุ ที่ไม่สนใจที่จะซื้อเครื่องเล่นซีดีนั่นเอง

ในปัจจุบันยังเหลือเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ยังคงขายเทปเพลง (เช่นอินเดีย) อันเนื่องมาจากต้นทุนที่ถูกกว่า และในช่วงหลัง การออกผลงานในรูปแบบเทปเพลง เริ่มกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ศิลปินอินดี้ อันเนื่องมาจากต้นทุนที่ถูก และสามารถป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ (แชร์เพลงบนอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาต) ได้ดีในระดับหนึ่ง

อ้างอิง

[แก้]
  1. Eric D. Daniel, C. Dennis Mee, Mark H. Clark (1999). Magnetic Recording: The First 100 Years. The Institute of Electrical and Electronics Engineers. ISBN 0-7803-4709-9.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)

ดูเพิ่ม

[แก้]